ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ยุค 4.0 เทคโนโลยีทุกอย่างอยู่บนมือถือทำให้ทุกคนเข้าถึงความรู้และการสื่อสาร ทั้ง Facebook ,Twitter เข้าสู่ยุคสื่อสารออนไลน์ ยุคของการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วย หลังจากลงพื้นที่ทำการศึกษาวิจัยในจังหวัดชุมพร นครปฐม ระยอง และสระบุรี พบข้อมูลงานวิจัยที่น่าสนใจ และเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงจากโควิด-19 จึงมีคำแนะนำมาช่วยส่งเสริมและเพิ่มกลยุทธ์ ทำการตลาดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรออนไลน์ให้แก่เกษตรกรรายย่อย
รูปแบบการขายสินค้าเกษตรออนไลน์ เกษตรกรรายย่อย หรือ เจ้าของสวนต้องมีการปรับเปลี่ยน ตามยุคสมัย ซึ่งก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 มีการขายสินค้าเกษตรออนไลน์เพียง 10% โดยเริ่มจาก 1) เกษตรกรแต่ละสวนต้องสร้างเพจขึ้นมา และเปิดเป็นร้านของตัวเอง 2) ต้องผลิตและขายสินค้าเฉพาะเกรดพรีเมี่ยมเท่านั้น เพื่อเอาใจลูกค้าไว้ก่อน 3) นำเสนอสวนเกษตรของตัวเอง เล่าเรื่องในสวนให้ลูกค้าฟัง และพยายามสื่อสารกับลูกค้าเพื่อสร้างความผูกพัน ซึ่งสังคมใน Facebook จะช่วยให้ขายของได้ เช่น วันนี้ สอยมังคุดสด ๆ จากต้น แล้วนำมาบรรจุใส่กล่อง วันรุ่งขึ้นส่งถึงลูกค้า 4) เชิญชวนไปเยี่ยมสวนลักษณะท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แสดงที่ตั้งสวนชัดเจนซึ่งช่องทางออนไลน์สามารถแชร์ต่อได้ ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 5) สร้างไลน์ช่องทางการติดต่อ นัดรับของ ซึ่งทำให้ลูกค้าซื้อของได้ง่าย 6) ผลิตภัณฑ์มีอายุยาว สามารถขนส่งได้และมีบรรจุภัณฑ์ที่ดี เช่น ทุเรียน สามารถบอกได้ว่า กี่วันสุกแบบกรอบนอกนุ่มใน และกี่วันสุกรับประทานได้
ดร.สุวรรณา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้การขายสินค้าเกษตรออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลาย ๆ ด้านประกอบกัน อาทิ มีความอดทนต่อการเรียนรู้ในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ต้องขายตามแพลทฟอร์มที่กำหนด ทำตามกฎกติกา และอดทนกับลูกค้า ซึ่งจะดูสินค้าและมีการเปรียบเทียบราคา มีการแข่งขัน ต้องเข้าใจในความต้องการของลูกค้า จำลูกค้าให้แม่น ทำฐานข้อมูลลูกค้าของเราเอง เป็นต้น
ดังนั้น เกษตรกร หรือ เจ้าของสวนที่ต้องการขายสินค้าทางการเกษตรออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จเป็นอาชีพที่ยั่งยืนสืบต่อไปจนถึงรุ่นลูก-หลาน เจ้าของสวนต้องคำนึงถึง 3 สิ่งนี้เป็นหลัก 1) ความจริงใจและซื่อสัตย์ ขายผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ ลูกค้ามั่นใจมีการบอกต่อจะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 2) บอกราคาชัดเจน บอกช่องทางการติดต่อ รวมถึงช่องทางการจ่ายเงิน เลขที่บัญชี ภาพสินค้า ข้อความ และแสดงแหล่งที่มา ทุกอย่างให้ชัดเจน 3) สร้างความประทับใจด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ดีมีคุณภาพ หากส่งไปรษณีย์ ให้หมายเลข Tracking และติดตามสอบถามว่าได้รับสินค้าหรือยัง
ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องให้โอกาสเกษตรกร เพราะไม่ใช่พ่อค้ามืออาชีพ สินค้าทางการเกษตร จะเปลี่ยน ไปตามสภาพภูมิอากาศ ให้โอกาสในการพัฒนาและเรียนรู้ในการผลิตสินค้า คุณภาพระดับพรีเมี่ยม เพื่อเสิร์ฟคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กันทั้งสังคม
เกษตรกร และผู้สนใจ ขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทรศัพท์ 0 2942 8650 – 51 ต่อ 109