กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้แปลงใหญ่คุณภาพดี จำหน่ายผ่านช่องทางตลาดใหม่ใช้ Social Media เปิดรับ Pre-order พร้อมส่งเสริมการจำหน่ายตลาดในประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำชะงักการส่งออก
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ทำรายได้ต่อปีมากกว่า 2,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งออกในลักษณะกล้วยไม้ตัดดอก แหล่งผลิตสำคัญอยู่ในจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี และกรุงเทพฯ โดยเป็นกล้วยไม้สกุลหวาย (เดนโดรเบียม) กว่าร้อยละ 80 รองลงมา คือ สกุลมอคคารา ร้อยละ 15 และสกุลอื่น ๆ ร้อยละ 5 ได้แก่ แวนดา ออนซีเดียม ตามลำดับ ผลผลิตที่มีคุณภาพ เช่น ไม่มีตำหนิจากโรคแมลง ก้านช่อยาวไม่น้อยกว่า 35 ซ.ม. ดอกในช่อบานไม่น้อยกว่า 4 ดอก ส่วนใหญ่ส่งออกต่างประเทศ ส่วนผลผลิตที่เหลือและคุณภาพไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือที่เรียกว่า “ไม้ตลาด” จะถูกจำหน่ายภายในประเทศ โดยผู้รวบรวมและพ่อค้าในท้องถิ่นรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าส่งที่ตลาดค้าส่ง เช่น ปากคลองตลาด ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง รวมทั้งตลาดต่างจังหวัด เป็นต้น
ในปี 2562 มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 21,521 ไร่ ผลผลิต 48,794 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,654 ล้านบาท หรือร้อยละ 47 ของผลผลิตทั้งประเทศ แบ่งเป็น กล้วยไม้ตัดดอก 2,165 ล้านบาท และกล้วยไม้ต้น 489 ล้านบาท ประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีมูลค่านำเข้ากล้วยไม้จากไทย เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม ยุโรป 28 ประเทศ และจีน เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กล้วยไม้เป็นพืชหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หลายประเทศมีมาตรการ Lock down ลด/งดเที่ยวบิน รวมทั้งการขนส่งทางรถ ส่งผลให้การส่งออกกล้วยไม้ของไทยช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 มีปริมาณลดลงร้อยละ 40.14 และมูลค่าลดลงร้อยละ 31.67 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 จึงทำให้มีผลผลิตส่วนเกินเหลือจากที่ตลาดรองรับได้จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ตัดดอกซึ่งมีผลผลิตออกทั้งปี ไม่สามารถเก็บผลผลิตรอตลาดได้เหมือนกับสินค้าบางประเภท ดังนั้น เกษตรกรต้องตัดทิ้ง เหลือไว้แต่เฉพาะต้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มีแนวทางส่งเสริมตลาดกล้วยไม้ภายในประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้แปลงใหญ่กระจายผลผลิตกล้วยไม้คุณภาพดีสู่ผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางตลาดใหม่ เพิ่มจากเดิมที่เกษตรกรจำหน่ายกล้วยไม้ให้แก่ผู้ส่งออกและผู้รวบรวมที่มารับซื้อที่สวน เช่น การจำหน่าย Online ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย 24 Shopping การจัดทำเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้าของเกษตรกร การรณรงค์ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานสนับสนุนสินค้าไทย ภายใต้แคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรกรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” การจัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้ากล้วยไม้ของเกษตรกร ณ บริเวณหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ตลาดเกษตรกรและสถานที่ต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ชี้เป้าแหล่งผลิตกล้วยไม้ตัดดอกและกล้วยไม้ต้นของเกษตรกรแปลงใหญ่ สมาคม ชมรมกล้วยไม้ รวมทั้งการจำหน่ายในรูปแบบ Pre-Order ผ่านทาง Social Media นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้คนไทยใช้กล้วยไม้ไทยจัดกิจกรรม และเผยแพร่การใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดแจกัน การจัดช่อบูเก้ ร้อยพวงมาลัย ประดับตกแต่งสถานที่ เป็นต้น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วยไม้ รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ทั่วไป ปัจจุบันมีแปลงใหญ่กล้วยไม้รวมทั้งสิ้น จำนวน 11 แปลง จาก 4 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม 6 แปลง สมุทรสาคร 3 แปลง นนทบุรี 1 แปลง และกรุงเทพมหานคร 1 แปลง
“ผลการดำเนินงานนำร่องจำหน่ายสินค้ากล้วยไม้ในรูปแบบ Pre-order ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี มีลูกค้าประจำและลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบุคลากรหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และผู้สนใจภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งพ่อค้าคนกลางมารับสินค้าไปจำหน่ายต่อ เกษตรกรแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมดำเนินการมีความพึงพอใจในรายได้และการจำหน่ายในลักษณะนี้ เนื่องจากจำหน่ายผลผลิตได้ราคาดีกว่าจำหน่ายที่สวน เช่น ขายที่สวนราคาช่อละ 30 – 70 สตางค์ ขณะที่จำหน่ายตรงให้ผู้บริโภค ช่อละ 2 – 2.50 บาท ซึ่งการรวมคำสั่งซื้อล่วงหน้าของลูกค้าและให้เกษตรกรนำสินค้าทั้งหมดมาส่งยังจุดกระจายสินค้าเพียงจุดเดียว ช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าขนส่งของเกษตรกร มีจำนวนสินค้าและรายได้จากการจำหน่ายแน่นอน สำหรับระยะต่อไปกรมส่งเสริมการเกษตรจะส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ที่นำร่องดังกล่าว ดำเนินการด้วยตัวเองทุกขั้นตอน เริ่มจากการตั้งช่องทางการจำหน่ายของกลุ่ม เช่น Line Official, Facebook จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สินค้า การรวบรวมและสรุปยอดสั่งซื้อในแต่ละรอบ การจัดเตรียม/ส่งสินค้าให้ลูกค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร รวมทั้งขยายผลการดำเนินงานไปสู่แปลงใหญ่อื่น ๆ ที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอด ทั้งนี้ การส่งเสริมตลาดกล้วยไม้ภายในประเทศ จะช่วยเพิ่มทางเลือกและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดส่งออกที่เป็นตลาดหลัก ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อใด”