ระวัง! เพลี้ยแป้งทุเรียนระยะใกล้เก็บเกี่ยวช่วงฤดูแล้ง กรมส่งเสริมแนะวิธีป้องกัน
เตือนชาวสวนไม้ผลระวังเพลี้ยแป้งทุเรียนระยะใกล้เก็บเกี่ยวช่วงฤดูแล้ง

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะประธานศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ แหล่งปลูกทุเรียนที่สำคัญของไทยมีหลายภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ เช่น ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ขณะนี้ พบว่าอยู่ในระยะพัฒนาผล เริ่มแก่ใกล้เก็บเกี่ยว  ประกอบกับในช่วงที่สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง จึงขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังการระบาดทำลายของเพลี้ยแป้งทุเรียน

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร

โดยรูปร่างของเพลี้ยแป้งทุเรียนเพศเมีย (Planococcus minor (Maskell) และ Planococcus lilacinus (Copckerell) มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.0 มิลลิเมตร มีสีเหลืองอ่อนหรือชมพู ตัวอ้วนสั้น ผลสีขาวคล้ายผงแป้งปกคลุมลำตัว วางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ 100-200 ฟอง เพศเมียตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ 600-800 ฟอง ภายในเวลา 14 วันไข่จะฟักอยู่ในถุงใต้ท้อง ระยะไข่ประมาณ 6-10 วัน เพศเมียเมื่อวางไข่หมดแล้วจะตายไป เพลี้ยแป้งเพศเมียลอกคราบ 3 ครั้ง และไม่มีปีก ส่วนเพศผู้ลอกคราบ 4 ครั้ง มีปีกและมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย เพลี้ยแป้งสามารถขยายพันธุ์ได้ 2-3 รุ่น ใน 1 ปี

เพลี้ยแป้ง (ขั้วผล)
เพลี้ยแป้ง (ขั้วผล)

ลักษณะการทำลาย เพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ช่อดอก ผลอ่อน ผลแก่ โดยมีมดดำเป็นตัวคาบพาไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืช นอกจากนี้เพลี้ยแป้งจะขับน้ำหวาน (honey dew) ออกมาเป็นสาเหตุให้ราดำที่มีอยู่ในธรรมชาติเข้าทำลายซ้ำ หากพบเพลี้ยแป้งเข้าทำลายทุเรียนในระยะผลเล็กจะทำให้ผลแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต แต่ถ้าเป็นผลใหญ่ทำให้คุณภาพผลทุเรียนลดลงและไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

การปล่อยด้วงเต่าเป็นวิธีทำลายเพลี้ยแป้งได้
การปล่อยด้วงเต่าเป็นวิธีทำลายเพลี้ยแป้งได้

วิธีป้องกัน กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งทุเรียน โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบเพลี้ยแป้งระบาดเล็กน้อย เช่น บนกิ่ง ให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้งไป หากพบบนผลทุเรียนในปริมาณน้อยอาจใช้แปลงปัด ใช้น้ำพ่นให้เพลี้ยแป้งหลุด หรือใช้น้ำผสมไวท์ออยส์ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ผ้าชุบสารคาร์บาริล อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ตามกิ่งสามารถป้องกันไม่ให้มดคาบเพลี้ยแป้งไปยังส่วนต่าง ๆ ของทุเรียน หรือใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นไปยังโคนต้น ได้แก่ เมทิดาไทออน อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเฉพาะต้นที่พบเพลี้ยแป้งจะช่วยป้องกันมดและลดการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง สำหรับการใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น การปล่อยด้วงเต่า หรือแมลงช้างปีกใส จะช่วยกินเพลี้ยแป้งและช่วยลดการทำลายของเพลี้ยแป้งได้เช่นกัน หากเกษตรกรท่านใดมีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลหรือเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านศูนย์ติดตามแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated