“กล้วยหิน” ปลูกกันมากในพื้นที่แถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกล้วยหินบันนังสตา ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI : Geographical Indication) แต่ด้วยกล้วยหินเติบโตได้ในดินแทบทุกประเภท ทนแล้งได้ดี และแปรรูปเป็นกล้วยฉาบได้อร่อย จึงนิยมนำไปปลูกในภาคอื่นๆด้วย นั่นก็คือที่จังหวัดเพชรบูรณ์ถึงขนาดที่ว่ารวมกลุ่มกันปลูกเป็นล่ำเป็นสำ จนในที่สุดได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นในวันนี้ เมื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวเกรียบสมุนไพรและกล้วยแปรรูปในตำบลวังชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยหินสอดไส้มะขวามหวาน และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีมานานกว่า 10 ปี
คุณพงศ์กร เมฆสีเงิน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กล่าวว่า “กลุ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 เมื่อก่อนสินค้ามีหลายตัว ช่วงหลังลูกค้าสั่งซื้อกล้วยหินสอดไส้มะขามหวานมาเป็นพิเศษก็เลยหันมาผลิตกล้วยหินแปรรูปเป็นหลักทำตลาดตัวนี้อย่างเดียว” คุณพงศกร เผยที่มาของกลุ่ม โดยเริ่มตนจากการสนับสนุนเงินทุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นคืออบต.วังชมภูในการดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สาขาวังชมภู จำนวน 3 ล้านบาท ในโครงการเอ็กวายแซต หรือโครงการล้านละร้อยต่อปี สำหรับกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งและมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน
“ธ.ก.ส.เข้ามาดูแลเรื่องเงินทุนตอนนี้กู้โครงการเอกวายแซด 3 ล้าน ปลอดดอกเบี้ย 3 ปีแรกก็กู้ไม่ยากนะ ถ้าเรามีแผนธุรกิจที่ดี มีตลาดชัดเจน ถือเป็นโอกาสดีอย่างน้อยเราไม่ต้องมากังวลเรื่องดอกเบี้ย เงินที่ได้มานำพัฒนาโครงการให้ได้รับมาตรฐานอย.สร้างโรงเรือนการผลิต”
จุดเริ่มต้นที่หันแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยหินสอดไส้มะขาม หลังจากแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวแกรียบในช่วงแรก คุณพงศ์กรเผยว่าเนื่องจากผลิตภัณฑ์กล้วยหินสอดไส้มะขามการตลาดตอบรับดีกว่า หลังได้ทดลองนำกล้วยหิน ซึ่งปลูกกันมาในพื้นที่ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะจ.ยะลา ปรากฎว่ามีออเดอร์เข้ามาตลอดเวลา จนผลิตแทบไม่ทัน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ รสชาตอร่อย เหนียวนุ่มคล้ายมันฝรั่ง เมื่อนำมาสอดไส้มะขามหวานเพชรบุรณ์ยิ่งทำให้รสชาตกลมกล่อมมากขึ้นเป็นที่ถูกใจของลูกค้าและผู้บริโภค จากนั้นจึงมุ่งเน้นแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยหินสอดไส้มะขามหวานมาโดยตลอด
“ตอนแรกทำข้าวเกรียบแล้วเปลี่ยนเป็นกล้วยหิน เพราะเราเห็นช่องทางการตลาด มีรสชาตไม่เหมือนใคร อย่างกล้วยชนิดอื่นพอนำมาสอดไส้มะขาม ซึ่งเป็นผลไม้มีชื่อเสียงของเพชรบูรณ์ มันก็มีสตอร์รี่ เราจึงเห็นโอกาส เดิมนั้นเราก็ได้ทดลองนำกล้วยชนิดอื่นเช่นกล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง กล้วยหักมุกมาทำ แต่รสชาตไม่ได้ มันจะแข็ง ลูกค้าที่ทานประจำถ้ามีกล้วยชนิดอื่นผสมทานชิ้นสองชิ้นเขาจะรู้เลยว่าไม่ใช่”
ส่วนไส้ใช้มะขามหวาน เขาบอกว่าเคยลองใช้ไส้ผลไม้ชนิดอื่นอย่างเช่น สตรอเบอรี่ มัลเบอรี่ เสาวรสหรือสับปะรดแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ แต่พอเป็นไส้มะขามหวานออเดอร์จะเข้ามาดีมากเลยตัดสินใจใช้ไส้มะขามหวานมาตลอด จนถึงวันนี้เกือบ 5 ปีแล้วและวันนี้ผลิตภัณฑ์กล้วยหินแปรรูปสอดไส้มะขามหวานก็ยังกลายเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป 5 ดาวของจังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย โดยผลิตภัณฑ์กว่า 50 % ส่งจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดและปั้มปตท.ในจ.เพชรบูรณ์ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้าชื่อว่า “บัวโฮม” ส่วนที่เหลืออีก 50% รับจ้างผลิตส่งให้กับลูกค้านำไปติดแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งขณะนี้มีบางแบรนด์ส่งออกต่างประเทศด้วย
สำหรับกำลังการผลิตต่อวัน เขาระบุว่าขณะนี้อยู่ที่ 100-150 กิโลกรัมต่อวัน โดยผลิตเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 2,000-3,000 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณวัตถุดิบที่ส่งมาในแต่ละวันด้วย โดยกล้วยหินที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตจะรับซื้อจากเกษตรกรในเครือข่าย ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ 250 ไร่ในพื้นที่ 4 อำเภอของจ.เพชรบูรณ์ได้แก่ อ.เมือง อ.วังไผ่ อ.วังโป่งและอ.ชนแดน โดยแต่ละวันเกษตรลูกไร่จะนำกล้วยหินมาส่ง ณ ที่ทำการกลุ่มด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นสมาชิกกลุ่มจะมีราคาประกันให้สนในราคากิโลกรัมละ 9 บาท ส่วนลูกค้าจรจะรับซื้อเป็นหวี ขึ้นอยู่กับขนาดของหวีด้วย
“การปลูกกล้วยหินของเกษตรกรจะมีอยู่ 2 แบบคือปลูกกล้วยอย่างเดียวและปลูกแทรกไม้ยืนต้น ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกกล้วยอย่างเดียวพื้นที่ปลูกเฉลี่ยอยู่ที่ 5-10 ไร่ ส่วนรายที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด 20 ไร่ ส่วนราคาตอนนี้ส่งอยู่ที่กิโลละ 200 บาท ถุงละครึ่งกิโล 100 บาท กำไรเฉลี่ยอยู่ที่ 15-20 %” คุณพงศ์กร กล่าวย้ำ
ท่านใดสนใจผลิตภัณฑ์และเยี่ยมชมกระบวนการผลิต กล้วยหินสอดไส้มะขามหวาน รวมทั้งผลตภัณฑ์อื่นๆของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวเกรียบสมุนไพรและกล้วยแปรรูปในตำบลวังชมภู โทร.09-1843-7953