นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) วันที่ 22 มิถุนายน 2563 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โอกาสนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรใน EEC ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานประสานหลักในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในพื้นที่ EEC
เป้าหมายของแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ได้มุ่งพัฒนาภาคการเกษตรให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ของประเทศ ตามแนวคิดตลาดนำการผลิต (Demand pull) และการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี (Technology Push) โดยจะสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าสำคัญ ได้แก่ คลัสเตอร์ผลไม้ คลัสเตอร์ประมงคลัสเตอร์พืชพลังงาน คลัสเตอร์สมุนไพร และคลัสเตอร์ High valued crops เช่น ปศุสัตว์ เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรม S-curve และ New S-curve รวมถึงสร้างกระบวนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร พัฒนาระบบเกษตรสมัยใหม่โดยใช้ Agricultural Interlligence (AI) เพื่อตอบโจทย์ด้านการตลาดและยกระดับการผลิตภาคการเกษตร
ด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นคณะทำงานและเลขานุการร่วม เพื่อจัดทำแผนงานโครงการด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนา EEC และเป็นแผนงานที่สามารถรองรับต่อสถานการณ์หลังโควิท ในรูปแบบ New Normal รวมถึงจะมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ (Big Data) ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ National Agricultural Big data Center (NABC) ด้วย
ทั้งนี้ การใช้พื้นที่ EEC เป็นต้นแบบ เพื่อปรับการทำเกษตรในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย จะเป็นโอกาสในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ โดยจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วยการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) เพื่อกำหนดพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และตามความต้องการวัตถุดิบ ของภาคอุตสาหกรรม โดยต้องมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับความต้องการสำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการและการท่องเที่ยวอย่างสมดุล ซึ่งจะเป็น platform ตัวอย่างด้านการเกษตรของประเทศ ที่สามารถยกระดับให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง พร้อมทั้งเกิดประโยชน์กับภาคประชาชนในเขตพื้นที่ EECและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป