“ยารา” มอบปุ๋ยแทนกำลังใจ ช่วยเหลือเกษตรกรไทยสู้วิกฤตปี 63
“ยารา” มอบปุ๋ยแทนกำลังใจ ช่วยเหลือเกษตรกรไทยสู้วิกฤตปี 63

ปี 2563 ถือเป็นปีที่ยากลำบากของพี่น้องเกษตรกรไทย เพราะด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เผชิญทั้งภัยแล้ง ราคาผลผลิตตกต่ำ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้รายได้ลดลงอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำหรับส่งออก

YARA พิธีมอบปุ๋ยยารา มีร่า 16-16-16 ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง 22
YARA พิธีมอบปุ๋ยยารา มีร่า 16-16-16 ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง 22

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเกษตรกรมะม่วงในจังหวัดพิจิตรที่ปีนี้ต้องบอบช้ำเนื่องจากการส่งออกหยุดชะงักและพ่อค้าคนกลางลดปริมาณการสั่งซื้อ ทำให้มีปริมาณผลผลิตล้นตลาดเป็นจำนวนมาก จนราคาตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี

“ยารา” มอบปุ๋ยแทนกำลังใจ ช่วยเหลือเกษตรกรไทยสู้วิกฤตปี 63
มิสเตอร์เมดิ เซนท์-อังเดร์

มิสเตอร์เมดิ เซนท์-อังเดร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด และรองประธานกลุ่มธุรกิจประเทศไทยและประเทศพม่า กล่าวว่า “สำหรับยารา เกษตรกรถือเป็นผู้ที่มีคุณูปการยิ่งใหญ่ เพราะพวกเขาคือหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผลิตอาหารเพื่อดูแลปากท้องของประชาชนทั้งในยามปกติและยามวิกฤต เมื่อเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ยาราก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ อย่างเช่นเมื่อปี 2561 ที่ได้ดำเนินการบริจาคปุ๋ยให้แก่เกษตรกรในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผู้เสียสละให้พื้นที่ปลูกข้าวของตนเป็นที่รองรับน้ำที่ระบายออกมาจากถ้ำหลวงเพื่ออำนวยความสะดวกในปฏิบัติการกู้ภัย 13 หมูป่า”

“ท่ามกลางวิกฤตทั้งภัยแล้ง ผลผลิตราคาตกต่ำ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามามากมายในปีนี้ ยาราจึงออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไทยด้วยการบริจาคปุ๋ยยารามีร่า 16-16-16 จำนวน 500 กระสอบ น้ำหนักรวม 25 ตัน ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อำเภอสากเหล็ก อำเภอวังทรายพูน และอำเภอดงเจริญ ในจังหวัดพิจิตร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนและสื่อความหมายแทนกำลังใจจากพวกเรา” มิสเตอร์เมดิกล่าวเสริม

“ยารา” มอบปุ๋ยแทนกำลังใจ ช่วยเหลือเกษตรกรไทยสู้วิกฤตปี 63
นายสายันต์ บุญยิ่ง

นายสายันต์ บุญยิ่ง เกษตรกรเจ้าของสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และผู้แทนเกษตรกรอำเภอสากเหล็กจังหวัดพิจิตร เล่าถึงสถานการณ์ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นว่า ”จังหวัดพิจิตรมีพื้นที่ปลูกมะม่วงอยู่ประมาณ 30,000 ไร่ซึ่งปกติในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปีจะเป็นช่วงสำคัญที่มะม่วงจะมีอายุครบเก็บเกี่ยว แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักทำให้ผลผลิตน้อยและราคาไม่ดี ซ้ำยังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นอีกในปีนี้ อันนำมาซึ่งมาตรการนำเข้าสินค้าที่เข้มงวดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้ตลาดส่งออกอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย ที่เป็นตลาดหลักของผลผลิตมะม่วงในประเทศไทยซึ่งมีสัดส่วนรวมกว่า 70% ไม่สามารถสั่งซื้อผลผลิตจากบ้านเราได้ ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศที่ให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้านในช่วงโควิด-19 ทำให้มีผลผลิตล้นตลาดและราคาถูกกว่าปีที่ผ่านๆ มา เกษตรกรในพื้นที่จึงทำได้เพียงปล่อยผลผลิตให้ร่วงหล่นในพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมาก จะนำมาแปรรูปก็ไม่มีแรงงานและเงินทุนที่เพียงพอ ถือเป็นผลกระทบที่หนักหน่วงที่เกษตรกรในจังหวัดพิจิตรและภาคเหนือตอนล่างต้องเผชิญกันอย่างถ้วนหน้า”

“ยารา” มอบปุ๋ยแทนกำลังใจ ช่วยเหลือเกษตรกรไทยสู้วิกฤตปี 63
นางคนธรส จุลกะระวิ

ด้านนางคนธรส จุลกะระวิ เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกมะม่วงฟ้าลั่นในอำเภอสากเหล็ก เปิดเผยว่า “ในปีที่ผ่านๆ มาผลผลิตมะม่วงฟ้าลั่นจะมีราคาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลงส่งผลให้ราคามะม่วงหน้าสวนลดลงไปเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท ปริมาณการซื้อก็ลดลง ทำให้ไม่คุ้มค่าที่จะจ้างแรงงานมาเก็บเกี่ยว ผลผลิตจึงถูกปล่อยให้ร่วงหล่นในพื้นที่ปลูกเป็นจำนวนมาก การช่วยเหลือก็ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ต้องขอขอบคุณยาราที่เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรมะม่วงในครั้งนี้ ถือเป็นกำลังใจที่สำคัญที่จะทำให้เกษตรกรสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์ที่ยากลำบากในปีนี้ไปได้”

เมื่อได้รับฟังเสียงสะท้อนจากเกษตรกร บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปุ๋ยธาตุอาหาร “ตรายารา” ต้นตำรับเรือใบไวกิ้งเพียงหนึ่งเดียวในไทย ในฐานะองค์กรผู้นำด้านธุรกิจปุ๋ยที่ทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกร จึงได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในปีนี้

กิจกรรมบริจาคปุ๋ยเพื่อบรรเทาวิกฤตปี 2563 แก่เกษตรกรมะม่วงเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ “115 ปี ปุ๋ยยารา เคียงข้างเกษตรกรนักสู้” ที่ยาราจัดขึ้น โดยเปลี่ยนเป้าหมายจากการเฉลิมฉลองการครบรอบมาเน้นการให้กำลังใจ สนับสนุน และช่วยเหลือดูแลเกษตรกรให้ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ในปีนี้ไปด้วยกัน โดยภายในพิธีมอบปุ๋ย ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอสากเหล็ก ได้มีนักวิชาการเกษตรจากยารามาร่วมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการปุ๋ยเพื่อดูแลพืชผลอย่างถูกวิธี และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมะม่วงอย่างครบวงจร ตามแนวทางของยาราที่ให้ความสำคัญกับการแบ่งปันความรู้เพื่อให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ตลอดจนจัดกิจกรรมสร้างสีสันเพื่อมอบรอยยิ้มให้แก่เกษตรกรและผู้ร่วมงาน

“ยารา” มอบปุ๋ยแทนกำลังใจ ช่วยเหลือเกษตรกรไทยสู้วิกฤตปี 63
นายสิริรัฐ ชุมอุปการ

นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ซึ่งเดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบปุ๋ยแก่เกษตรกรมะม่วงในครั้งนี้ กล่าวว่า “ในนามของจังหวัดพิจิตร ผมรู้สึกดีใจที่องค์กรภาคเอกชนเล็งเห็นถึงความยากลำบากของพี่น้องเกษตรกรและไม่ทอดทิ้งกันในยามยากลำบาก เพราะการที่เราจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้นั้นต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันของทุกฝ่าย และสำหรับประชาชนหรือหน่วยงานใดที่สนใจก็สามารถช่วยกันอุดหนุนมะม่วงของเกษตรกรจังหวัดพิจิตรเพื่อนำไปบริโภค เป็นของฝาก หรือเป็นวัตถุดิบในการแปรรูป เพื่อช่วยเหลืออีกแรงได้เช่นกัน”

นอกจากการช่วยเหลือด้วยการบริจาคปุ๋ยแล้ว ยารายังมีส่วนร่วมบรรเทาปัญหาให้กับเกษตรกรในมิติอื่นๆ ด้วย เช่น จัดแคมเปญ Save #เกษตรกรนักสู้ ยารารับฝากสวน” เปิดโอกาสให้เกษตรกรใช้พื้นที่เฟซบุ๊คของยาราประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าและจำหน่ายผลผลิตทางออนไลน์ จัดกิจกรรมเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมประกวดร้องเพลงในรายการ “ร้องได้ให้ล้าน” ทางช่องไทยรัฐทีวี ตลอดจนเปิดตัวมิวสิควิดีโอเพลง “เกษตรกรนักสู้” ซึ่งขับร้องโดยสองศิลปินระดับตำนานขวัญใจเกษตรกร ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ และ สุนารี ราชสีมา เพื่อเชิดชูและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรไทยที่กำลังต่อสู้ฝ่าฟันวิกฤต ให้กลับมายืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยารายังสนับสนุนชุมชน องค์กรสาธารณะอื่นๆ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากในช่วงการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย อาทิ บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงโรงงานบรรจุปุ๋ยยาราในจังหวัดอยุธยา เป็นต้น

YARA พิธีมอบปุ๋ยยารา มีร่า 16-16-16 ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง 79“ยาราขอให้คำมั่นสัญญาว่า เราจะยังมุ่งมั่น ช่วยเหลือ แบ่งปัน สนับสนุน และยืนเคียงข้างเกษตรกรไทยต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรและส่งเสริมให้เกษตรกรทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” มิสเตอร์เมดิกล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated