เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล
“ผมมั่นใจว่าการเลี้ยงโคเป็นอาชีพที่ดี และมั่นคงที่สุดครับผม ซึ่งในพื้นที่จังหวัดตากของผมนี้ อาชีพเลี้ยงโคนั้นมีความเหมาะสมมากที่สุด”
คำยืนยันความมั่นใจในการประกอบอาชีพจาก ภคพงศ์ คำปลอด หรือ “พี่วิทย์” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคขุนตาก และเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม 110 ฟาร์ม เลขที่ 110 หมู่ 1 ตำบลน้ำรึม อำเภอเมือง จังหวัดตาก
ในวันนี้พี่วิทย์ ยังเป็นเกษตรกรหัวขบวนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ในการปรับเปลี่ยนด้านการอาชีพที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และนำมาสู่ความมั่นคงในอาชีพกับการเลี้ยงโคพันธุ์ตากทั้งในการเลี้ยงเพื่อผลิตลูกและเลี้ยงเป็นโคขุน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพี่วิทย์ได้ทุ่มเทให้กับการเลี้ยงโคในฟาร์มของตนเอง และการช่วยเหลือพัฒนาเพื่อนเกษตรกรที่มีความสนใจในอาชีพมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพ
นับตั้งวันเริ่มต้นจนถึงวันนี้ หลังจากลาออกจากพนักงานบริษํทที่กรุงเทพมหานคร และกลับมาอยู่ที่จังหวัดลำปาง พี่วิทย์ได้ทุ่มเทเพื่อสร้างให้ 110 ฟาร์ม กลายเป็นฟาร์มโคเนื้อในระดับมาตรฐาน โดยล่าสุดได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อ หรือ Good Agriculture Practice (GAP) จากกรมปศุสัตว์
แรงบันดาลในอาชีพการเลี้ยงโค
พี่วิทย์เล่าให้ฟังว่า หลังจากตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัท ได้กลับมาเริ่มต้นทำฟาร์ม โดยยึดแนวทางตามพราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก โดยการเริ่มต้นจากเลี้ยงโคเพียงไม่กี่ตัว ค่อยๆสร้างสมประสบการณ์ พร้อมทั้งจำนวนโค เรียกว่า ปูรากฐานให้มั่นคง ก่อนที่จะขยายเป็นฟาร์มใหญ่เช่นปัจจุบัน
“เลี้ยงโคมา 25 ปีแล้วครับ ผมเริ่มจากการเลี้ยงแม่โคพันธุ์อเมริกันบราห์มันก่อน จำนวน 5 แม่ เพื่อผลิตลูก ค่อยๆเลี้ยงๆค่อยๆสะสมมาจนมีโคอยู่ประมาณ 50 ตัว ช่วงนั้นได้ตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนการเลี้ยงมาสู่การเลี้ยงโคขุนด้วย จึงตัดสินใจขายโคออกไปส่วนหนึ่ง นำมาเป็นทุนในการซื้อที่ดินเพื่อทำฟาร์มแห่งนี้ พร้อมทั้งเพิ่มกิจกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงโคขุน อันเป็นธุรกิจปลายน้ำของระบบการเลี้ยงโค”
“การเลี้ยงโคขุนของผมช่วงแรกนั้นก็เน้นการขายให้กับพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อ แต่พบว่ามีปัญหาในการเข้ามารับซื้อไม่ค่อยแน่นอน จึงตัดสินใจไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด หรือที่รู้จักกันว่า MAXBEEF เพื่อลดความเสี่ยงด้านตลาด ซึ่งการส่งโคขุนให้กับทาง MAXBEEF จะมีราคาที่เป็นมาตรฐานให้เลย ซึ่งยิ่งหากเลี้ยงโคขุนในระดับเกรดฟรีเมี่ยมที่สามารถผลิตให้ได้เนื้อโคขุนที่มีไขมันแทรกดีตามมาตรฐานที่กำหนดด้วยแล้ว จะยิ่งมีส่วนต่างราคาบวกเพิ่มให้อีก”
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ให้ความสนใจในอาชีพการเลี้ยงโคขุน จึงเข้ามาศึกษาและเรียนรู้ ตั้งแต่เรื่องของการบริหารจัดการดูแล การป้องกันโรค อาหาร รวมถึงเรื่องตลาด และนำมาสู่การรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคขุนตาก ซึ่งวันนี้มีสมาชิกจำนวน 7 ฟาร์ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธ.ก.ส. สำนักงานปศุสัตว์ และศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก เป็นต้น
มุ่งเป้าทำให้คนได้กินโคขุนเกรดฟรีเมี่ยม ในนาม ABEEF
สำหรับการเลี้ยงโคขุนของ 110 ฟาร์ม ในวันนี้ จะเน้นสายพันธุ์โคพันธุ์ตากเป็นหลัก และมีสายพันธุ์ลูกผสมแองกัสเข้ามาเสริม
“ในฟาร์มผมสำหรับการเลี้ยงโคจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการเลี้ยงโคแม่พันธ์ลูกผสมชาร์โรเล่ส์และลูกผสมแองกัส จำนวน 60 ตัว เพื่อผลิตลูกไว้ขุนเองในส่วนหนึ่ง ส่วนที่สอง คือ การเลี้ยงโคขุน ซึ่งเป็นโคพันธ์ตากทั้งหมด จะเลี้ยงรุ่นละ 30 ตัว”
ด้วยโคพันธุ์ตากนั้นมีจุดเด่นที่ยอดเยี่ยม ทั้งในเรื่องของการเติบโตเร็ว เนื้อนุ่ม เนื้อสันมีไขมันแทรก (marbling) ซากมีขนาดใหญ่ที่สนองความต้องการของตลาดเนื้อโคคุณภาพดี อีกทั้งเลี้ยงง่าย หากินเก่ง ไม่เลือกกินหญ้า ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดีพอสมควร และยังเหมาะที่จะนำมาผสมกับแม่โคพื้นเมือง โคบราห์มัน และลูกผสมบราห์มัน เพื่อนำลูกมาเลี้ยงเป็นโคขุนได้ รวมถึงสามารถผสมพันธุ์ได้เร็ว ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก จะผสมพันธุ์ที่แม่โคอายุ 14 เดือน น้ำหนัก 280 ก.ก.ขึ้นไป
“ที่ 110 ฟาร์มของเราจะเน้นการเลี้ยงโคขึ้นในระดับเกรดฟรีเมี่ยม โดยใช้โคเข้าขุนที่น้ำหนักประมาณ 350 กิโลกรัม ไม่เกน 400 กิโลกรัม จากนั้นจะเลี้ยงไปอีกประมาณ 12 เดือน จึงจะส่งจำหน่าย ซึ่งจะได้น้ำหนักโดยเฉลี่ยต่อตัวที่ 650 กิโลกรัมขึ้นไป สาเหตุที่เลี้ยงนานขนาดนี้เพราะต้องการให้ได้เนื้อโคขุนที่ดีมีไขมันแทรกตรงกับที่ตลาดต้องการ ขณะนี้คุณภาพเนื้อโคที่ส่งจำหน่ายให้กับทาง MAXBEEF ของฟาร์มเราอยู่ที่ระดับเกรด 2”
“สำหรับราคาจำหน่ายนั้นทาง MAXBEEF จะกำหนดราคาเบื้องต้น โดยใช้วิธีการตัดเกรดไขมันเป็นหลัก ราคาที่ได้ตอนนี้สำหรับเกรด 2 อยู่ที่กิโลกรัมละ 215 บาท โดยโคขุนตัวหนึ่งจะขายได้ประมาณตัวละ 80,000 บาท หลังหักลบค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว จะเหลือกำไรต่อตัวประมาณ 10,000 กว่าบาท แต่ถ้าสามารถผลิตลูกโคขึ้นขุนเองจะเหลือกำไรมากกว่านี้อีกเยอะเลยครับ”
“ปีหนึ่งตอนนี้ในกลุ่มของผมทั้ง 7 ฟาร์ม ต้องเลี้ยงโคขุนคุณภาพเข้าสู่ขบวนการเชือดชำแหละเพื่อไปสู่ผู้บริโภค ประมาณปีละ 200 ตัว” พี่วิทย์กล่าว
อีกการพัฒนาที่พี่วิทย์บอกว่า เป็นเป้าหมายที่สำคัญของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคขุนตากคือ การทำให้คนในจังหวัดตากและใกล้เคียงได้รับประทานเนื้อโคขุนเกรดฟรี่เมี่ยมที่มาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนของตากเอง โดยขณะนี้ได้รับการสนับสนุนงบจังหวัดในการดำเนินการเพื่อสร้างโรงเชือดชำแหละและแปรรูป และจำหน่ายเนื้อโคขุนเองภายใต้ยี่ห้อ ABEEF
ซึ่งตรงจุดนี้ นอกจากทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคขุนตาก จะได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด หรือ MAXBEEF แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานธนาคารเพื่อกรเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) จังหวัดตากอีกด้วย โดย คุณสุทธินันท์ พิริยะกิจ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดตาก กล่าวว่า ด้วยทางทาง 110 ฟาร์มนั้นเป็นฟาร์มที่ได้มาตรฐาน GMP และมีเป้าหมายในการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพจำหน่ายในพื้นที่ ซึ่งตรงกับนโยบายของ ธ.ก.ส ที่วันนี้มีเรื่องของ Go Green หนึ่งในนโยบายสำคัญที่กำลังดำเนินการซึ่งแนวทางหนึ่งคือ การมุ่งเน้นการสร้างตลาดรองรับผลิตภัณฑ์อาหารที่เกษตรกรผลิตออกมา อย่างเนื้อโคขุนเกรดฟรี่เมี่ยมที่กำลังจะดำเนินการ โดยในส่วนของสำนักงานธ.ก.ส. จังหวัดลำปางได้มีการประสานความร่วมมือกับทางห้างสรรพสนค้าบิ๊กซีในการเปิดร้านจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว
“ธ.ก.ส. พร้อมขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัยจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค เริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้กับเกษตรกรด้วยโครงการสร้างความเข้มแข็งระดับครัวเรือน(โครงการ 459) ซึ่งเป็นกระบวนการการพัฒนาที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ มีความหมายว่าเดินออกจากบ้าน 4-5 ก้าว ก็มีอาหารปลอดภัยไว้กิน ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเมื่อมีผลผลิตเหลือบริโภค ก็สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งบางชุมชนสามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ห้างโมเดิร์นเทรดได้ นอกจากนี้เพื่อสร้างให้เกษตรกรตระหนักถึงการผลิตอาหารที่ปลอดภัยเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ธ.ก.ส. มีแผนร่วมกับ อสม.เพื่อตรวจสารพิษในร่างกายของเกษตรกรและตรวจสารตกค้างในผลผลิตอีกด้วย” นางสุทธินันท์ กล่าว
เทคนิคการเลี้ยงแบบพี่วิทย์
สำหรับการเลี้ยงโคอย่างไร จึงประสบความสำเร็จ โตดีตรงกับที่ตลาดต้องการ เกษตรกรเจ้าของฟาร์มผู้นี้บอกว่า เคล็ดลับสำคัญ ต้องเริ่มตั้งแต่ในเรื่องของการคัดเลือกสายพันธุ์เลยที่เดียว
“อย่างที่ฟาร์มของผมทุกวันนี้จะพยายามสร้างโคพันธุ์ดีๆขึ้นในฟาร์ม โดยใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่มีสายเลือดจากทางยุโรป เช่นพันธุ์ชาร์โรเลส์ โดยแหล่งน้ำเชื้อสามารถขอรับบริการได้จากหน่วยงานสของกรมปศุสัตว์ อย่างในจังหวัดตากนี่ก็ติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก หรือติดต่อซื้อจากบริษัทเอกชนที่นำน้ำเชื้อเข้ามาจำหน่าย”
“สาเหตุที่ผมแนะนำให้เลือกน้ำเชื้อจากทางยุโรป เพราะ จะตอบโจทย์ในการเลี้ยงขุนได้ดีมาก ลูกโคที่ได้ออกมาจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี อัตราการแลกเนื้อสูง ให้คุณภาพเนื้อที่ดี”
เทคนิคต่อมาคือ อาหารที่ให้โคกิน พี่วิทย์บอกว่า อาหารจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ หนึ่งอาหารหยาบ และสองอาหารข้น
“อาหารหยาบที่ให้ไม่จำเป็นต้องใช้หญ้าสดอย่างเดียว สามารถใช้ By product ที่เป็นผลพลอยได้จากการเกษตร เช่น ต้นข้าวโพด มาทำเป็นข้าวโพดหมักแล้วผสมกับอาหารข้นให้โคที่ขุนกินก็ได้ ตรงนี้ขอให้เลือกใช้ตามส่งที่เราสามารถหาได้ง่ายในพื้นที่ สำหรับที่ฟาร์มผมตอนนี้มีแปลงหญ้ารูซี่ แพงโกล่า และเนเปียร์ ไว้เป็นอาหารหยาบสำหรับใช้เลี้ยงโครวมประมาณ 40 ไร่ ผมจะตัดหญ้าสดจากแปลงให้แม่โคกินเป็นหลักแบบวันต่อวัน ส่วนโคขุนนั้นรจะให้อาหารข้นเป็นหลักและเสริมด้วยฟางข้าว ”
“ส่วนของอาหารข้นนั้นที่ฟาร์มของเราจะการผสมอาหารข้นขึ้นใช้เลี้ยงโคเอง เพราะมีข้อดีตรงที่สามารถควบคุมคุณภาพของอาหารได้ เราสามารถเลือกใช้วัตถุดิบต่างๆที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งผู้สนใจอยากได้สูตรการผสมอาหารข้นขึ้นใช้เอง สามารถมาติดต่อได้ที่ฟาร์ม ผมพร้อมให้คำแนะนำ”
นอกจากนี้ในด้านการจัดการดูแลนั้น พี่วิทย์บอกว่า นอกจากจะต้องมีการทำให้ฟาร์มให้มีสภาพแวดล้อมดีน่าอยู่แล้ว เจ้าของฟาร์มต้องมีการติดตามดูแลโคที่เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ
“อย่างผมนี่ เช้าขึ้นมาจะเข้าคอกโคก่อนเลย ดูแม่พันธุ์ว่าเป็นสัดหรือไม่ ดูว่าโคที่เลี้ยงมีสุขภาพเป็นอาหาร เจ็บป่วยอย่างไรหรือไม่ “
อีกข้อปฏิบัติที่สำคัญคือ การทำวัคซีนป้องกันโรคให้กับโคที่เลี้ยง ด้วยเป็นวิธีการที่จะช่วยป้องกัน ไม่ทำให้เกิดความสูญเสียได้เป็นอย่างดี
“ในเรื่องของโรคระบาดที่สำคัญนั้นผมจะเน้นการป้องกันอย่างเข้มข้นครับ อาทิเช่น โรคปากและเท้าเปื่อย ตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์นั้นบอกว่า ต้องทำทุก 6 เดือน แต่ของผมจะทำทุก 4 เดือนครับ เพื่อป้องกันไว้ก่อน หากป่วยเป็นโรคดังกล่าวแล้วจะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง นอกจากนี้ต้องมีการทำวัคซีนป้องกันโรคโรคแบลคเลคด้วย และในส่วนของแม่พันธุ์โคนั้นจะมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจโรคแท้งติดต่อปีละครั้ง” พี่วิทย์กล่าว
อนึ่ง โรคแบลคเลก (Blackleg) จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์บอกว่า สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งโคที่แสดงอาการป่วยและตายนั้นน่าจะได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีเชื้อโรคนี้ปะปนอยู่ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไปอยู่ตามบริเวณที่มีกล้ามเนื้อหนาๆ เช่น กล้ามเนื้อสะโพก ขา ไหล่ หน้าอก คอหรือลิ้น เป็นต้น แล้วจะขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมกับสร้างสารพิษออกมาทำลายกล้ามเนื้อรอบๆ บริเวณที่เชื้ออยู่ อาการสำคัญที่พบได้คือ มีไข้สูง เดินขากะเผลก กล้ามเนื้ออักเสบบริเวณต้นขาหลัง ซึ่งจะบวมร้อน และมีอากาศแทรกอยู่ภายใน เมื่อกดดูจะมีเสียงดังกรอบแกรบ และหากสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นมาดังกล่าว มีปริมาณมากและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต การรักษาอาจจะไม่ทันการ จะทำให้โคตายได้
ทั้งหมดนี้ คืออีกหนึ่งความสำเร็จของเกษตรกรที่ชื่อ ภคพงศ์ คำปลอด หรือ พี่วิทย์ เกษตรกรหัวขบวนของ ธ.ก.ส.แห่งจังหวัดตาก อีกหนึ่งแหล่งโคขุนเกรดฟรีเมี่ยมของประเทศไทย ที่พร้อมให้คำปรึกษา ข้อแนะนำต่างๆ แก่ผู้สนใจที่รักในอาชีพการเลี้ยงโคทุกคน…