เมื่อเร็ว ๆนี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมนายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงเยี่ยมชมและติดตามผลสัมฤทธิ์จากการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของโครงการอ่างเก็บน้ำพระปรงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว
โอกาสนี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เปิดเผยภายหลังรับฟังการสรุปผลการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และการสนองพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้วว่า จังหวัดสระแก้วมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากถึง 104 โครงการ โดยมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำถึง 82 โครงการ ทั้งเล็กและใหญ่ ซึ่งอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ เป็นโครงการที่ดำเนินการมาหลายปีแล้ว ปัจจุบันก็มีการพัฒนาเพิ่มเติมให้การเก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้น
“ในอนาคตถ้าปริมาณน้ำฝนตกไหลลงอ่างจะสามารถเก็บกักได้มากขึ้น ในหน้าแล้งจะส่งน้ำให้กับพื้นที่ด้านล่างของอ่างได้อย่างเต็มที่ ประชาชนในพื้นที่มีความพึงพอใจเพราะสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง เพราะมีระบบส่งน้ำไปให้ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีโครงการที่ดำเนินการอยู่ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนซึ่งจะรับน้ำได้มากถึง 22 ล้านลูกบาศ์เมตร” พลอากาศเอกชลิต กล่าว
ทางด้าน นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร. ) กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งพื้นที่ดำเนินการอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้และได้อนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างได้ โครงการอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ถือเป็นอ่างเก็บน้ำสำคัญของอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มีความจุน้ำเทียบเท่ากับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ประมาณ 60 กว่าล้านลูกบาศ์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2544 ถึงปัจจุบันได้ใช้งานมาร่วม 20 ปี
โดยพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ดำเนินการสืบสาน รักษา ต่อยอด ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำโครงการเพื่อขยายผลพื้นที่รับน้ำและการส่งน้ำสู่พื้นที่ทำกินของราษฎรให้มากขึ้น
“วันนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะอนุกรรมการติดตามขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง ได้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ พบว่าโครงการอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ ในปัจจุบันเอื้อประโยชน์ให้ราษฎรสามารถมีทางเลือกในการประกอบอาชีพได้มากขึ้น โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว การประมง ควบคู่กับการฟื้นฟูป่าไม้ ตลอดถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ ก็เป็นความสำเร็จส่วนหนึ่ง ที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน” นายดนุชา กล่าว
ด้าน นายลวด ชุ่มสระน้อย เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำ พระปรงฯ กล่าวว่า หากไม่มีอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ วันนี้ การทำมาหากินคงลำบากต้องออกไปรับจ้างนอกพื้นที่ เมื่อมีอ่างเก็บน้ำ ราษฎรที่อยู่ใต้อ่างมีน้ำทำนา ทำไร่ และประสบความสำเร็จมีผลผลิตที่ดีและสมบูรณ์
“ทางกรมชลประทานได้เข้ามาแนะนำในการทำนาทั้งนาปรังและนาปีในการใช้น้ำ นาปรังนั้นปลูกไว้กินส่วนนาปีก็เอาข้าวไปขาย ทำให้มีรายได้ และมีการรวมกลุ่มเป็นผู้ใช้น้ำแบ่งน้ำกันใช้ไม่แย่งกัน ทุกคนได้รับน้ำเท่าเทียมกัน มีกฎระเบียบในการรับน้ำ ทำให้ทุกคนได้รับน้ำไปใช้เพาะปลูกอย่างเป็นธรรม” นายลวด กล่าว
ส่วน นายวุฒิภัทร คุณปิติชลธร เยาวชนคนรุ่นใหม่ดีกรีวิศวกร ที่มีความสนใจมาทำการเกษตรในรูปแบบใหม่ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ด้วยการพัฒนาพื้นที่เพื่อทำประโยชน์ที่ไม่ลงทุนเกินตัว และใช้ประโยชน์จากพื้นที่แบบเกื้อกูลไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ระหว่างคนกับธรรมชาติ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ประโยชน์สู่ชุมชน กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำพระปรงฯ โดยพัฒนาแปลงเพาะปลูกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยเฉพาะการทำนาที่สามารถทำได้ทั้งนาปรังและนาปี ควบคู่กับการปลูกป่าในพื้นที่ด้วยวิธีอิงธรรมชาติใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่น เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตมีการผลัดใบทับถมพื้นที่ ฝนตกก็ชะล้างวัตถุอินทรีย์ลงสู่ที่ต่ำคือทุ่งนาทำให้ต้นข้าวมีปุ๋ยธรรมชาติชั้นดีไว้บำรุง ไม่ต้องลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้ พร้อมพัฒนาแปลงปลูกข้าวเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีร้านจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นและบริการอาหารเครื่องดื่ม ที่ผู้สนใจสามารถเดินทางมาเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี
“การจัดร้านและโดยรอบของพื้นที่จะดำเนินการตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง ร.9 มีการปลูกป่า ให้ป่ามีระบบนิเวศที่เกื้อกูลกัน ในนาสร้างคลองใส้ไก่เลี้ยงปลา ให้คลองเป็นที่ดักน้ำเวลาน้ำมากเก็บน้ำไว้ในคลองสร้างสะพานทางเดินชมทุ่งนา ถึงฤดูแล้งนำน้ำในคลองมารดต้นไม้ เมื่อเกี่ยวข้าวจะเอาฟางข้าวมาเป็นอาหารปลาในคลองใส้ไก่ ผลผลิตที่ได้แบ่งปันกับคนที่มาทำงานในพื้นที่ รวมไปถึงชุมชน” นายวุฒิภัทร กล่าว
สำหรับพื้นที่จังหวัดสระแก้วนั้น มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 104 โครงการ ประกอบด้วย ด้านแหล่งน้ำ 82 โครงการ ด้านการเกษตร 2 โครงการ ด้านการส่งเสริมอาชีพ 2 โครงการ ด้านสิ่งแวดล้อม 1 โครงการ ด้านคมนาคมและสื่อสาร 1 โครงการ ด้านสวัสดิการและการศึกษา 10 โครงการ และด้านบูรณาการและ อื่น ๆ 6 โครงการ โดยในปี 2561 – 2562 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานสนองพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎร จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงทำนบดินอ่างเก็บน้ำห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการปรับปรุงคลองยุทธศาสตร์โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาสารภีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอ่างเก็บน้ำแซร์อออันเนื่องมาจากพระราชดำริ