นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง และคณะลงพื้นที่ร่วมปล่อยเรือทรัพย์ดาวประมง 5 ณ ท่าเทียบเรือประมงบ้านทรัพย์ดาว ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อออกทำการประมงนอกน่านน้ำไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 103 วัน ในบริเวณพื้นที่ Saya de Malha Bank ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรอบความตกลงว่าด้วยการทำประมงในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA) หลัง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมประมงส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานกองเรือประมงนอกน่านน้ำของไทยให้สามารถออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำได้
ในด้านมาตรการควบคุมเรือประมงนอกน่านน้ำ กรมประมงในฐานะรัฐเจ้าของธงมีการกำหนดมาตรการติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังพฤติกรรมการเดินเรือและพฤติกรรมการทำประมงตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการควบคุมกระบวนการตั้งแต่เรือแจ้งออกจากท่าเทียบเรือ ในขณะทำการประมงและการขนถ่ายกลางทะเล จนกระทั่งการแจ้งกลับเข้าท่าและขึ้นสัตว์น้ำที่ท่าเทียบเรือของไทยให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบการทำประมงภายใต้องค์กรการจัดการประมงระดับภูมิภาค หรือรัฐชายฝั่งอื่น เพื่อป้องกันการทำประมง IUU โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย ระบบระบุตำแหน่งเรือประมง Vessel Monitoring System (VMS) ระบบเฝ้าติดตามอิเล็กทรอนิกส์ Electronic Monitoring (EM) หรือกล้องวงจรปิด และระบบการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ Electronic Reporting System (ERS)
นอกจากนี้กรมประมงยังได้จัดส่งผู้สังเกตการณ์บนเรือร่วมออกเดินทางไปกับเรือเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงตั้งแต่ออกเดินทางจากไทย จนกระทั่งกลับไทยซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของ SIOFA เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสังเกตการณ์พฤติกรรมการทำประมงของเรือนอกน่านน้ำ ให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งเป็นช่องทางในการป้องกันปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม สามารถรายงานข้อมูลการทำการประมง การขนถ่ายสัตว์น้ำ การติดตามกิจกรรมต่างๆ ของเรือได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ หากพบว่าเรือประมงมีพฤติกรรมต้องสงสัยกรมประมงสามารถตรวจสอบติดตามโดยศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมง (Fisheries Monitoring Center-FMC) เพื่อตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการตรวจสอบเรือทรัพย์ดาวประมง 5 ที่แจ้งออกทำการประมง เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง (PIPO) และหน่วยงานสหวิชาชีพจะดำเนินการตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้อง คนประจำเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือตามมาตรฐานของ PIPO และกรณีต้องได้รับการตรวจเรือประมงเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ SIOFA อาทิ Marking gear อุปกรณ์เก็บกู้เครื่องมือประมง ฉลากติดสัตว์น้ำ รวมถึงข้อกำหนดอื่นๆ อาทิ การกำจัดขยะในเรือ หมายเลข IMO เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งการออกทำการประมงนอกน่านน้ำจะมีระยะเวลานาน ทางกรมประมงได้แจ้งให้เจ้าของเรือประมงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส COVID – 19 อย่างเคร่งครัด โดยกำชับให้เจ้าของเรือประมงจะต้องมีการคัดกรองลูกเรือก่อนการลงเรือหากพบว่าลูกเรือรายใดมีอุณหภูมิสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด ให้ชะลอการลงเรือและแจ้งให้ไปตรวจพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังได้แจ้งแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับสุขลักษณะเรือและอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ภายในเรือ อาทิ การทำความสะอาดตัวเรืออย่างสม่ำเสมอ การจัดให้มีระบบระบายอากาศและถ่ายเทอากาศภายในเรือที่เหมาะสม สถานที่ปรุงอาหาร จะต้องทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ด้วยน้ำยาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งควรจัดเตรียมแอลกอฮอล์ หรือเจลทำความสะอาดมืออย่างเพียงพอในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางที่มีการสัมผัสร่วมกันเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคภายในเรืออีกด้วย
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลของเรือประมงที่จะออกทำการประมงนอกน่านน้ำ ได้อย่างสอดคล้องกับระเบียบและมาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น การดำเนินการดังกล่าวนับเป็นการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำประมงนอกน่านน้ำได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งผลที่ให้เห็นชัดเจนที่สุด นั่นก็คือ ขณะนี้เรือประมงนอกน่านน้ำของไทยสามารถออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทำให้เห็นว่านานาประเทศมีความเชื่อมั่นในการทำการประมงของเรือประมงไทยว่ามีระบบการบริหารจัดการการทำประมงนอกน่านน้ำที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นโอกาสเริ่มต้นที่ดีของเรือประมงไทย ที่จะได้มีโอกาสแสวงหาแหล่งทำการประมงใหม่ๆ นอกน่านน้ำไทย”อธิบดีกรมประมง กล่าว