กรุงเทพฯ 13 พฤษภาคม 2563 – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการค้าออนไลน์สู่ตลาดโลกหลักสูตร “Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก” ที่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ถ.รัชดาภิเษก) โดยในงานสัมมนา นายจุรินทร์ได้ร่วมพูดคุยกับเกษตรกรผู้เข้ารับการอบรมออนไลน์จากภูมิภาคต่างๆ อาทิ นายสมภพ คูนาบุตร จากจังหวัดร้อยเอ็ดผู้ผลิตข้าวพองอบกรอบรสลาบร้อยเอ็ด โดยนายจุรินทร์ ได้ชื่นชมว่าเป็นเกษตรตัวอย่างในการนำเกษตรมาผสมผสานกับวัตกรรม ซึ่งตรงกับสิ่งที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และทำให้มีมูลค่าทางการค้าสูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับ นางณัฐนิช กิจยานุรักษ์ ผู้ผลิตสินค้าเมล่อนกรอบ โดยใช้นวัตกรรมสูญญากาศผลิตร่วมกับเครือข่ายในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงมากกว่า 10 ฟาร์ม และ นายชัยยศ จันทร์ทองสา ผู้ผลิตข้าวฮางงอกผสมธัญพืชตรากระติ๊บโต จากจังหวัดขอนแก่น ที่ต้องการเจาะกลุ่มผู้รักสุขภาพวีแกนและมังสวิรัติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ตอกย้ำความสำคัญของการตลาดและต้องการสร้างทัพหน้า ที่ทำหน้าที่เซลล์แมนออนไลน์บุกตลาดออนไลน์โลกให้สำเร็จ
นายจุรินทร์ กล่าวระหว่างการเปิดสัมมนาว่า งานสัมมนามิติใหม่ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการค้าออนไลน์สู่ตลาดโลกหลักสูตร “Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก” ที่จัดโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยโครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้หลักคิด “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ซึ่งได้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงานมีความสำคัญทั้งด้านการผลิตและการตลาด จึงจำเป็นที่จะต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันและสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค New Normal ทางเศรษฐกิจ โดยมีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มเข้าสู่อีคอมเมิร์ซหรือการค้าออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาท และทวีความสำคัญ โดยเฉพาะในขณะที่ทั่วโลกประสบปัญหาการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นการจัดการสัมมนาอบรมออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการส่งออกโดยระบบอีคอมเมิร์ซ และระบบออนไลน์ จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรเพราะมีความสำคัญต่อตัวเลขการส่งออกของประเทศ โดยพบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ทางการเกษตรมากถึง 40% และมีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากถึง 10 ล้านคน ดังนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดความรู้ และสามารถขายสินค้าของตนเองบนแพลตฟอร์มออนไลนได้นั้น จะช่วยให้เกษตรกรมีช่องทางในการกระจายสินค้าและเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีการดำเนินการในเรื่องของการตลาด เพื่อระบายพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด โดยเฉพาะการกระจายผลไม้ออกสู่ตลาด และได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่ากระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่ทางการตลาด โดยเข้าไปช่วยเกษตรกรกระจายผลไม้ออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการขายแบบออฟไลน์ และออนไลน์ สำหรับการระบายผลไม้ของตลาดในประเทศผ่านรูปแบบออฟไลน์นั้น จะเป็นการระบายผลไม้ผ่านตลาดไท ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้าในแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนตลาดออนไลน์ จะมุ่งเน้นการระบายสินค้าทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาได้เปิดโครงการ Thailand Fruits Golden Months ซึ่งเป็นการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ทั้งภายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศในช่วง 2 เดือนโดยเริ่มตั้งแต่พฤษภาคม-มิถุนายน 2563 โดยในช่วงดังกล่าวถือว่า เป็นช่วง 2 เดือนทองสำหรับการบริโภคผลไม้ของไทยคุณภาพในราคาพิเศษ
สำหรับการขายออนไลน์ในประเทศมีแพลตฟอร์มชั้นนำของไทยหลายแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนพลผลไม้ได้ขายผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ Thailandpostmart, Shopee, Lazada, JD Central, Jatujakmall, Cloudmall, The Hub Thailand และ Octorocket.asia ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดําเนินการแล้ว ด้านตลาดต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทยเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการร่วมมือกับแพล็ตฟอร์มระดับโลก หลายแพลตฟอร์มด้วยกัน ได้แก่ Tmall (จีน), Bigbasket (อินเดีย), Khaleang.com (กัมพูชา) , Aeon (ญี่ปุ่น) , Amazon (สิงคโปร์และสหรัฐฯ) และ Lotte (เกาหลีใต้) เป็นต้น รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์กับเว็บไซต์พันธมิตรในตลาดอาเซียน จีน และยุโรป และเพิ่มกิจกรรมเจรจาธุรกิจผ่านทางออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ส่งออกไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้มีการเจรจากับผู้นําเข้ามะม่วงจากเกาหลี โดยนำเข้าผ่านการเจรจาออนไลน์แล้วได้ 3,200 ตัน มูลค่าถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
“การจัดงานสัมมนาออนไลน์ ได้มีผู้ประกอบการและเกษตรกร เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดี ที่เกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับการค้าออนไลน์ซึ่งสอดคล้องกับ New Normal ทางการค้ายุคใหม่ของประเทศและของโลก โดยหวังว่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และช่วยให้สามารถสร้างทัพหน้าทางการค้าออนไลน์ ให้เกิดขึ้นได้อีกอย่างน้อย 200 คน เพื่อบุกตลาดโลกผ่านระบบออนไลน์ ขายสินค้าทางการเกษตรนำรายได้ให้กับประเทศและทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกในการเป็นทีมเซลล์แมนที่มีศักยภาพให้กับประเทศไทยในอนาคต” รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ที่ nea.ditp.go.th หรือ www.ditp.go.th หรือ www.facebook.com/nea.ditp หรือ Call Center 1169 กด 3