นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ครั้งที่ 2/2563 ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (VDO Conference) โดยมี นายวราวุธ ชูธรรมธัช รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรและระบบสหกรณ์) เป็นประธานการประชุม เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จากข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จำนวน 14,556 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 64,188 ไร่ แบ่งเป็น ไม้ดอก 9,289 ครัวเรือน พื้นที่ 40,123 ไร่ และไม้ประดับ 5,267 ครัวเรือน พื้นที่ 24,065 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เม.ย. 2563) จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ เชียงใหม่ ปราจีนบุรี สระบุรี นครนายก เลย อุบลราชธานี และอุดรธานี ชนิดไม้ดอกที่มีการปลูกมาก ได้แก่ กล้วยไม้ตัดดอก มะลิเด็ดดอก รัก บัวหลวง ดาวเรือง จำปี-จำปา กุหลาบ สร้อยทอง และพุด สำหรับประมาณการพื้นที่และผลผลิตกล้วยไม้ ปี 2563 พบว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยวรวมทั้งประเทศมี 19,512 ไร่ ลดลงจาก ปี 2562 จำนวน 2,009 ไร่ (ปี 2562 จำนวน 21,521 ไร่) หรือลดลง ร้อยละ 9.34 ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 32,644 ไร่ ลดลง 16,150 ไร่ หรือลดลง ร้อยละ 33.10จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้กระทบต่อปริมาณการส่งออก โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลาดภายในประเทศทั้งการท่องเที่ยว การจัดประชุม สัมมนา การจัดงานต่าง ๆ หยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรซึ่งผลผลิตล้นตลาด มีผลผลิตส่วนเกินเหลือทิ้ง และราคาผลผลิตลดลง สำหรับเกษตรกรได้มีการปรับตัวโดยปรับลดจำนวนการผลิตลง ชะลอการปลูกรอบใหม่ ไม้ตัดดอกลดจำนวนครั้งการตัดดอก รื้อแปลงปลูก/ตัดดอกทิ้ง การให้ผู้ซื้อมาเก็บผลผลิตด้วยตนเองที่แปลง ลดจำนวนครั้งในการใส่ปุ๋ยและฉีดพ่นสารเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนไม้ต้นชะลอการจำหน่าย และมีการขายตรงถึงผู้บริโภคด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การขายแบบออนไลน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สมาคม-สหกรณ์-สมาพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับกล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับให้ข้อมูลว่า ตลาดยังมีความต้องการอยู่ แต่เนื่องจากมาตรการ Lock down ทำให้การขนส่งทางรถ เครื่องบิน มีจำนวนเที่ยวลดลง ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นกว่าช่วงปกติมาก ซึ่งการขนส่งทางรถไปจีน ต้องเปลี่ยนค่าคนขับ เปลี่ยนหัวลาก เปลี่ยนรถขน เมื่อข้ามประเทศตามมาตรการของแต่ละประเทศ ส่วนการขนส่งทางเครื่องบินมีเที่ยวบินลดลง พื้นที่ระวางสินค้ามีจำกัด รวมทั้งการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณค่าระวางสินค้าทางอากาศ และการขนส่งภายในประเทศในพื้นที่ห่างไกลถูกจำกัดด้วยการประกาศ Lock down ระหว่างจังหวัด และการกำหนดช่วงเวลาเคอร์ฟิว
ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ใน 2 มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการกระจายผลผลิต ประกอบด้วย 1) การกระจายผลผลิตผ่านเครือข่ายสหกรณ์ กรณีสหกรณ์ผู้ประกอบการเลี้ยงกล้วยไม้ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะประชาสัมพันธ์ไปยังสหกรณ์ทั่วประเทศให้สั่งสินค้าในลักษณะ pre-order 2) เพิ่มช่องทางตลาดใหม่ โดยจำหน่ายตรงสู่ผู้บริโภค ได้แก่ การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการโครงการส่งเสริมตลาดออนไลน์ ร่วมกับลาซาด้า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมมือกับ 24 Shopping และไปรษณีย์ไทย จำหน่ายสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์ม รวมทั้งจัดทำเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com และมอบหมายสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดจัดหาสถานที่จำหน่าย โดยให้เกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่ายเอง ณ บริเวณหน้าสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ตลาดเกษตรกร เป็นต้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรกรผ่านสื่อโซเชียล โดยมีหน่วยงานภาครัฐอำนวยความสะดวก การประสานงานเปิดรับ pre order สินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น นอกจากนี้ จะเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดช่วงเคอร์ฟิว การขอความร่วมมือทุกหน่วยงานสนับสนุนสินค้าไทย เช่น ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ อาหารไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐอำนวยความสะดวกในการกระจายสินค้า การลดต้นทุนค่าขนส่งทางเครื่องบิน เช่น การระวางเครื่องบินไปประเทศญี่ปุ่น ไม่เกิน ก.ก.ละ 65 บาท ปรับหลักเกณฑ์การคำนวณค่าระวางเครื่องบิน เป็นต้น
2. มาตรการทางการเงิน สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี สำหรับสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำและสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้กู้ยืมใหม่ และปรับโครงสร้างหนี้ สนับสนุนสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับลูกหนี้เดิม ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันการเงินได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบหลายมาตรการอย่างต่อเนื่อง เช่น พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย พักชำระหนี้เงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้ เป็นต้น