“ครูบัญชีอาสาไม่มีเงินเดือนให้ แต่ทำด้วยใจ ทำด้วยความคิดจิตอาสาที่ตั้งใจเสมอมา สิ่งล้ำค่าที่ได้มาคือ สามารถชี้ทางให้คนรู้รายรับ รู้รายจ่าย รู้ใช้สอย มีเงินน้อย ใช้เพียงน้อยไม่ขัดสน ทำบัญชีครัวเรือนไว้เตือนใจตน ความยากจนจะหลุดพ้นเพราะบัญชี ทำบัญชีครัวเรือนไว้เตือนจิต เป็นแนวทางไม่สร้างหนี้ เพราะมีแผนการใช้จ่ายอย่างดี เรื่องของบัญชีจึงต้องลงมือทำทันที” นี่คือปรัชญาของ “บุษบา สองสีดา” ประธานชมรมครูบัญชีอาสาจังหวัดบุรีรัมย์และเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ปี 2559 ผู้ยึดแนวทางการทำบัญชีครัวเรือน เพื่ออยู่อย่างพอเพียง พอดีและอยู่รอด จนประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต และยังเป็นผู้ให้ ด้วยการถ่ายทอดความรู้ทางบัญชีแก่ชุมชนและสร้างเครือข่ายครูบัญชีในจังหวัดบุรีรัมย์
นอกจากประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลักแล้ว ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าไหมแม่บ้านบ้านโนนศิลา และหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้พื้นที่บ้านทำเป็น“ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบชุมชนสายยาวเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาฯ” เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร มีทั้งหมด 12 ฐานเรียนรู้ อาทิ การทำบัญชีครัวเรือน การทำน้ำยาเอนกประสงค์ การทำโซลาเซลล์ การทำเกษตรผสมผสาน เป็นต้น โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้เรื่องบัญชีครัวเรือน เพราะมองว่าเป็นหัวใจหลักของการประกอบอาชีพทุกอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพเกษตรกร โดยในฐานเรียนรู้ทางบัญชี สอนการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ รวมถึงการนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งคนในชุมชนหลายคนที่ได้เข้าร่วมอบรมในศูนย์เรียนรู้ฯ มีการปรับเปลี่ยนความคิดและวิถีการดำเนินชีวิต เช่น บางคนเคย ทำนาอย่างเดียวก็ปรับเปลี่ยนทำอย่างอื่นผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงจากการทำนาที่บางปีราคาผลผลิตตกต่ำ
จากการให้ความสำคัญกับการทำบัญชีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งของตนเองและชุมชน ที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งในฐานะที่เป็นครูบัญชีอาสา ครูบุษบาได้พยายามสอดแทรกองค์ความรู้ด้านการทำบัญชีให้กับชุมชน เพื่อให้รู้จักวิเคราะห์แยกแยะรายรับ รายจ่าย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จนกระทั่งการทำบัญชีครัวเรือนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งการทำให้คนในชุมชนยอมรับเรื่องการทำบัญชีและปรับเปลี่ยนชีวิตได้ในปัจจุบัน ครูบุษบา เล่าว่า ทุกคนต้องทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันเป็นเครือข่าย มีการประชุมปรึกษาหารือกันเป็นประจำ และพร้อมที่จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาพูดคุย วิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกัน มีการให้รางวัลผู้ที่ทำบัญชีต่อเนื่อง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ อีกทั้งมีการสร้างเครือข่ายครูบัญชี เพื่อร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนทั้งจังหวัด โดยปัจจุบันทำหน้าที่เป็นประธานชมรมครูบัญชีอาสาของจังหวัดบุรีรัมย์ มีเครือข่ายทั้งหมด 23 อำเภอ สมาชิกประมาณ 100 คน และหนึ่งในความภาคภูมิใจจากการ ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ทางบัญชีมาอย่างต่อเนื่อง คือ การได้รับคัดเลือกจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์มระดับจังหวัด ปี 2551, เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม รองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประเทศ ปี 2552, เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ปี 2554 และเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค ปี 2559
“อยากฝากให้เกษตรกรทุกคนหันมาจดบันทึกบัญชีครัวเรือนตั้งแต่วันนี้ ชีวิตของเราจะดีขึ้น เพราะการที่เราจดบันทึกบัญชีครัวเรือน จะทำให้รู้ที่ไปที่มาของการใช้จ่ายเงิน รู้จักวิเคราะห์ตนเอง ทำให้เรารู้ถึงความจำเป็นของการมีเงินออม โดยสิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนวิธีคิดและการลงมือทำ เช่น การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ มีแผนการเงินให้มีเงินออมไว้จ่ายยามจำเป็น ซึ่งบางคนอาจคิดว่าการทำบัญชีเป็นเรื่องน่าเบื่อ เพราะเมื่อทำแล้วมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายได้ จึงอยากให้ย้อนถามตัวเองว่า เราเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ถ้าเราไม่ย้อนดูตัวเองจะไม่มีวันรู้” ครูบุษบา ฝากทิ้งท้าย.