วันอังคารที่ 29 กันยายน 2563 เวลา 09.30 น. ณ ท่าเทียบเรือศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง นางมาลินี สมิทธิ์ฤทธี เลขาธิการศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วยเจ้าหน้ากรมประมงและ SEAFDEC ร่วมให้การต้อนรับเรือ “ปลาลัง” เรือที่จะนำมาปรับปรุงเครื่องมือทำการประมงช่วยลดแรงงาน ลดต้นทุนการประกอบอาชีพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะพัฒนาเป็นเรืออวนลากต้นแบบ
นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พิธีรับเรือ “ปลาลัง” ในวันนี้ เป็นความร่วมมือของศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ในการจัดซื้อเรือ “ปลาลัง” เพื่อทดแทนเรือปลาลัง 1 (เดิม) ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานกว่า 28 ปี และอยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยเรือดังกล่าว SEAFDEC จะนำมาพัฒนาปรับปรุงเป็นเรืออวนลากต้นแบบ ภายในปี 2563 – 2564 ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกรมประมง และรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้ชื่องบประมาณ Japanese Trust Fund ในหัวข้อโครงการ Responsible Fishing Technology and Practice
สำหรับเรือ “ปลาลัง” ลำดังกล่าว มีขนาด 44.99 ตันกรอส จอดเทียบท่าอยู่ที่จังหวัดปัตตานี เดิมเป็นเรือทำประมงอวนล้อมจับ แต่จะนำมาปรับปรุงใหม่เป็นเรือประมงอวนลาก ให้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาปรับปรุงเครื่องมือทำการประมงเพื่อลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการใช้พลังงานเชื่อเพลิงอย่างคุ้มค่า ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบต่อแหล่งทำการประมงและสิ่งแวดล้อม (Low Impact and Fuel Efficient (LIFE Fishing) ซึ่งการปรับปรุงจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นอยู่และสุขอนามัยที่ดีของลูกเรือบนเรือประมง เสริมสร้างความปลอดภัยและการทำงานในทะเล การส่งเสริมและให้ความสำคัญในด้านการเก็บรักษาคุณภาพสัตว์น้ำบนเรือประมง ทั้งแบบสดและแบบมีชีวิต (Fresh & Alive) อย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อให้สัตว์น้ำที่จับได้สามารถคงความสด ลดการสูญเสีย และขายได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่จับได้อย่างคุ้มค่า และที่สำคัญคือการพัฒนาเครื่องมือให้สามารถลดการใช้แรงงานบนเรือประมงอวนลาก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการประมงได้….รองอธิบดีกรมประมง กล่าว