เปิดตัวมันเทศพันธุ์ใหม่ 2 พันธุ์พร้อมกัน ให้ผลผลิตสูง ชะลอความแก่
กรมวิชาการเกษตร โดย ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร เปิดตัวมันเทศพันธุ์ใหม่ 2 พันธุ์พร้อมกัน...

ข่าวโดย : พนารัตน์   เสรีทวีกุล

กรมวิชาการเกษตร เครื่องร้อนเปิดตัวมันเทศ 2 พันธุ์ใหม่ สุโขทัย 1 และ 2 ป้อนความต้องการทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค โชว์จุดเด่นมันเทศพันธุ์สุโขทัย 1 ให้ผลผลิตสูงมากกว่า 3,800 กิโลกรัมต่อไร่ เนื้อสุกสีเหลืองเข้ม เหนียวนุ่ม หวานน้อย ด้านสุโขทัย 2 เน้นจุดขายให้สารเบต้าแคโรทีนสูงถึง 481 ไมโครกรัม ชี้เป็นสารสำคัญช่วยบำรุงสายตา และชะลอความชรา 

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มันเทศเป็นพืชอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศ โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ได้ปรับปรุงพันธุ์มันเทศพิจิตร 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตแป้งสูงและขนาดหัวใหญ่สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันเทศ ในขณะเดียวกันได้ปรับปรุงพันธุ์มันเทศสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคด้วย

ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย  และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มันเทศ โดยตั้งโจทย์ในการวิจัยไว้ว่าจะต้องได้พันธุ์มันเทศสำหรับการบริโภคที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ท้องถิ่นเดิมอย่างน้อยร้อยละ 10 มีคุณภาพดีในการบริโภค และให้คุณค่าทางโภชนาการสูง การปรับปรุงพันธุ์เริ่มจากนำพันธุ์มันเทศที่มีลักษณะดีในด้านต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาผสมข้ามพันธุ์  และคัดเลือกสายพันธุ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ เจริญเติบโตเร็ว คลุมวัชพืชได้ดี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้นไป อายุการเก็บเกี่ยวสั้นเพื่อลดการทำลายของด้วงงวงมันเทศ คุณภาพในการบริโภคดี ผู้บริโภคยอมรับสูง โดยทำการเปรียบเทียบสายพันธุ์และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่นไว้ 6 สายพันธุ์

มันเทศพันธุ์สุโขทัย 1
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 1
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 1 (ลักษณะใบ)
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 1 (ลักษณะใบ)

ในปี 2557 นำสายพันธุ์ที่คัดเลือกไว้ไปปลูกทดสอบที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร  และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ ที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน และได้คัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่นไว้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ สท.03 สท.10 และสท.18 ในปี 2558 นำทั้ง 3 สายพันธุ์ไปทดสอบในไร่เกษตรกรที่จังหวัดสุโขทัย พิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยทดสอบกับพันธุ์ท้องถิ่นของเกษตรกร พบว่าสายพันธุ์ สท.18 มีผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด รองมาเป็นสายพันธุ์ สท.03 และ สท.10 อย่างไรก็ตาม จากการประเมินคุณภาพการบริโภคพบว่าทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรให้การยอมรับสายพันธุ์ที่ดีที่สุด 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ สท.03 และ สท.18

มันเทศพันธุ์สุโขทัย 1 (แปลงปลูก)
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 1 (แปลงปลูก)

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า มันเทศสายพันธุ์ สท.03 เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ พจ.226-31 (เนื้อสีเหลือง) กับพันธุ์ T101 (เนื้อสีส้ม) ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “มันเทศพันธุ์สุโขทัย 1” ให้ผลผลิตสูงถึง 3,884 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ท้องถิ่น ร้อยละ 79.5 เนื้อสุกมีสีเหลืองเข้ม เนื้อเหนียวนุ่ม ละเอียด รสชาติหวานน้อย มีคุณค่าทางโภชนาการให้พลังงานสูง โดยมันเทศ 100 กรัม มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต 33 กรัม และแคลอรี 136 กิโลแคลอรี ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการโดยเฉพาะให้พลังงาน คาร์โบไฮเดรต และแคลอรีสูงนั้นสามารถทดแทนอาหารให้พลังงานที่แปรรูปจากแป้งและน้ำตาลแบบอื่น ๆ โดยไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นจึงเป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรปลูกเป็นทางเลือกในการใช้พันธุ์มันเทศพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตและคุณค่าทางโภชนาการสูงทดแทนพันธุ์เดิม

มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2 (ลักษณะผล)
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2 (ลักษณะผล)
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2 (ลักษณะใบ)
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2 (ลักษณะใบ)

มันเทศสายพันธุ์ สท.18 เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ พจ.189-257 (เนื้อสีม่วง) กับพันธุ์ FM37-LINIDOK-3 (เนื้อสีเหลือง) ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2 ให้ผลผลิต 2,900 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์ท้องถิ่น ร้อยละ 34 เนื้อสุกมีสีเหลืองอมส้ม เนื้อเหนียวนุ่ม ละเอียด รสชาติหวาน มีคุณค่าทางโภชนาการให้พลังงานสูง โดยมันเทศ 100 กรัม มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต 31 กรัม และแคลอรี 131 กิโลแคลอรี ที่สำคัญมีสารเบต้าแคโรทีนสูงถึง 481 ไมโครกรัม ในขณะที่พันธุ์ท้องถิ่นมีสารเบต้าแคโรทีนน้อยกว่า 10 ไมโครกรัม ซึ่งสารเบต้าแคโรทีนมีบทบาทสำคัญในการบำรุงสุขภาพของสายตา และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เสมือนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความแก่ และดูแลรักษาผิวพรรณด้วย

มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2 (ผลสุก2)
มันเทศพันธุ์สุโขทัย 2 (ผลสุก2)

มันเทศสายพันธุ์ที่คัดเลือกได้ สามารถปลูกได้ดีในดินร่วนทราย ทั้งในสภาพบนที่ราบสูงและที่ราบ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคอื่นๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกัน แต่ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันเทศในแหล่งที่มีการระบาดของด้วงงวงมันเทศ และการปลูกซ้ำที่เดิม สอบถามรายละเอียดมันเทศพันธุ์ใหม่สุโขทัย 1 และสุโขทัย 2 ได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย กรมวิชาการเกษตร โทร.0-5567-9085-6

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated