นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ สศก. ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ได้ร่วมกับ ทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ และดำเนินการทบทวนสาระสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ปรับเปลี่ยนไปสู่แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2565 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในการจัดทำแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาตินั้น
ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ได้ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ 2560 – 2564 เป็นแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560 – 2565 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าว มีเป้าหมายอัตราการขยายตัวของมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย ภายในปี 2565 มีประเด็นการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ ประเด็นการพัฒนาที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาฐานข้อมูล และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ประเด็นการพัฒนาที่ 2 พัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ ประเด็นการพัฒนาที่ 3 พัฒนาการตลาด การบริการ และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
สำหรับปีงบประมาณ 2564 รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยังคงบูรณาการขับเคลื่อนด้านเกษตรอินทรีย์กับกระทรวงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนการดำเนินงานมากกว่า 200 โครงการ งบประมาณ 1.9 พันล้านบาท ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า การส่งเสริมการบริโภคเกษตรอินทรีย์ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก อาทิ โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อขยายการบริโภคเกษตรอินทรีย์ให้โรงพยาบาล และสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งในปี 2560-2562 ได้ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรวม 896 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งจำนวน 780 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการขยายการบริโภคเกษตรอินทรีย์ไปยังกลุ่มโรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการอาหารกลางวันปลอดภัย ปลอดสารพิษ ป้องกันโรคให้แก่นักเรียน และจะยังคงเดินหน้าขยายผลไปยังกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งโรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหาร ตลอดจนการส่งเสริมเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ และเปิดตลาดสีเขียวขายผักปลอดภัยในสถานที่ต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2560-2564 (1 ล้านไร่) เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และขยายพื้นที่การผลิตข้าวให้ได้การรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ Organic Thailand โดยในช่วงที่ผ่านมา 2560-2562 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 5,818 กลุ่ม เกษตรกร 130,082 ราย รวมพื้นที่ 1.21 ล้านไร่ มีเกษตรกรผ่านเกณฑ์ประเมินแล้ว 4,873 กลุ่ม เกษตรกรจำนวน 103,492 ราย พื้นที่ 0.922 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน 4,034 กลุ่ม 85,762 ราย 0.74 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ได้รับรองการผลิตข้าวอินทรีย์ จำนวน 839 กลุ่ม 17,730 ราย ในพื้นที่ 0.182 ล้านไร่
ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมกันส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยการอุดหนุนและหันมาบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยให้หันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์แล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพ และสมดุลของทรัพยากรในระบบนิเวศโดยรอบ อีกทั้ง ตลาดเกษตรอินทรีย์ ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจจากแนวโน้มและความนิยมของทั่วโลก โดยมีมูลค่าตลาดโลกสูงถึงปีละ 3.55 ล้านล้านบาท และขยายตัวต่อเนื่องทุกปี โดยปัจจุบัน ไทยมีมูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์ ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยเป็นการบริโภคในประเทศ 900 ล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 2,100 ล้านบาท ซึ่งไทยยังได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน มีความพร้อมทางภูมิศาสตร์และโลจิสติกส์ สามารถยกระดับสู่ผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ของภูมิภาคอาเซียนได้