สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ประชุมเชื่อมโยงเครือข่ายและแปลงใหญ่ระดับเขต กำหนดแนวทางใช้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนอย่างคุ้มค่า นำเกษตรอัจฉริยะมาปฏิบัติใช้ เน้นการผลิตตามมาตรฐาน GAP เพื่อสะดวกต่อการส่งออก เผยมะพร้าวน้ำหอมพืชนิยมปลูกของเกษตรกร ตลาดต่อเนื่องขายได้ทั้งปี ส่งเจ้าหน้าที่สนับสนุนความรู้เกษตรกร ที่กำลังขยายแปลงปลูกแปลงใหม่
นายมคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 ( สสก.2 ) จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า เมื่เอเร็ว ๆนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ได้มีการจัดประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่ระดับเขต ครั้งที่ 2/2563 ณ โรงแรมซีแอนด์ซี อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ขึ้น โดยมีคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. และ แปลงใหญ่ ระดับเขต และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงาน ศพก. และแปลงใหญ่ ระดับจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดภาคตะวันตก เจ้าหน้าที่ สสก. 2 รบ. เข้าร่วมการประชุม
โดยการประชุมมีการแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน ศพก. และแปลงใหญ่ในแต่ละจังหวัด ตลอดถึงแนวทางการจัดชั้นคุณภาพแปลงใหญ่ การประกวดแปลงใหญ่ การคัดเลือกคณะกรรมการ ศพก. และแปลงใหญ่ชุดต่อไป รวมทั้งติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชที่สำคัญโดยมี นายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี มาให้ความรู้
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการนำงบประมาณจากเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาดำเนินการในกิจการของการทำเกษตรทั้งในพื้นที่ ศพก. และ เกษตรแปลงใหญ่
ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขานรับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยไป สู่ยุค Thailand 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่า และการเพิ่มผลผลิต โดยอาศัยเทคโนโลยีวิทยาการสมัยใหม่และความคิดสร้างสรรค์ เป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ด้วยการส่งเสริมการนำแนวคิดเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตและปรับรูปแบบการทำเกษตรให้เกิดเป็นรูปธรรม
ตลอดจนแนวโน้มการทำเกษตรกรรมของโลกที่กำลังปรับเปลี่ยนไปจากการเกษตรดั้งเดิม มีการพัฒนาไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ และการเกษตรอัจฉริยะสูงขึ้น รวมทั้งภาคการเกษตรของประเทศไทยในอนาคต ที่กำลังเผชิญสภาวะการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเล็งเห็นความสำคัญของทิศทางของการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาการเกษตรในปัจจุบัน สู่การเกษตรอัจฉริยะ มุ่งสู่เกษตรสมัยใหม่ เกษตรแม่นยำ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตทางการเกษตร สอดคล้องกับการพัฒนาที่มุ่งสู่เกษตร 4.0 เพื่อทำให้อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ยั่งยืน สร้างรายได้ที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นพืชสวนและนาข้าว โดยในที่ประชุมได้มีการเน้นย้ำถึงแนวทางในการนำงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาดำเนินการให้ก่อเกิดผลอย่างคุ้มค่าตามเป้าหมาย
“การส่งเสริมให้เกษตรแปลงใหญ่ทำการผลิตแบบอัจฉริยะนั้น จะสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาปฏิบัติใช้ในการทำการเพาะปลูก เช่น ระบบน้ำที่ใช้กลไกเข้ามากำหนด มีการวัดอุณหภูมิความชื้นในดินมาเป็นตัวกำหนดระบบการให้น้ำ เพื่อช่วยประหยัดน้ำ และเวลาให้กับเกษตรกร ตลอดถึงการนำเครื่องจักรกลมาเป็นตัวช่วยเพื่อลดปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน สำหรับพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี นั้น ได้เน้นย้ำกับเกษตรกร ในการผลิตที่จะต้องได้มาตรฐานของ GAP และไม่มีการนำผลผลิตนอกแปลงที่ขึ้นทะเบียนเข้ามาสวมสิทธิเพื่อการส่งออก เพราะหากมีปัญหาผลกระทบจะเกิดกับเกษตรกรเองในที่สุด ซึ่งมาตรการนี้นับว่าเป็นผลดีต่อระบบการผลิตภาคการเกษตรของไทยในระยะยาว” นายมงคล กล่าว
สำหรับสถานการณ์ด้านการผลิตและการตลาดล่าสุดของพื้นที่ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชที่เกษตรกรให้ความสนใจผลิตกันมากเนื่องจากให้ผลผลิต และส่งจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี โดยตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างประเทศ และมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่น เช่น กล้วยไม้ตัดดอกที่กำลังประสบปัญหาเรื่องตลาดเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 มีการปิดประเทศการส่งออกจึงหยุดชะงัก เกษตรกรจึงหันมาปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกมะพร้าวน้ำหอมแทน
“ที่จังหวัดเพชรบุรีขณะนี้ มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมกว่า 500 ไร่ ซึ่งทาง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลให้ความรู้ในการเพาะปลูกให้เป็นไปตามหลักวิชาการ การเกษตรที่ถูกต้องเพื่อให้ผลผลิตออกมาดีตรงตามความต้องการของตลาด และไม่มีปัญหากับการส่งออก คือ การผลิตตามมาตรฐาน GAP” นายมงคล กล่าวทิ้งท้าย