“กศน. เปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย เพื่อสร้างความเจริญงอกงามให้กับบุคคลและสังคม นอกจากมีผู้เรียนในหลักสูตรการศึกษานอกระบบแล้ว ยังมีผู้รับบริการหลักสูตรระยะสั้นเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การอบรมในวันนี้จึงได้รับความสนใจจากประชาขนในพื้นที่จำนวนมาก เพราะเป็นเรื่องที่นำไปใช้ได้ เกิดประโยชน์จริง พื้นที่น้อยก็ทำได้ ไม่ต้องใช้แรงงานมาก หลายคนที่เคยเข้าอบรมแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ได้นำไปใช้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี” ผอ.สรัญญา นิยมไทย หญิงแกร่งแห่ง กศน.อำเภอสทิงพระ ได้ให้ข้อมูลว่า เธอเองเป็นผลผลิตจาก ม.ทักษิณ นอกจากจะได้รับการปลูกฝังแนวคิดการบริหารองค์กรแล้ว ยังได้รับความเมตตาจากสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ ม.ทักษิณ เป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มพัฒนาหลักสูตร ถ่ายทอดความรู้ นำศึกษาดูงานในชุมชน และร่วมติดตามผล เมื่อพบว่ามีหลายคนได้นำไปใช้ได้ผล ก็ยิ่งทำให้มีกำลังใจและดีใจที่ได้ร่วมงานสถาบันที่ศึกษา
กศน.สทิงพระ จัดอบรมเพื่อปรับกระบวนทัศน์การใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับประชาชน ใน 11 ตำบลของอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ บทเรียนจาก สถานการณ์โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าหากเราสามารถพึ่งพาตนเองได้จกการมีอาหารเพียงพอในครัวเรือน ส่วนที่เหลือสร้างรายได้ ในช่วงเวลาดังกล่าวเราอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเดือนร้อนมากนัก ดังนั้นในการจัดอบรมครั้งล่าสุด 10-11 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา จึงได้เห็นภาพคนหลายวัยหลายอาชีพเข้ามาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตร ICOFIS ซึ่งใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นจากธรรมชาติที่สมบูรณ์บนผืนป่าเขาบรรทัดที่สถาบันปฏิบัติการชุมชนฯ ได้คัดเลือกมา จึงใช้ชื่อย่อของสถาบัน (ICOFIS) เป็นชื่อสูตรปุ๋ย หลายปีที่ผ่านมาได้เผยแพร่การผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรนี้ไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่ม ทั้งในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา ติดตามผลการใช้งานจนมีความมั่นใจในคุณภาพ มีการจัดอบรมหลักสูตรการปลูกผักอินทรีย์วิถีพอเพียง โดยใช้ถุงปลูกแสนดี ผลิตภัณฑ์จากบริษัทไทยฟอร์โมซาพลาสติกอินดัสทรี จำกัด ภาคเอกชนที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่ได้ใช้นวัตกรรมยืดอายุการใช้งานถุงปลูกได้นาน 5-8 ปี ซึ่งสะดวกต่อการปลูกในพื้นที่จำกัด และแก้ปัญหาดินบริเวณบ้านไม่ดีไม่เหมาะกับการปลูกพืช เช่น ดินทราย โดยเฉพาะชุมชนริมทะเล หรือบริเวณบ้านเป็นดินถมมีแต่ก้อนกรวดก้อนหิน อีกทั้งหากพื้นดินแฉะชุ่มน้ำในช่วงฝนตกหนักก็สามารถเคลื่อนย้ายไปวางตำแหน่งอื่นได้ ประชาชนที่เข้ารับการอบรมจึงได้ทั้งความรู้ เมล็ดพันธุ์-ต้นกล้าผัก พร้อมถุงปลูก และปุ๋ยอินทรีย์ ICOFIS ผลงานจากการเรียนรู้กลับบ้านไปด้วย บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสนุกสาน แม้สภาพอากาศไม่ค่อยเป็นใจ มีฝนตกหนักในบางช่วงก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคของการเรียนรู้แต่อย่างใด
คุณลุงสายัณห์ พันธุ์มณี ข้าราชการบำนาญวัย 67 ใช้พื้นที่ 1 ไร่ที่บ้านปลูกมะม่วง มะละกอ พืชผักพื้นบ้านทั้งกินและแบ่งปันเพื่อนบ้านเล็กๆน้อยๆ “ลุงได้รับการแนะนำให้มาร่วมกิจกรรมกับ กศน. จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย ปกติที่บ้านจะใช้ขี้วัวเป็นหลักแต่ก็ยังมีปุ๋ยเคมีเสริมบางช่วง จากนี้ก็จะเริ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ดูบ้าง ต้องทำเองให้ได้ผลดีก่อนจะได้ชักชวนคนอื่นได้”
คุณยากลิ่น นิคมจิต วัย 84 ที่ยังดูแข็งแรงอยู่มาก แม้จะหันมาเย็บใบจากใบตาลโตนดแทนการทำสวนด้วยข้อจำกัดด้านวัย ก็ยังคงมีเรี่ยวแรงปลูกผักเล็กๆน้อยๆทานเองในครัวเรือน คุณยายเข้าอบรมกับ กศน. เป็นวันที่สี่แล้ว เป็นตัวอย่างที่ดีของการเรียนรู้ตลอดชีวิต “อยู่บ้านทำไม กินแล้วนอน เดี๋ยวจะอ้วน โรคภัยถามหา….นี่ยายไม่มีโรคอะไรเลยนะ” คุณประพันธ์ เพชรสุวรรณ เป็นเกษตรกรอีกผู้หนึ่งที่มีความสนใจทำการเกษตรบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เสาะแสวงหาความรู้ แม้จะศึกษาดูงานมาแล้วหลายพื้นที่ ก็ยังไม่หยุดที่จะเข้ามาเรียนรู้ด้วยความรู้สึกชื่นชมการทำงานของ กศน.และ มหาวิทยาลัย ได้มอบข้าวโพดฝักงามอวบงาม ผลผลิตอินทรีย์จากน้ำพักน้ำแรงเพื่อเป็นกำลังใจให้กันและกัน “เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง” คุณประพันธ์กล่าว
ครูดารารัตน์ รอดผล กศน.ตำบลคลองรี เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ได้นำองค์ความรู้ไปใช้ จนเกิดเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้และความสุขทางใจ “เราใช้เวลาไม่มากนักช่วงก่อนเข้าทำงานและหลังเลิกงานปลูกสิ่งที่ชอบกิน คือผักสลัด มีผลผลิตไม่มากแต่ก็เหลือ ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ขายได้ จึงทำเป็นสลัดโรลขายใช้ผักไม่มาก คนก็นิยมสั่งซื้อ เค้าเห็นเราโพสต์ปลูกผักโชว์ผักใน FACEBOOK ทุกวันๆ เพราะเรามีความสุข ได้เห็นการงอกงามแล้วมีความสุข… พอวันหนึ่งเราจะขายสลัดผักที่ปลูกเอง ก็มีคนสนใจ น้ำสลัดก็ทำเอง ปลอดภัย เพื่อนๆคนรู้จักก็สั่งซื้อ ขายได้ทุกวันมีความสุข มีรายได้ด้วย” ทุกวันนี้ดารารัตน์มีรายได้เสริมจากสิ่งที่เธอรักทุกวันๆ เงินรายได้สามร้อยบาทต่อวันอาจจะดูไม่มาก แต่ความสุขนั้นมากนัก
“เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การท่องจำ แต่เป็นวิถีที่มุ่งให้เกิดความสุขในชีวิต เบื้องต้นเราต้องมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้หมายถึงมีบ้านใหญ่โต แต่คือการมีพอกิน ไม่มีหนี้สิน เราจะทำเกษตรอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้ ทำอย่างไรให้มีสุขภาพที่ดี ทุกวันนี้คนเป็นมะเร็งกันมากทั้งสังคมเมือง สังคมชนบท เพราะในวิถีชีวิตเราเต็มไปด้วยสารพิษ เราจึงควรปลูกผักกินเองในครัวเรือน หลีกเลี่ยงสารเคมีตั้งแต่ต้นทางโดยทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง จึงเชิญชวนพี่น้องมาลงมือ กุศลก็จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อเลิกใช้สารเคมีก็เท่ากับไม่เอาสารพิษลงสู่แม่ธรณี ไม่ปล่อยสารพิษสู่แม่คงคา ที่สำคัญคือขอให้ลงมือทำพิสูจน์ด้วยตนเอง เหมือนคำกล่าว ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งลงมือทำ” อาจารย์ ดร.เปลื้อง สุวรรณมณี ผอ.สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ กล่าวกับผู้เข้ารับการอบรม
สำหรับประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอสทิงพระที่สนใจผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ICOFIS เพื่อการพึ่งพาตนเอง สามารถติดต่อศูนย์ กศน.อำเภอสทิงพระ เพื่อขอความรู้และหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อนำไปขยายต่อได้ หรือหากต่างพื้นที่ต้องการรับบริการองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง สามารถรวบรวมกลุ่มเกษตรกรผู้สนใจขอรับบริการ ติดต่อได้ที่สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ หรือช่องทางเว็บไซต์ http://icofis.tsu.ac.th/ หรือส่งอีเมล์ icofis@gmail.com