หลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวนมากกว่า ๑๗๐ คน จากหลายพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๓ ได้มีประกาศจังหวัดภูเก็ตให้ปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจังหวัด เพื่อไม่ให้คนออกมารับเชื้อและแพร่เชื้อ ส่งผลกระทบให้สถานบริการ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าต้องปิด รวมถึงตลาดราไวย์ที่เป็นตลาดซื้อขายปลาและสัตว์ทะเลสด ทำให้ชาวเลที่เป็นคนพื้นเมืองจำนวนกว่า ๑,๓๐๐ คน ซึ่งมีอาชีพหลักคือการออกทะเลหาปลาและสัตว์ทะเล แต่ไม่สามารถขายปลาและสัตว์ทะเลได้ จึงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักไม่มีเงินที่จะซื้อข้าวสาร สมาคมชาวยโสธรซึ่งเคยร่วมโครงการทัพฟ้าช่วยชาวนา และเป็นผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่มีความพร้อม จึงเสนอการช่วยเหลือในลักษณะการแลกเปลี่ยนข้าวสารไปแลกกับปลาแห้ง แต่ประสบปัญหาเรื่องระยะทางและเวลาที่ใช้ในการขนส่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวเล
วันนี้ (๑๘ เมษายน ๒๕๖๓) พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้สั่งการให้จัดกำลังพลของกองทัพอากาศ ยานพาหนะ และเครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๘ หรือ C-130 ซึ่งมีขีดความสามารถในการบรรทุกได้ถึง ๑๒ ตันหรือ ๑๒,๐๐๐ กิโลกรัม สนับสนุนโครงการนำร่อง ทัพฟ้าช่วยไทย ต้านภัยโควิด-19 ขนข้าวชาวนา เปลี่ยนปลาชาวเล เพื่อช่วยเหลือชาวเลที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักให้เร็วที่สุด โดยการขนส่งข้าวสารจากจังหวัดยโสธรไปแลกเปลี่ยนปลาแห้งที่จังหวัดภูเก็ต และนำปลาแห้งกลับไปส่งที่จังหวัดยโสธร ในเบื้องต้นกองทัพอากาศได้เตรียมกำลังพล ยานพาหนะ และเครื่องบินไว้พร้อมแล้ว รอการดำเนินการรวบรวมข้าวหอมมะลิและปลาแห้งของแต่ละชุมชน และกำหนดดำเนินการขนข้าวไปแลกปลาในวันจันทร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๓
โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่อง เป็นตัวอย่างในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนเมือง หรือประเทศ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เคยมีมาแต่โบราณ ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งและมีศักดิ์ศรีให้แก่ชุมชน สร้างความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ องค์กร และชุมชน ลดภาระของส่วนราชการในการไปดูแลชุมชนดังกล่าว ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่จะสร้างให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ.