สสก.2 ราชบุรี ประกาศผลการประกวดวิสาหกิจชุมชนระดับเขต จากการพิจารณาของภาคีงานการเกษตร 5 องค์กร เผยเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องงานด้านการผลิตภาคเกษตรเป็นสำคัญ ระบุเป็นวิสาหกิจที่ชุมชนมีส่วนร่วม สอดคล้องกับศักยภาพของชุมชน มีกิจกรรมหลากหลาย เชื่อมโยงและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

นายมงคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี (สสก.2 จังหวัดราชบุรี)  เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ให้ดำเนินการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2563 โดยมี 5 หน่วยงานภาคี ร่วมเป็นคณะกรรมการประกวดประกอบด้วย  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี  สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 10 จังหวัดเพชรบุรี   ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 จังหวัดสุพรรณบุรี  สำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

นายมงคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี
นายมงคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี

โดยการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับเขตนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีแนวโน้มในการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถพัฒนาให้เป็นต้นแบบสำหรับวิสาหกิจชุมชนอื่น หรือผู้ที่สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเป็นการกระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบวิสาหกิจชุมชนให้เกิดความมั่นคง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 รวมทั้งเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ยกย่อง ประกาศเกียรติคุณของวิสาหกิจชุมชนที่มีผลงานดีเด่นสู่สาธารณชน

“สำหรับในการพิจารณานั้นจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกประกวด 5 หมวดด้วยกัน ได้แก่ 1) ความคิดริเริ่ม  2) ความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน  3) บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน
4) ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน และ 5) การทำกิจกรรมด้านสวัสดิการชุมชน สาธารณประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายมงคล กล่าว

cdc06666da638b7036be500f862d989a2_22687655_๒๐๐๗๑๕_0

ทั้งนี้คณะกรรมการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับเขต ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกจากวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยผลการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2563 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยน้ำโจน 2555 ตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 5,000 บาท พร้อมโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ

ซึ่งกิจการของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ คือ ปั๊มน้ำมันชุมชน ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพทางการเกษตรของเกษตรกร เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสิ่งสำคัญในการทำการผลิต และก่อให้เกิดต้นทุนในการผลิตมาก  เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการให้เกษตรกรที่เข้ามาใช้บริการสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากเป็นการให้บริการในพื้นที่ใกล้เคียงกับแหล่งทำการผลิตของเกษตรกรทำให้เกษตรกรสามารถลดการเดินทางในการใช้บริการ และเป็นการดำเนินการแบบให้บริการน้ำมันในชุมชน

cdc06666da638b7036be500f862d989a2_22687655_๒๐๐๗๑๕_3

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบางช้าง ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้รับเงินรางวัลจำนวน 3,000 บาท พร้อมโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ ซึ่งกิจการของวิสาหกิจชุมชน แห่งนี้คือการผลิตปุ๋ยชีวภาพ การผลิตสารสกัดสมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืช  ผลิตพืชอินทรีย์ ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้  เป็นการดำเนินกิจการที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงานของ ร.9  ในเรื่องประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ทำให้ง่าย เน้นการมีส่วนร่วม การพึ่งตนเอง พออยู่พอกิน มาส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกดำเนินการ โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ที่จะต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต และจริงใจต่อกัน

ด้านรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 เป็นของวิสาหกิจชุมชนการผลิตการเกษตรปลอดสาร ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับเงินรางวัลจำนวน 1,000 บาท พร้อมโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ ซึ่งกิจการของวิสาหกิจชุมชน แห่งนี้คือ การทำปุ๋ยเบญจคุณ เพื่อแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีราคาสูง เป็นผลให้ต้นทุนในการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นขณะที่ราคาข้าวตกต่ำ  โดยผลิตปุ๋ยใช้เองด้วยการนำวัตถุดิบในพื้นที่มาเป็นส่วนผสม

cdc06666da638b7036be500f862d989a2_22687655_๒๐๐๗๑๕

“แม้วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกจะมีความหลายหลายทางกิจกรรมตลอดถึงแนวทางในการดำเนินการ แต่สิ่งที่ทุกวิสาหกิจชุมชนมีการรนำปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือ การประกอบกิจการที่ดำเนินงานโดยกลุ่มคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม และสอดคล้องกับศักยภาพ บริบทของชุมชนหรือแผนชุมชน ร่วมถึงมีกิจกรรมที่หลากหลาย มีความเชื่อมโยงและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ นำไปเป็นแม่แบบในการดำเนินการต่อไปได้เป็นอย่างดี” นายมงคล กล่าว

cdc06666da638b7036be500f862d989a2_22687655_๒๐๐๗๑๕_1

cdc06666da638b7036be500f862d989a2_22687655_๒๐๐๗๑๕_2

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated