เกษตรฯ เปิด Roadmap แผนปฏิบัติการพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570
เกษตรฯ เปิด Roadmap แผนปฏิบัติการพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยหลังการสัมมนาเชิงปฏิบัติการบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 – 2570 ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันผลไม้ไทยนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 45,613 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผลไม้เศรษฐกิจหลัก 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่ เพื่อผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้า

เกษตรฯ เปิด Roadmap แผนปฏิบัติการพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570
นายทวี มาสขาว

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) จัดการสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อมูลและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 – 2570 หรือยุทธศาสตร์การพัฒนาผลไม้ไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565 – 2570) ให้ครอบคลุมสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่การจัดการผลิต และผลิตไม้ผลคุณภาพสู่ผู้บริโภค รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาการตลาดสินค้าผลไม้ที่มีมายาวนานต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาผลไม้ไทยในส่วนกลาง ระดับเขต และระดับจังหวัดของกรมฯ ตลอดจนหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้บูรณาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงข้อมูลด้านการพัฒนาผลไม้ไทยร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ไทยในอนาคต

เกษตรฯ เปิด Roadmap แผนปฏิบัติการพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570สำหรับ Roadmap แผนปฏิบัติการพัฒนาผลไม้ไทยใน 5 ปีข้างหน้า ช่วงปี 2565-2570 ได้วางยุทธศาสตร์ไว้ 5 ด้าน คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการผลไม้ในการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าไม้ผล โดยมีกลยุทธ์/กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการผลไม้ในการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพผลไม้ทั้งในและนอกฤดู การผลิตตามเขตความเหมาะสม (Zoning) สอดคล้องตามฤดูกาล การผลิตผลไม้คุณภาพตามแหล่งกำเนิดภูมิศาสตร์ (GI) และไม้ผลอัตลักษณ์ ศึกษาปริมาณผลผลิตและการกระจายผลผลิตสู่ตลาด การเฝ้าระวังและพัฒนาการเตือนภัยพิบัติด้านการเกษตร เป็นต้น 2) เพิ่มศักยภาพการผลิตด้วยการยกระดับมาตรฐานสินค้าไม้ผลเพื่อการส่งออก เช่น ส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ 2.พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดไม้ผลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ 1) พัฒนาการตลาดไม้ผลในประเทศ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพของตลาดกลางในแหล่งผลิต การรวบรวมผลผลิตและจำหน่ายผ่านสถาบันเกษตรกร การกระจายสินค้าไปยังจังหวัดนอกแหล่งผลิต กำกับดูแลการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ สร้างช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่และระบบตลาดออนไลน์ 2) พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดไม้ผลในต่างประเทศ เช่น อำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนในการดำเนินงานศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ การเปิดตลาดใหม่ การรักษาและขยายตลาดเดิม แก้ไขปัญหากฎหมายระเบียบส่งออก/นำเข้า 3) สร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูป 4) ส่งเสริมการบริโภคผลไม้และการประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ 5) พัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการผลิตและการตลาดไม้ผล ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพผลผลิต เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ พฤติกรรมการบริโภคผลไม้ รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการและการใช้ประโยชน์ของผลไม้ 3.สร้างความเข้มแข็งและความเสมอภาคให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรไม้ผล ได้แก่ การจัดตั้งกลุ่มและสร้างเครือข่าย พัฒนาเกษตรกรที่มีศักยภาพ เช่น Smart Farmer และ Young Smart Farmer ให้สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ 4. บริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตผลไม้ครบวงจร ได้แก่ 1) บูรณาการหน่วยงานร่วมปรับปรุงและจัดทำข้อมูลการผลิตและการตลาดผลไม้ เน้นพัฒนาฐานข้อมูลด้านการผลิตการตลาดให้ครอบคลุมผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญ 2) ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตสู่การผลิตผลไม้ครบวงจร เช่น บริหารจัดการผลผลิตแบบป้องกันความเสี่ยงโดยใช้การตลาดนำการผลิต และ 5. พัฒนาเครือข่ายการส่งออกและระบบโลจิสติกส์ ได้แก่ สนับสนุนการดำเนินงานของผู้ส่งออก โดยภาครัฐให้การสนับสนุนศูนย์รวบรวมสินค้าในต่างประเทศ สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการขนส่ง สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย ในการผลักดันการส่งออก ส่งเสริมระบบตรวจสอบย้อนกลับ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับการจำหน่ายในระบบตลาดออนไลน์ เป็นต้น

เกษตรฯ เปิด Roadmap แผนปฏิบัติการพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570ทั้งนี้ มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาผลไม้เศรษฐกิจทั้ง 7 ชนิด โดยค่าเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ราคาต้องไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เพิ่มผลตอบแทนและมีกำไรสุทธิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาท/ไร่ ในปี 2565 เป็น 17,600 บาท/ไร่ ในปี 2570 พร้อมเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูปให้เติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และการพัฒนาคุณภาพที่ได้มาตรฐาน GAP ต้องสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของแปลงที่ขอการรับรอง

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated