จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลกระทบกับทุกภาคส่วน โดยในส่วนของธุรกิจ SMEs เกษตรที่เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้น ได้มีมาตรการช่วยเหลือตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยอัตโนมัติ 6 เดือน ให้กับผู้ประกอบการ SMEs เกษตร ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท และการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ Soft Loan ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เกษตร ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2562 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปลอดดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก โดยไม่เรียกหลักประกันเพิ่ม (รายละเอียดข่าว https://bit.ly/3dEx1wq)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ผู้บริหารธ.ก.ส.และคณะทีมงาน ได้ลงพื้นไปพบปะกับผู้ประกอบการ SMEs เกษตรที่ทำกิจการซื้อขายมะพร้าวน้ำหอมและผลไม้ พร้อมแปรรูปผลไม้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
นายยุวพล วัตถุ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นผู้นำทีมครั้งนี้ เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้ส่งรายชื่อผู้ประกอบการ SMEs เกษตร ที่ประสงค์จะขอสนับสนุนสินเชื่อ Soft Loan ให้ธปท.อนุมัติแล้วประมาณ 12,000 ราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 6,000 ล้านบาท เฉพาะในภาคตะวันตกที่ตนรับผิดชอบ ได้รับอนุมัติแล้ว 1,097 ราย วงเงินสินเชื่อ 1,019 ล้านบาท เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs เกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรอย่างเช่น เอ็นซี โคโคนัท และ โนรี คิงฟรุ๊ต ที่ธ.ก.ส.ได้เข้ามาสนับสนุนสินเชื่อตั้งแต่ต้นจนเมื่อประสบปัญหาเราก็ต้องมาสนับสนุนให้เกิดสภาพคล่องสามารถดำเนินกิจการไปได้และมีการจ้างงานตามปกติ
สำหรับ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด เป็นผู้ดำเนินกิจการด้านมะพร้าวนำ้หอมส่งออกและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวน้ำหอม โดยมี นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน เป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งได้เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์โรคระบาด โควิด-19 ทำให้ธุรกิจมะพร้าวน้ำหอมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ น้ำมะพร้าว วุ้นมะพร้าว อาหารเสริม เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน จึงได้เข้าโครงการสนับสนุนสินเชื่อใหม่กับ ธ.ก.ส. เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ จากวิกฤติโควิด-19 ครั้งแรกที่เกิดในประเทศจีน ทางบริษัทได้แก้ปัญหาโดยเน้นส่งออกไปยังตลาดยุโรป แต่หลังจากนั้นโควิด-19 ได้ระบาดไปยังยุโรป จึงได้กลับมาส่งประเทศจีนอีกครั้ง แม้ว่ายอดการส่งออกจะลดน้อยลง แต่ก็ยังมีการผลิตเช่นเดิม ตนมีพนักงานที่อยู่ในเครือข่ายประกันสังคม 400 คน และนอกเครือข่ายอีก 800 คน ทำให้ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่ยังคงเท่าเดิมแต่ยอดขายลดลง โดยไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน
“ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นถือว่าได้รับผลกระทบแต่จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทยังสามารถเดินหน้าไปได้ และได้เน้นการตลาดออนไลน์เร็วขึ้นจากเดิมที่วางแผนว่าจะเริ่มต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็เป็นช่องทางที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่ผู้คนหันมานิยมช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านทางช่องโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง เพจเฟสบุ๊ค ไลน์ อินสตราแกรม ตัวอย่างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวน้ำหอมที่ได้รับการตอบรับที่ดี เช่น น้ำมะพร้าวน้ำหอมแท้ๆที่เป็นผลิตภัณฑ์ล่าสุด วุ้นมะพร้าว พุดดิ้งมะพร้าว เนื้อมะพร้าวน้ำหอม รวมถึง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ทำให้มั่นใจว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นคือโอกาสที่บริษัทจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางจำหน่ายให้หลากหลายขึ้น”
ผู้ประกอบการ SMEs มะพร้าวน้ำหอมอีกรายหนึ่งคือ นายบุรี อยู่แก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัทโนรี คิง ฟรุ๊ต (ประเทศไทย) จำกัด เป็นศูนย์รวบรวมผลไม้ชนิดต่างเช่น มะพร้าวน้ำหอม ชมพู่ ฝรั่ง มะม่วง ส่งออกต่างประเทศ โดยเน้นผลสดเพียงอย่างเดียว บอกว่า ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ประเทศจีนปิดน่านฟ้าจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ผลไม้ที่กำลังรอส่งออกได้รับผลกระทบ อย่างชมพู่ ที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นานทำให้ต้องเสียคุณภาพไป ขาดทุนหลายล้านบาท และพนักงานบางส่วนที่เป็นลูกจ้างประเทศเพื่อนก็ต้องกลับประเทศประมาณ 50% ทำให้ต้องกลับมาวางแผนการทำงานกันใหม่ เพราะนอกจากสวนของตนเองแล้ว ยังมีสวนของลูกไร่ที่อยู่ในเครือข่ายอีกหลายครอบครัว ยังต้องพึ่งพาการส่งออกผลไม้อยู่ พอมีการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) ของ ธ.ก.ส.เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้มีสภาพคล่องที่จะเดินหน้าต่อ โดยการนำผลไม้มาจำหน่ายตลาดภายในประเทศ แม้ว่ายอดขายจะลดลงมากกว่า 50% แต่ก็ประคองให้เดินต่อไปให้ได้