นโยบายอยู่กับบ้านเพื่อหยุดเชื้อ COVID-19 ทำให้ “เกษตรก้าวไกล” เปลี่ยนแผนการทำงานใหม่ คือไม่ออกไปในเมืองหรือในชุมชนที่มีคนอยู่รวมกันเยอะๆ และก็ไม่ต้องไปไหนไกล คือออกไปชานเมืองใกล้ๆที่ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ที่นั่นมีเกษตรกรปลูกผักรวมกลุ่มกันประมาณ 40 ครัวเรือน เรียกว่า แปลงใหญ่ผักปลอดภัยสามโคก โดยมี คุณสุขุม ไตลังกะ เป็นประธานกลุ่ม และล่าสุดในปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ยกระดับให้เป็นโมเดลการพัฒนาเกษตรเชิงพื้นที่ คือการยึดพื้นที่หรือชุมชนที่ตัวตั้งในการพัฒนา
เราได้พบกับ นางสาวกาญจนา แซ่เอี๊ยว หรือคุณอ้อย และเกษตรกรอีก 2 คน ซึ่งกำลังตัดผักกาดหอมอยู่พอดี ทราบภายหลังว่าทั้ง 3 คนเป็นพี่น้องกัน เปิดเผยว่าได้สืบทอดอาชีพปลูกผักมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ที่ผ่านมาราคาผักก็ขึ้นๆลงๆตามฤดูกาล ซึ่งตามปกติเดือนมีนาคม-เมษายน ที่อากาศร้อน ผักเจริญเติบโตช้า ราคาผักกาดหอมที่เป็นผักหลักที่ปลูกกันมาก 90 % ในตำบลเดียวกันนี้ ราคาจะต้องเริ่มขึ้นไปเรื่อยๆจาก 15-20 บาท ที่อยู่ในฤดูกาลก็จะเป็น 30-40 บาท แต่พอมาเจอปัญหาโรคไวรัสโคโรน่าหรือ COVID-19 ทำให้ราคาร่วงจาก 20 กว่าบาท เมื่อ 3-4 วันก่อน จนมาอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 5 บาทในวันนี้
“ราคาผักกาดหอมมันร่วงเร็วมาก เหมือนนกตกจากฟ้า จาก 20 กว่าบาท ก็มาอยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท แต่ทำอย่างไรได้ก็ต้องตัดขาย เพราะว่าผักมันเติบโตได้ที่ แถมพ่อค้าแม่ค้าเขาไม่มารับซื้อ มีออร์เดอร์เข้ามาน้อยมากอย่างวันนี้ผักออกแค่ 400- 500 กิโลกรัม จากปกติตัดครั้งหนึ่งๆนับพันกิโลกรัม คิดง่ายๆ ผักออก 500 กิโลกรัม คูณ 20 บาท ก็จะได้ 10,000 บาท แต่นี้เหลือรายรับแค่ 2,500 บาท ค่าปุ๋ย 2 ลูกก็หมดแล้ว”
เช่นเดียวกับ คุณองอาจ แซ่เอี๊ยว ผู้เป็นพี่ชายของเธอ บอกว่าปกติผักที่ออกรุ่นนี้ทางเกษตรกรจะวางแผนเพื่อที่จะถอนทุนคืนจากปัญหาภัยแล้ง และปลูกเพื่อเก็งราคาว่ามันจะดีเหมือนปลายเดือนมีนาคมของทุกปี แต่ปีนี้เหมือนเคราะซ้ำกรรมชัด
อย่างไรก็ดี เกษตรกรทั้ง 3 คนพี่น้องก็ยังยิ้มสู้กับ “เกษตรก้าวไกล” แม้ว่าในจิตใจจะทุกข์ระทมขนาดไหน “เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แต่ถ้าราชการจะลงมาช่วยบ้างก็จะเป็นการดี เพราะเพิ่งเจอปัญหาภัยแล้งมาผักตายมาหยกๆ นี่ก็มาเจอปัญหาโควิด 19 มันหนักหนาสาหัสมาก แต่จะให้ร้องไห้มันก็ใช่ที จึงอยากให้เกษตรกรทุกคนยิ้มสู้และหวังว่าปัญหามันจะผ่านพ้นไปได้” คุณอ้อย กล่าวในที่สุด