กรมประมง เผยผลสำรวจปริมาณการจับหอยลายบริเวณอ่าวไทยตอนในของจังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร พบในปีนี้ปริมาณการจับได้เพิ่มเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายในระยะเวลา 2 เดือน สามารถจับได้ถึงกว่า 2 ล้านกิโลกรัม มากกว่าทุกๆ ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2562 ที่แทบไม่พบหอยลายในแหล่งนี้เลย ทั้งนี้คาดว่าสาเหตุเกิดจากการขยายพื้นที่เขตทะเลชายฝั่ง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งประกาศดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่แหล่งหอยลายบางส่วน เป็นเหตุให้หอยลายไม่ได้ถูกรบกวนจากการทำประมง ประกอบกับสภาพแวดล้อมในเวลานั้นเหมาะสมในการเจริญเติบโตของหอยลาย จึงเป็นเหตุให้แหล่งประมงหอยลายฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ตัวแปรที่สำคัญคือชาวประมงให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ จึงส่งผลให้ปริมาณหอยลายเพิ่มจำนวนอย่างมาก
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงโดยกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล ได้มีการลงพื้นที่สำรวจบริเวณอ่าวไทยตอนในอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเขตทะเลชายฝั่งและนอกเขตทะเลชายฝั่ง เพื่อศึกษาสภาวะ สภาพแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยลายซึ่งพบว่าจากผลสำรวจในระหว่างปี 2560 – 2562 แนวโน้มของปริมาณการจับหอยลายมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องถึงขั้นไม่สามารถพบหอยลาย โดยผลของปริมาณการจับในปี 2560 พบผลรวมการจับทั้งปี จำนวน 1,234,764 กิโลกรัม ปี 2561 พบผลรวมการจับทั้งปีจำนวน 240,170 กิโลกรัมซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด และปี 2562 ไม่พบหอยลายเนื่องจากประชากรหอยลายเติบโตไม่ทันต่อการทำประมง ทำให้ชาวประมงบางส่วนหันไปทำอาชีพอื่นเพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปในช่วงที่แหล่งหอยลายอยู่ในระยะการฟื้นตัว ซึ่งบางแหล่งหอยลายสามารถกลับมาฟื้นตัวภายในระยะเวลา 1 – 2 ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแต่ละพื้นที่ แต่บางแหล่งเมื่อจับหอยลายไปหมดแล้วก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้อีกเลย
ล่าสุดผลสำรวจประชากรหอยลายบริเวณอ่าวไทยตอนใน ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันพบว่า ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร พบปริมาณการจับหอยลายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยผลของปริมาณการจับรวม 2 เดือน ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน สามารถจับหอยลายได้ถึง 2,168,427 กิโลกรัม ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวของปริมาณการจับทั้งปี 2560 – 2561 โดยคาดว่าสาเหตุที่หอยลายกลับมามีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกครั้งอย่างรวดเร็วในปีนี้ เกิดจากทรัพยากรทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาสภาพแวดล้อมทางทะเล พบว่าปริมาณแพลงก์ตอนรวมทุกชนิดที่เป็นอาหารของลูกหอยลายมีเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนคุณภาพน้ำในทะเลมีความเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของหอยลาย และส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากมาตรการกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงจังหวัดในเขตทะเลชายฝั่ง โดยขยายระยะห่างจากฝั่ง 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร และในบริเวณดังกล่าวห้ามเครื่องมือประมงพาณิชย์ทุกชนิด ซึ่งรวมทั้งเครื่องมือคราดหอยเข้าไปทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ส่งผลให้แหล่งหอยลายดังกล่าวไม่ถูกรบกวนจากการทำประมงในระหว่างปี 2562 – 2563 ทำให้แหล่งหอยลายมีระยะเวลาในการฟื้นตัวและกลับมาได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถจับได้ปริมาณมากในปีนี้
นอกจากนี้ กรมประมงได้มีการหาแนวทางช่วยเหลือชาวประมง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา COVID – 19 ส่งผลให้ร้านอาหาร โรงแรม ในบางพื้นที่ยังปิดตัวอยู่ ทำให้ชาวประมงที่จับผลผลิตหอยลายได้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ จึงได้เพิ่มช่องทางตลาดโดยการเปิดพื้นที่จำหน่ายหอยลายที่กรมประมง เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับชาวประมงได้จำหน่ายหอยลายสู่ผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้คาดว่าสถานการณ์วิกฤตจะดีขึ้นตามลำดับ เมื่อผ่านเหตุการณ์ช่วงนี้ไปได้ชาวประมงจะสามารถจำหน่ายสัตว์น้ำได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม กรมประมงจะติดตามสถานการณ์การทำประมงหอยลาย ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในทั้งเขตทะเลชายฝั่งและนอกเขตทะเลชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินผลทรัพยากรสัตว์น้ำและเฝ้าระวังการลักลอบการทำประมงคราดหอยลายในพื้นที่ห้าม และท้ายนี้ต้องขอบคุณชาวประมงทุกท่านที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการของรัฐตลอดมา ซึ่งจากสถานการณ์หอยลายเพิ่มจำนวนมากขึ้นในปีนี้ ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้แล้วว่าหากรัฐและราษฎร์ร่วมใจ ทรัพยากรก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและมีความยั่งยืน…อธิบดีกรมประมง กล่าว