เกษตรกรพร้อมรับ “โรงไฟฟ้าชุมชน”
เกษตรกรพร้อมรับ “โรงไฟฟ้าชุมชน”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในโอกาสเดินทางพร้อมทีมงานเพื่อศึกษาเรื่องพลังงานชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนไผ่เพชรล้านนา บ้านห้วยพระเจ้า ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ว่า กระทรวงพลังงานมีความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะใช้มิติด้านพลังงานเข้ามาร่วมเสริมความเข้มแข็งพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นโครงการพืชพลังงานนำมาทำโรงไฟฟ้าชุมชน หรือพืชพลังงานที่จะนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ไบโอดีเซล หรือ เอทานอล สิ่งเหล่านี้คือความตั้งใจของกระทรวงฯที่เชื่อมโยงไปสู่เกษตรกรทั่วประเทศ โดยกระทรวงพลังงานจะร่วมมือกับสภาเกษตรกรฯ เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเริ่มต้นช่วงเวลายื่นเสนอโครงการฯกระทรวงพลังงานจะขอข้อมูลจากสภาเกษตรกรแห่งชาติในการเข้าร่วมวิเคราะห์ว่าโครงการที่ขอเข้ามานั้นมีศักยภาพและความเป็นไปได้หรือประสบการณ์ในการปลูกพืชพลังงานกลุ่มนั้นๆอย่างแท้จริงหรือไม่

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ (เสื้อสีดำ) และ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ (เสื้อสีเหลือง)
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ (เสื้อสีดำ) และ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ (เสื้อสีเหลือง)

“โรงไฟฟ้าชุมชน” คือความตั้งใจของกระทรวงพลังงาน ซึ่งหัวใจสำคัญคือความแข็งแรงของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการและมีส่วนในการเป็นเจ้าของ นำไปสู่ความมั่นคงในการขายพืชพลังงานป้อนสู่โรงไฟฟ้าชุมชน หากเกษตรกรมีความแข็งแรงประเทศไทยก็จะมีความแข็งแรงเพราะเกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นความแข็งแรงที่เป็นโครงสร้างที่มั่นคงของประเทศไทยมาโดยตลอด ” นายสนธิรัตน์ กล่าว

เยือนวิสาหกิจฯ2ขณะที่ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ได้กล่าวเสริมว่า จากประกาศนโยบายของกระทรวงพลังงานเป็นเรื่องที่ถูกใจพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศ อาทิเช่น การสูบน้ำจากบ่อบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm), พลังงานชุมชน เป็นต้น เกษตรกรต่างเฝ้าติดตามว่าเมื่อไหร่จะเกิดเป็นรูปธรรมจริงๆสักที จนเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่พร้อมทีมงานเพื่อศึกษาพลังงานชุมชน และได้เห็นว่า “ไผ่” ใช้ประโยชน์ได้มากและหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย เฟอร์นิเจอร์ ไม้ใช้สอยประจำวัน จนถึงเรื่องพลังงาน  “ไผ่” จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่กระทรวงพลังงานจะเอาใจใส่เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะช่วยวิเคราะห์พื้นที่ศักยภาพ ส่วนความห่วงใยและความกังวลเรื่องการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนหนีไม่พ้นเรื่องของมลภาวะ ความจริงคือปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่แพร่หลายในการเผาไหม้สมบูรณ์จนแทบไม่ปล่อยมลภาวะเลย สิ่งที่น่าห่วงคือภาครัฐมีความจริงจังแค่ไหน เช่น พื้นที่ปลูก เกษตรกรปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ต้องอนุญาตให้นำมาใช้ประโยชน์หรือเอามาขายได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานต้องหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรกรมีความพร้อมมากที่จะนำศักยภาพอื่นๆมาพัฒนาเป็นเศรษฐกิจของตนเอง เพียงภาครัฐต้องเข้าใจและมีนโยบายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัญหาของเกษตรกร

เยือนวิสาหกิจฯ1“ต้องฝากพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศให้ความสนใจเรื่องพลังงานชุมชน หากสนใจเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เรื่องไผ่ ข้าวโพด พืชพลังงานอื่นๆ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นคำตอบที่จะเป็นรูปธรรมที่สุดที่จะสามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากแก้ปัญหารายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นรูปธรรมและยั่งยืน การขายพลังงาน ขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไม่เคยมีปัญหาเรื่องราคา เพราะผู้ซื้อโดยเฉพาะภาคราชการเป็นผู้ซื้อหลักไม่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ขายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างน้อยที่สุดเพื่อดูแลตัวเอง ใช้ในฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ หากเกษตรกรทั้งประเทศใช้โมเดลนี้จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดต้นทุนในการผลิตของตัวเองลงได้ ที่สำคัญคือหากกระทรวงพลังงานนำเรื่องนี้เป็นนโยบายก็จะสามารถทำให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ชนบท มีความเข้มแข็งมากขึ้น มีเศรษฐกิจที่มั่นคงมากขึ้นได้” นายประพัฒน์ กล่าวปิดท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated