รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ พบ เกษตรกรกลมุ่นครชัยบุรินทร์ ชี้ช่องใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ขยายส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก พร้อมแนะลู่ทาง เพิ่มมูลค่าสินค้าและยกระดับคุณภาพมาตรฐานสู่ระดับสากล
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ได้นำ คณะผู้บริหาร 3 หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อพบหารือเกษตรกรกลุ่มนครชัยบุรินทร์ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ พร้อมเปิดงานสัมมนาโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรเรื่องการใช้ประโยชน์จาก ความตกลงการค้าเสรี นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมร้านค้าปลีกค้าส่งทวีกิจ ในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ และศูนย์เรียนรู้การทอผ้า ฝ้ายอัคนี อ.เฉลิมพระเกียรติ และแนะนำช่องทางการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ ทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ มีการเสวนาในหัวข้อ “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดเอฟทีเอ” โดยเกษตรกรให้การตอบรับอย่างดี เนื่องจากเป็นเวทีที่ให้ข้อมูลเรื่องการค้า ระหว่างประเทศ และแนวทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีเพื่อขยายการส่งออก นอกจากนี้ ยังได้นำทีม ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการตลาดมาติวเข้มวิเคราะห์สินค้า และแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ โดยมีเกษตรกรร่วมนำสินค้ามาวิเคราะห์และจำหน่ายอย่างคึกคัก อาทิ ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลินิล ผ้าฝ้ายภูอัคนี ผ้าไหม บ้านนาโพธิ์บุรีรัมย์ เสื่อกก และสมุนไพร (ยาหม่อง และน้ำหอมยาสีฟัน)
สำหรับการเยี่ยมชมบริษัท ทวีกิจซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นร้านค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ ให้บริการครอบคลุม พื้นที่ในอีสานใต้ อาทิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม นครราชสีมา สระแก้ว และอุบลราชธานี จำหน่ายสินค้าราคา ประหยัดเพื่อช่วยลดค่าครองชีพแก่ประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงพาณิชย์ และได้ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การทอ ผ้าฝ้ายอัคนี ทำผ้าย้อมดินภูเขาไฟมีสีแดงอิฐ ที่เป็นเอกลักษณ์ของบุรีรัมย์ ซึ่งเหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมสินค้าที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม
“ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี และเชื่อมโยงสินค้าชุมชนกับตลาดโลก รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเชื่อมั่นว่าการลงพื้นที่และจัดสัมมนาครั้งนี้ จะทำให้เกษตรกรมองเห็นลู่ทาง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และขยายช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ” นายวีรศักดิ์ กล่าว
แม้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – พ.ค.) การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์โควิด-19 แต่ยังมีสินค้าหลายรายการที่สามารถส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้มีมูลค่าส่งออกกว่า 2,000 ล้าน เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.57 สินค้าอาหารสำเร็จรูป ส่งออกมูลค่า 913 ล้านเหรียญ สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.81 และสินค้าเนื้อสัตว์ ส่งออกมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.57 ทั้งนี้ สินค้า เกษตรและเกษตรแปรรูปไทยยังมีแนวโน้มการส่งออกที่ดี เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการบริโภคสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทย