เรื่อง/ภาพ : จตุพล เกษตรก้าวไกล
ย้อนไปเมื่อปี 2562 ทีมงาน “เกษตรก้าวไกล” มีโอกาสเดินทางไปที่กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามบัวบาน 1 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ สนทนากับ คุณวีระชาติ ภูโปร่ง หรือชื่อเล่น “คุณโต้ง” เลขานุการ กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามบัวบาน 1 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และ ลุงทองเปอร์ ภูนาชัย ที่ปรึกษากลุ่ม
ทีมงานได้พบความสำเร็จของกลุ่มเลี้ยงกุ้ง ก่อตั้งโดยกลุ่มเกษตรกรรุ่นพ่อ สานต่อโดยคนรุ่นใหม่ นำเทคโนโลยีทั้งการเลี้ยง และการตลาดมาปรับใช้อย่างได้ผล นี้คือตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรที่เรียกได้ว่าเป็นเกษตรยอดมนุษย์ในอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแห่งที่ราบสูง
พวกเขาได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่จังหวัดกาฬสินธุ์(กุ้งก้ามกราม) ที่เน้นการเลี้ยงแบบพัฒนา ได้มาตรฐาน GAP สามารถผลิตกุ้งก้ามกรามคุณภาพส่งตลาดทั่วภาคอีสาน สร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นเกษตรยอดมนุษย์ที่น่าสนใจจริงๆ
คุณโต้ง กล่าวว่าตนไม่ได้จบด้านการเกษตร จบด้านการธนาคาร และเคยทำงานธนาคาร แต่ประสบปัญหาวิกฤติฟองสบู่ปี 2540 ธนาคารปิดตกงาน จึงลาออกมาช่วยพ่อเลี้ยงกุ้ง ถือว่าสานต่องานของคุณพ่อเมื่อปี 2544 โดยกลุ่มของตนมี นายวิโรจน์ โยธาสิงห์ เป็นประธานกลุ่ม
ด้านลุงทองเปอร์ กล่าวว่าครั้งแรกไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย แม้แต่โทรศัพท์มือถือยังไม่มี เลี้ยงครั้งแรกๆ ก็โดนหลอกบ้าง ตอนไปซื้อลูกกุ้ง บางทีเขาบอกว่าเครื่องตีน้ำเครื่องละ 5 หมื่นเราก็เชื่อ แต่มาซื้อที่หลักสี่ กรุงเทพฯ ราคาถูกกว่าเยอะเลย คนรุ่นเก่ายอมรับคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้มาปรับใช้ สามารถเลี้ยงได้ 15 ตัวต่อกิโลกรัม รสชาติกุ้งของเราดี กินอร่อย
คุณโต้ง กล่าวว่าตอนมาเลี้ยงกุ้งครั้งแรกอายุ 30 ปี เลี้ยงมา 17 ปีแล้ว ปรับพื้นที่นาเป็นที่เลี้ยงกุ้ง ตอนนี้เราได้รวมกันเป็นแปลงใหญ่เต็มรูปแบบ สนับสนุนโดย กรมประมง และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สนับสนุนเรื่องเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทั้งสอนการทำบัญชี นอกจากนี้กรมชลประทานยังปล่อยน้ำจากเขื่อนลำปาวมาช่วย จนขณะนี้มีเกษตรกรจากทั่วประเทศเดินทางมาศึกษาดูงาน อยากบอกเกษตรกรที่ยึดอาชีพนี้ให้เรารวมกลุ่มกัน เพราะภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุน เรารวมกลุ่มกันจนมีพลัง เสียงจึงดังไปถึงภาครัฐ โดยเฉพาะท่านไกรสร กองฉลาก ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้การสนับสนุนในทุกด้าน ทั้งปัจจัยการผลิต ทุน ถือว่าท่านส่งเสริมเกษตรกรมาก
สำหรับหัวใจการเลี้ยงกุ้ง ลุงทองเปอร์ กล่าวว่า หัวใจในการเลี้ยงกุ้งคือ เราต้องใส่ใจ การเตรียมบ่อต้องดี สะอาด หว่านปูนขาว และนำน้ำสะอาดลงไป หลังจากนั้น 7 วัน หว่านจุลินทรีย์ เพื่อปรับสภาพของน้ำไม่ให้กุ้งติดเชื้อ นอกจากนี้ต้องนำกุ้งพันธุ์ดีมาเลี้ยง กุ้งต้องตัวใส ยาว เลี้ยงแล้วโตเร็ว ถ้าเขานำพันธุ์กุ้งไม่ดีหรือเป็นโรคมาส่ง เราไม่เอา เขาต้องคัดพันธุ์ดีมาให้ เรามีอำนาจต่อรอง เพราะซื้อทีทั้งกลุ่มเป็นล้านบาท
ส่วนการเตรียมบ่อ คุณโต้ง กล่าวว่า ความลึกของน้ำที่เหมาะสมคือประมาณ 1.50 เมตร ลึกมากก็ไม่ดี ตื้นมากก็ไม่ดี ส่วนการพักน้ำนั้นกรมประมงเขาแนะนำให้พัก แต่เรามีเนื้อที่น้อยจึงไม่ได้พัก ของตนเลี้ยงแค่ 14 ไร่ ก็พอดูแลทั่วถึง ปล่อยกุ้งครั้งแรกให้อาหารเบอร์ 1 ตั้งแต่เป็นฝุ่น ถ้าจะให้ดีตนอยากสร้างห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติเช่นไรแดงให้กุ้งกิน เพื่อลดต้นทุนอาหาร
“ช่วงแรกๆ ของการเลี้ยงกุ้งห้ามปลาเข้าไปในบ่อ ไม่ว่าจะเป็นปลาช่อน ปลากระสูบ ต้องกรองน้ำให้ดี เราจะเลี้ยงในบ่ออนุบาลประมาณ 2 เดือน แล้วเราถึงจะย้ายเข้าไปในบ่อใหญ่ เลี้ยงไร่ละประมาณ 5-6 พันตัว เลี้ยงอีกประมาณ 4-5 เดือน ก็จับขายได้ ช่วงนี้เราจะให้อาหารเป็นพวกเม็ด ต้นทุนหลักคืออาหาร 70 เปอร์เซ็นต์ การจะเพิ่มอาหารหรือลดอาหาร เราต้องใช้ยอ ใส่อาหารลงไป ถ้ากุ้งกินหมดภายใน 1 ชั่วโมง เราก็ต้องเพิ่มอาหาร จากเดิมกิน 2 กิโลกรัม เราก็ต้องเพิ่มเป็น 3 กิโลกรัม” คุณโต้ง กล่าว
ลุงทองเปอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนั้นก็จับกุ้ง โดยใช้อวนลาก กุ้งที่ได้จะมีขนาดประมาณ 25-30 ตัวต่อกิโลกรัม เราขายที่ปากบ่อกิโลกรัมละ 250 บาท ตอนเลี้ยงใหม่ๆ เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ขายกิโลกรัมละ 120 บาท ตอนนี้ถือว่าราคาดีขึ้นมาก กุ้งเราเนื้อแน่น สดๆ ขังไว้แล้วไม่ค่อยตาย หวาน กรอบ เป็นกุ้งปลอดสารพิษ มาตรฐานจีเอพี เราเลี้ยงโดยไม่ต้องใช้สารเคมี ถือว่าเลี้ยงเป็นธรรมชาติ เหมือนกับการเลี้ยงไก่บ้านส่งขายตลาด
สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบาน มีพื้นที่ 370 ไร่ เกษตรกร 50 ราย โดยมี คุณพ่อวิโรจน์ โยธาสิงห์ เป็นประธาน และ คุณวีระชาติ ภูโปร่ง เป็นเลขานุการ ผลงานของกลุ่มถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งและการขายกุ้ง รวมทั้งมีการจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์กุ้ง อาหารกุ้ง จำหน่ายแก่สมาชิก มีการเชื่อมโยงกับตลาดโดยตรง โดยเฉพาะห้างแมคโคร รับซื้อไปกระจาย 18 สาขา ทั่วภาคอีสาน และจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์แปลงใหญ่
สำหรับพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อจะต้องติดต่อซื้อขายผ่านกลุ่มเท่านั้น โดยกลุ่มจะทำตารางการเลี้ยงกุ้งของสมาชิกแต่ละราย เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกในช่วงเดียวกันมากเกินไป และจะมีการจัดเรียงลำดับการจับกุ้งหมุนเวียนกันไปในแต่ละฟาร์ม การบริหารจัดการด้วยวิธีนี้ พบว่าเกษตรกรได้รับราคาหน้าฟาร์มสูงขึ้น ขายกุ้งคละไซส์ได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 250 บาท ส่งทั่วภาคอีสานและห้างแม็คโคร 18 สาขา ถือเป็นความสำเร็จของเกษตรกรพันธุ์แกร่งแห่งภาคอีสาน
สำหรับ ปี 2563 ทีมงาน “เกษตรก้าวไกล” ได้ติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามบัวบาน 1 ล่าสุด (14 เมษายน 2563) คุณโต้ง บอกระหว่างที่กำลังเดินทางไปส่งกุ้งก้ามกรามให้กับผู้ขายกุ้งข้างทางรายหนึ่งที่จังหวัดหนองคาย ว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง ทางกรมชลประทานเข้มงวดเรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อนลำปาวมาช่วย ทำให้ได้รับผลกระทบเกษตรกรต้องรีบขายกุ้ง เพราะกลัวกุ้งน๊อคตาย แต่วิกฤตซ้ำสองที่ก็คือโควิด 19 ซึ่งเกษตรกรทุกคนได้รับผลกระทบไปตามๆกัน ทำให้ราคากุ้งตกต่ำจากเดิมซื้อขายปากบ่อกิโลกรัมละ 250 บาท ก็เหลือ 200 บาท และปัญหาคือไม่ได้ขายจำนวนมาก เพราะว่าร้านอาหารต่างๆปิดทั้งหมด เดิมทางกลุ่มจะส่งให้กับห้างโมเดิร์นเทรด รวมทั้งร้านอาหารต่างๆทั่วภาคอีสาน วิธีการแก้ไขของกลุ่มคือ ถ้าเป็นบ่อที่เลี้ยงได้ขนาดก็ให้หาหนทางกระจายสินค้ากุ้งออกไปเท่าที่สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นบ่อเลี้ยงใหม่ก็จะชะลอการปล่อยลูกกุ้งลงบ่อเลี้ยง และเมื่อไรที่โควิดผ่านพ้นไปทางกลุ่มก็พร้อมลุยเต็มที่
ผู้สนใจที่ต้องการจะสั่งซื้อกุ้งหรือมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณวีระชาติ ภูโปร่ง โทร.08-1789-0085 ลุงทองเปอร์ ภูนาชัย โทร. 08-6850-0708