หลังสิ้นคำประกาศถึงการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา คงทำให้หลายคนรู้สึกโล่งใจขึ้นมาได้ เพราะนี่คือสัญญาณที่บอกเราว่าการเผชิญหน้ากับ “ภัยแล้ง” อันแสนสาหัสในฤดูกาลนี้กำลังใกล้จะผ่านพ้นไปเต็มทีอย่างไรก็ตาม หากลองหันมามองในมุมของ “การบริหารจัดการน้ำ” อาจทำให้เราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่เกิดขึ้นนั้น แทบไม่ต่างไปจากการเปลี่ยนสมรภูมิการสู้รบ จากเดิมที่เคยต่อสู้กับปัญหา “น้ำน้อย” ก็ต้องหันมาสู้กับปัญหา “น้ำมาก” แทน เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องของน้ำ ไม่ว่าจะ “น้ำมาก” หรือ “น้ำน้อย” ก็ล้วนต่างต้องการแนวทางการบริหารจัดการที่ดีด้วยกันทั้งสิ้น
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญมากกับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูและเพิ่มศักยภาพแหล่งเก็บกักน้ำ รวมทั้งให้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างสอดคล้องกับกิจกรรมการใช้น้ำและปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่อย่างครอบคลุมโดยกอนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำแนวทางดังกล่าวมาผนวกรวมเป็น 8 มาตรการสำคัญเพื่อรับสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝน และได้ลงมือดำเนินการล่วงหน้าไปแล้วหลายส่วน อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขอความเห็นชอบ ก่อนจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับฤดูฝน ปี 2563 เพื่อดำเนินมาตรการเชิงป้องกันและลดผลกระทบความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด ดังนี้
1.การคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม โดยใช้ข้อมูลฝนคาดการณ์รายเดือนของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในระบบ ONE MAP ร่วมกับข้อมูลทางกายภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เส้นทางลำน้ำ และข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยที่หน่วยงานจัดทำไว้ อาทิ พื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) สถานีเฝ้าระวังน้ำท่วมในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2563 พื้นที่การเตือนภัยน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากต่อเนื่อง 5 ปี (ปี 2556 – 2560)
2.การปรับแผนการเพาะปลูกพืช โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น ทุ่งบางระกำ มีการปรับแผนการปลูกข้าวนาปีเร็วขึ้น รวมพื้นที่ 0.265 ล้านไร่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวทันก่อนฤดูน้ำหลาก และปรับเป็นพื้นที่รับน้ำได้ได้จำนวน 550 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
3.การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ เพื่อกำหนดเกณฑ์การระบายน้ำตามการคาดการณ์สภาพฝนในปีนี้ให้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รวมถึงขนาดกลาง ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงสถานีวัดน้ำฝน สถานีวัดน้ำท่า และสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำ สำหรับหน่วยงานใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 4.การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร โดยปัจจุบันมีสถานีในความดูแลของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมชลประทาน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) รวม 1,317 สถานี โดยได้รับการตรวจสอบซ่อมแซมเรียบร้อยเกือบทั้งหมด 100%5.การตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งจากการตรวจสอบทั่วประเทศ 625 แห่ง มีการปรับปรุงแก้ไขมิให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำแล้ว 186 แห่ง ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
6.การสำรวจแม่น้ำคูคลอง และดำเนินการขุดลอก กำจัดผักตบชวา โดยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับนายอำเภอในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ให้เร่งรัดติดตามการจัดเก็บผักตบชวาในแหล่งน้ำด้วยเรือท้องแบนที่ได้จัดซื้อไว้แล้ว โดยขอให้ท้องถิ่นมีการจัดเก็บทุกวันอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการกำจัดวัชพืช ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 11 พฤษภาคม 2563 ดำเนินการแล้วกว่า 2 ล้านตัน ขณะเดียวกัน ยังกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำจัดขยะในชุมชนเมือง รวมถึงรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำ คลอง และท่อระบายน้ำ ที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำด้วย7.เตรียมความพร้อมเครื่องจักร หน่วยงานต่าง ๆ ได้ตรวจสอบเครื่องมือช่วยเหลือประชาชนในกรณีเกิดอุทกภัยจำนวนรวม 7,661 เครื่องมือ และได้ดำเนินการบำรุงรักษาให้พร้อมสำหรับการใช้งานแล้ว8.สร้างการรับรู้กับประชาชน โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมถึงเครือข่ายคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสารข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์
“หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละแห่ง จะนำมาตรการทั้ง 8 ข้อ ไปจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ และจะมีการรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานกลับ กอนช. และรัฐบาลให้รับทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการสถานการณ์แต่ละช่วงเวลาให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป”
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับผลดำเนินการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562/2563 ที่เพิ่งผ่านไป ส่วนใหญ่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะการเข้าไปจัดการปัญหาในพื้นที่่ประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็ว เช่น การแจกจ่ายน้ำดื่ม จัดซื้อภาชนะบรรจุสำรองน้ำ การสำรวจและขุดลอกแหล่งน้ำ ทำให้หลายพื้นที่สามารถผ่านพ้นฤดูแล้งไปได้ด้วยดี โดย ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งทั่วประเทศเพียง 29 จังหวัด น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นฤดูว่าจะเกิดขึ้น 58 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กอนช. ยังมีภารกิจที่จะต้องเข้าไปเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น การขุดบ่อบาดาล การพัฒนาระบบกระจายน้ำ และการฟื้นฟูแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นแผนงานภายใต้ 2 โครงการหลัก คือ โครงการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 และ โครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563 ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
โดยหากสามารถเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จได้เร็วและมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการทำให้เกิดแหล่งกักเก็บน้ำสำรองไว้สู้กับสถานการณ์ภัยแล้งได้ในระยะยาวได้มากขึ้นเท่านั้นและยังถือเป็นการช่วยทำให้สถานการณ์น้ำในประเทศให้เกิดความมั่นคงได้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน