กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19” นำองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรครบวงจร (KAS) ความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำ พร้อมจัดอบรมฝึกขับเครื่องจักรกลเกษตรและรถขุดคูโบต้า ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถ่ายทอดไปยังกลุ่มผู้ถูกเลิกจ้าง สร้างโอกาสและส่งเสริมศักยภาพการประกอบอาชีพด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน เริ่มกรกฎาคมนี้ ประเดิม 5 จังหวัดนำร่อง ฝ่าวิกฤตแรงงานกลับภูมิลำเนา
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคการเกษตร จึงได้ร่วมมือกับสยามคูโบต้า จัดลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19” ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทย รวมถึงให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงได้มีภารกิจร่วมกับสยามคูโบต้า เพื่อร่วมกันพัฒนาฝีมือให้แก่แรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคการเกษตรให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงาน จนสามารถนำไปประกอบอาชีพ รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 อันจะนำไปสู่การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม และพัฒนาเกษตรกรให้มีความมั่นคงในอาชีพได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับฝีมือให้คนไทยมีงานทำอย่างมีศักดิ์ศรี มีฝีมือที่ได้มาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ด้านนายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบทำให้ภาคเศรษฐกิจในหลายธุรกิจชะลอตัว และเกิดการเลิกจ้าง หรือพักงานพนักงานเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ขาดรายได้ ซึ่งในกลุ่มผู้ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เลือกที่จะกลับภูมิลำเนา
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การประกอบอาชีพเกษตรกรรมป็นทางเลือกที่น่าสนใจ มีศักยภาพและบทบาทสำคัญในภาคเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบให้ประชาชนมีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรองรับและแก้ปัญหาแรงงานที่กลับไปทำงานยังภูมิลำเนา ทั้งนี้กุญแจสำคัญคือ การส่งเสริมพวกเขาเห็นความสำคัญของการทำเกษตร ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสม สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและขยายผลสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไปสำหรับการร่วมมือของสองหน่วยงานในครั้งนี้ จะดำเนินการคัดเลือกผู้ที่มีความสนใจทำอาชีพเกษตรกรรม โดยจะต้องเป็นผู้ที่ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์ COVID-19 เน้นการฝึกอบรมด้านการทำการเกษตร โดยจัดอบรมในเรื่อง การขับขี่เครื่องจักรกลการเกษตร อาทิ แทรกเตอร์ รถดำนา รถเกี่ยวนวดข้าว และรถขุด ตลอดจนองค์ความรู้ในการทำเกษตรครบวงจร KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสยามคูโบต้าที่ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรมาแล้วทั่วประเทศ และการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ในการทำการเกษตรอย่างเพียงพอ รับมือวิกฤตภัยแล้ง และเข้ารับการฝึกอบรมภายใต้โรงเรียนฝึกขับเครื่องจักรกลการเกษตร และโรงเรียนฝึกขับรถขุดคูโบต้า ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ได้ผลิตเกษตรกรที่มีทักษะความชำนาญมาแล้วกว่า 2,400 รุ่น 54,000 ราย โดยกำหนดพื้นที่จังหวัดนำร่องที่มีความพร้อม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุราษฎ์ธานี ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรรวมกว่า 18,000,000 ไร่ โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 นี้ นอกจากนี้ยังมีแผนจะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ที่มีความพร้อมต่อไป
นอกจากนี้ สยามคูโบต้ายังได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ชมคูโบต้าฟาร์ม (KUBOTA Farm) ฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ของภูมิภาคอาเซียนที่ชูจุดเด่นของ KUBOTA (Agri) Solutions นำนวัตกรรมการเกษตรแบบครบวงจรสร้างประสบการณ์เพาะปลูกด้วยวิธีการเกษตรสมัยใหม่ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการคำนึงถึงความต้องการของเกษตรกรเป็นหลัก (Customer Centric) มุ่งหวังให้เกษตรกรได้เข้าถึงทุกนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง ผ่านการลงมือทำและเห็นด้วยตาตนเอง ซึ่งจะเป็นโมเดลนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ของอาเซียน พร้อมตอกย้ำความมั่นใจในการสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับโครงการในครั้งนี้
สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าอัตราการวางงานในไตรมาสหนึ่งปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 มีผู้ว่างงานเกือบ 4 แสนคน และคาดว่าในปีนี้มีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน
นอกจากนี้ ผลกระทบจากภัยแล้งต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรมตั้งแต่กลางปี 2562 และต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 370,000 คน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดยเดือนเมษายน ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 26 จังหวัด และมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อยและไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน
ทั้งนี้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ผลการขึ้นทะเบียนใช้สิทธิกรณีว่างงานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://empui.doe.go.th กับกรมการจัดหางานของเดือนเมษายน ที่ผ่านมา มีจำนวน 2.6 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.8 จากเดือนมีนาคม ที่มีผู้มาขึ้นทะเบียน จำนวน 1.4 แสนคน โดยผู้ที่ถูกเลิกจ้างงานโดยมีสาเหตุมาจากนายจ้าง/สถานประกอบการต้องปิดกิจการ