นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่เกษตร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ และสำนักงานเกษตรอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมมอบเจลแอลกอฮอล์ 70% สนับสนุนการให้บริการแก่เกษตรกรที่เดินทางมารับบริการ และรับฟังปัญหาการปฏิบัติงานในพื้นที่ ตามข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้บริการเกษตรกรทุกสำนักงานเกษตรอำเภอในการขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรทุกวันไม่เว้นวันหยุด จนถึงวันที่ 15 พ.ค. 2563
โดยรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ได้มีโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์ดังกล่าว โดยจ่ายเงินช่วยเหลือ จำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.–ก.ค.63 มีเป้าหมายเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ขณะนี้ ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดส่งรายชื่อให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรแล้ว ประมาณ 6 ล้านราย และยังมีเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล อีกจำนวนกว่า 1.57 ล้านราย และเปิดรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรใหม่ที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนมาก่อน ภายใน 15 พฤษภาคม 2563 นี้ ทำให้มีเกษตรกรเดินทางมาสำนักงานเกษตรอำเภอเป็นจำนวนมาก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้สั่งการให้มีการเปิดให้บริการเกษตรกร ทุกวันไม่เว้นวันหยุด เพื่อลดความหนาแน่น และลดความแออัดในช่วงเวลาที่เกษตรกรต้องการขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร
สำหรับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ยังเป็นไปตามเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด คือ หลังจากปลูกพืชแล้ว 15 วัน ให้นำหลักฐานพร้อมแบบฟอร์ม โดยสามารถขอได้จากอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) หรือผู้นำชุมชน มายื่นได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก ทั้งนี้ ขอให้แจ้งข้อมูลจริงกับเจ้าหน้าที่ หากตรวจสอบพบการแจ้งข้อมูลเท็จ อาจมีโทษตามกฎหมายได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ มีมติเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของเกษตรกรและครอบครัว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรไม่เกิน 10 ล้านราย (ไม่ซ้ำซ้อนกับการได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกัน) ประกอบด้วย (1) เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายแรก ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร (6.19 ล้านราย) กรมปศุสัตว์ (1.60 ล้านราย) และกรมประมง (0.64 ล้านราย) รวมทั้งสิ้น จำนวน 8.43 ล้านราย (2) เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนไม่เกิน 1.57 ล้านราย และให้พิจารณากำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป้าหมายที่สองให้ชัดเจน โดยเห็นควรกำหนดให้เกษตรกรที่สามารถลงทะเบียนเพิ่มเติมจะต้องเป็นเกษตรกรที่ดำเนินการในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การขึ้นทะเบียนของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร ขึ้นทะเบียนด้านพืชมาตั้งแต่ ปี 2552 และปรับปรุงมาจนถึงปัจจุบัน มียอดเกษตรกรสะสมทั้งหมด 8,071,216 ราย(ข้อมูล ณ 30 เม.ย.63) ทั้งนี้ ยางพารา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับขึ้นทะเบียนด้วย ส่วนอ้อยมีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม รับขึ้นทะเบียน และยาสูบ มีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง รับผิดชอบดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งทั้ง 3 พืช มีการแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลกันได้
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดการข้อมูลและสั่งการให้ทุกจังหวัดพิมพ์รายชื่อติดประกาศในชุมชน และประสานงานกับผู้นำชุมชน ในการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร ดังนี้ กลุ่มเป้าหมายแรก คือ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 62/63 มีจำนวน 6,338,665 ราย เป็นรายชื่อเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายแรกที่จะส่งไปคัดกรองตรวจสอบสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรฯ กลุ่มนี้เกษตรกรรอตามสิทธิ์อย่างเดียว ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่สอง ประกอบด้วย 2 ประเภท คือ 1) ประเภท เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนก่อนปี 2562 เฉพาะที่มีกิจกรรมการเกษตร จำนวน 1,732,551 ราย หากยังทำการเกษตรอยู่ให้รับแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร 2) ประเภทยังไม่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกร และเข้าเกณฑ์การขึ้นทะเบียนได้ ให้กรอกข้อมูล ทบก.01 ขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรฯ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานงานและทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน ในการอำนวยความสะดวกในการปรับปรุงทะเบียนและขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยให้ไปแจ้งกับผู้นำชุมชน หรือ อกม. หรือ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เท่านั้น ซึ่งเกษตรกรไม่ต้องมาที่สำนักงานเกษตรอำเภอ จากนั้น เจ้าหน้าที่เกษตรจะไปตรวจสอบแปลงตามหลักเกณฑ์และบันทึกลงระบบ แล้วส่งรายชื่อไปคัดกรองตรวจสอบสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรฯ ต่อไป
สำหรับการจ่ายเงินขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งรายชื่อเกษตรกรกลุ่มแรก ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรซึ่งเป็นนายทะเบียนไปแล้ว ประมาณ 6 ล้านครัวเรือน และจะเข้าสู่การตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูล จากนั้นจึงจะส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. พิจารณาความซ้ำซ้อนด้านอาชีพว่าไม่ได้รับสิทธิ์ซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกันหรือไม่ ทั้งนี้ ธ.ก.ส.สามารถเริ่มจ่ายเงินได้วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 นี้ ผ่าน บัญชี ธ.ก.ส. หากเกษตรกรที่ไม่มีบัญชี ธ.ก.ส. ให้ลงชื่อ ผ่านเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com ซึ่งได้เปิดใช้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563