บ้านอ่างเตย หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอท่าตะเกียบ ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดฉะเชิงเทราประมาณ 75 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากบ้านหนองปรือกันยาง หมู่ที่ 5 ตำบลท่าตะเกียบ กิ่งอำเภอสนามชัยเขต เมื่อปี พ.ศ.2536 และเนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านนี้ มีลักษณะเป็นอ่าง เมื่อนำมารวมกับความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเตยป่าที่ขึ้นอยู่ในลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงพากันเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า “บ้านอ่างเตย” มาจนถึงปัจจุบัน
ประชาชนในหมู่บ้านอ่างเตยส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสานตอนล่าง เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ การดำเนินชีวิตในปัจจุบันเน้นหลักของความพอประมาณพึ่งพาตนเอง มีกิจกรรมลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน เช่น การปลูกผักไว้กินภายในครัวเรือน และสามารถขยายได้ในรูปของกลุ่ม มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้รู้รายรับ-รายจ่าย นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง มีการรวมกลุ่มบริหารจัดการทุนในชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่นการจัดตั้งกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกไผ่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย เป็นต้น
สำหรับผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่โดดเด่น ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ไม้กวาดดอกหญ้า หน่อไม้ไผ่ตง ผักปลอดสารพิษ ปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม สบู่ ยางพารา และผลไม้ เช่น กล้วย มะม่วง ขนุน สัปปะรด เป็นต้น
“โส๊ดละออ” แปลว่า ผ้าไหมผืนสวย
จากการที่ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนแห่งนี้อพยพมาจากภาคอีสานตอนล่าง ภูมิปัญญาแห่งการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และการทอผ้าไหม ที่สั่งสืบทอดมาอย่างยาวนาน จึงถูกนำมาถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตในชุมชนแห่งนี้ ด้วยภูมิปัญญาและฝีมือจากความทุ่มเท จึงทำให้บ้านอ่างเตยกลายเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมคุณภาพบนวิถีแห่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตเส้นไหม และการทอผ้าไหม อันเป็นเอกลักษณ์
ที่สำคัญ ยังได้นำไปสู่การรวมกลุ่มครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ในนาม กลุ่มทอผ้าไหมบ้านอ่างเตย และในช่วงนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่ยังอยู่ในความทรงจำของทุกคน คือ การได้มีโอกาสทูลเกล้าฯถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอท่าตะเกียบเพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผ้าไหมบ้านอ่างเตยได้นำผลงานเข้าไปแสดงในสวนจิตรลดา
ต่อมาได้มีการยกระดับการดำเนินงานของกลุ่ม ด้วยการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ในนาม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
ด้วยการเข้ามาส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องของกรมหม่อนไหม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ที่มี นางสาวลำแพน สารจันทึก เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ฯ และมีพื้นที่รับผิดชอบดูแลใน 10 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดสระบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และนครนายก และได้ดำเนินงานตามนโยบายของกรมหม่อนไหมตาม แผนปฏิบัติราชการทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าหม่อนไหมให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดสินค้าหม่อนไหมในระดับนานาชาติ ยกระดับงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านหม่อนไหม และเสริมสร้างองค์กรให้มีสมรรถนะสูง ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตยมาอย่างต่อเนื่อง และได้กลายเป็นหนึ่งในต้นแบบความสำเร็จ ผืนผ้าที่ผลิตจำหน่ายภายใต้ แบรนด์ “โส๊ดละออ” ซึ่งแปลว่า ผ้าไหมผืนสวย ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศเป็นอย่างดี
สำหรับ ผ้าไหม โส๊ดละออ เป็นผ้าที่มาจากการทอด้วยความใส่ใจของเหล่าสมาชิก โดยรูปแบบของผ้าไหมที่ทอมีทั้งผ้าพื้นและผ้าลาย มีหลายแบบหลายขนานให้เลือก สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายตามต้องการ รวมทั้งตัดเป็นชุดสวมใส่ได้สวยงาม
นางสาวลำแพน สารจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย มีสมาชิก 63 ราย มีการเลี้ยงไหมพันธุ์ J 108 x นางลายสระบุรี จำนวน 8 – 10 รุ่น ต่อปี อีกทั้งสามารถผลิตเส้นไหมผ่านการรับรองมาตรฐาน มกษ.5900-2559 และมาตรฐาน มกษ.8000-2555 ประมาณ 400-600 เมตร/ปี
นอกจากนี้ยังสามารถผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีทอง สีเงิน สีน้ำเงินและสีเขียว ปีละ 400 – 500 เมตร และนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าถุง ผ้ามัดหมี่ ผ้าพื้นและเส้นไหมดิบ
จากการผลิตที่เน้นคุณภาพเป็นหลัก จึงทำให้แบรนด์ “โส๊ดละออ” ได้รับการตอบรับจากตลาดผู้นิยมผ้าไหมเป็นอย่างดี สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน ถึงเดือนละ 150,000 – 200,000 บาท หรือประมาณปีละ 1.5 – 2 ล้านบาท
ด้วยความทุ่มเทและใส่ใจของเหล่าสมาชิก ด้วยการเข้ามาช่วยส่งเสริม พัฒนาและสนับสนุนอย่างเต็มที่ของกรมหม่อนไหม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี จึงทำให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย มีผลงานที่โดดเด่น และได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ศ. 2559 รางวัลชมเชย “วิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ” พ.ศ. 2562 ผ้าขาวม้าไหม ได้รับคัดเลือก เป็นผลิตภัณฑ์ระดับสี่ดาว ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ รวมถึง ผ้าคลุมไหล่ ได้รับคัดเลือก เป็นผลิตภัณฑ์ระดับสามดาว ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังได้รับเกียรติบัตร ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านหม่อนไหม ในโครงการคัดเลือกพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่นจากสำนักงานนายกรัฐมนตรี
ก้าวพัฒนาที่บ้านอ่างเตย ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สระบุรี
สำหรับการดำเนินการเข้ามาส่งเสริมและพัฒนาโดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ได้มีอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการต่าง ๆ นั้น ผอ.ลำแพน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ อาทิ
หนึ่ง โครงการตรวจสอบรับรองมาตรฐานหม่อนไหมและผลิตภัณฑ์ กรมหม่อนไหมได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี พ.ศ.2560-2579 ที่มุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตรและความมั่นคงทางด้านอาหาร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานและเพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งพัฒนาระบบการตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้าและกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อันนำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งในด้านการผลิตสินค้าหม่อนตามมาตรฐาน และสร้างโอกาสทางด้านการตลาดให้กับผู้ผลิต
ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมได้มีการตั้งหน่วยตรวจสอบและรับรองเพื่อให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานหม่อนไหมแก่ผู้ขอรับการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่ประกาศโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมาตรฐานหม่อนไหมอื่นๆ ที่หน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้จัดทำ
สำหรับที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ได้เข้ามาตรวจสอบในมาตรฐาน มกษ.5900-2559 และมาตรฐาน มกษ.8000-2555 ซึ่งแต่ละปีทางวิสาหกิจฯ ผลิตเส้นไหมที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มกษ. ประมาณ 400-600 เมตร
สอง โครงการส่งเสริมการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ตามข้อบังคับกรมหม่อนไหม โดยในแต่ละปีเฉลี่ยแล้ว วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย จะสามารถผลิตผ้าไหมที่ได้คุณภาพและผ่านการรับรองตรานกยูงพระราชทาน ประมาณ 400-500 เมตร ซึ่งประกอบด้วย นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) และ นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend)
สาม โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้านหม่อนไหม อันเป็นโครงการที่กรมหม่อนไหมได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรด้านหม่อนไหมและเป็นจุดให้บริการความรู้ด้านหม่อนไหมและพัฒนาอาชีพด้านหม่อนไหมให้คงอยู่สืบไป และเพื่อตามสนองการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับในพื้นที่แห่งนี้ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ได้เข้ามาจัดตั้งศูนย์เครือข่าย ศพก. ด้านหม่อนไหม ขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2563 กำหนดเป้าหมายจัดตั้งศูนย์ใหม่ จำนวน 1 ศูนย์ คือ ศูนย์เครือข่าย ศพก. ของนางวรนุช วงคง (ประธานศูนย์) ตั้งอยู่เลขที่ 133/1 หมู่ 9 บ้านอ่างเตย ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. 089 – 831 – 4733
สี่ โครงการสร้างทายาทหม่อนไหม นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญของกรมหม่อนไหม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ได้เข้ามาดำเนินการสนับสนุนตามโครงการที่โรงเรียนห้วยตะปอก ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และปลูกหม่อนผลสด จำนวน 1.5 ไร่ รวมถึงการสร้างทายาทหม่อนไหมในชุมชน ซึ่งที่บ้านอ่างเตยมีทายาทหม่อนในชุมชนที่ประสบความสำเร็จ คือ นายสุรพงษ์ กระแสโสม อายุ 22 ปี เจ้าของรางวัลทายาทหม่อนไหมในชุมชน ดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2560 อยู่บ้านเลขที่ 43/2 หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 093-0162609
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย คืออีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจในอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของเกษตรกรพื้นที่ภาคตะวันออก ที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ทุกคนทุกฝ่ายของหน่วยงานที่ชื่อ กรมหม่อนไหม..