เรื่อง/ภาพ : ลุงพร เกษตรก้าวไกล
กฎหมายแรงงานในหลายประเทศได้กำหนดให้บริษัทต้องจ้างผู้พิการ โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นกำหนดชัดว่าต้องไม่ต่ำกว่า 2.2 เปอร์เซ็นต์ ใครทำได้มากกว่านี้ถือเป็นเรื่องดี เช่นที่ KUBOTA SUN VEGE FARM สวนผักไฮโดรโพนิกส์(ปลูกผักไร้ดิน) ของบริษัท คูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกิฟุทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของโอซาก้า
โรงงานปลูกผักแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมซึ่งเป็นที่รกร้างกว่า 3,500 ตร.ม. มองผิวเผินจากด้านนอก(มองจากจุดที่รถจอดก็แลเห็นแต่ไกล)ก็เหมือนโรงงาน ต่างกับโรงเรือนปลูกผักที่อยู่ใกล้ๆกัน…
พวกเราเดินลงจากรถบัสผ่านบ้านเรือนของผู้คนในชุมชน บ้านของเขาดูสะอาดตา มีปลูกต้นไม้ดัดแบบญี่ปุ่นกันเกือบจะทุกบ้าน ข้างถนนจะมีคูน้ำเล็กๆไหลผ่าน น้ำของเขาสะอาดมากๆ เดินกันเป็นร้อยเมตร แต่ก็เพลิดเพลินเจริญตา และก็ไปถึงด้านหน้าโรงงาน เจ้าหน้าแจกที่คลุมรองเท้าสีฟ้าให้ใส่กันเพื่อความปลอดภัยต่อพืชผัก
เดินลอดประตู 2 ชั้นเข้าไป เจอด่านแรกเห็นผู้อาวุโสที่เป็นผู้หญิงและทีมงาน 2-3 คนกำลังตัดแต่งผักที่ผลิตได้ เห็นสีหน้าคุณป้าและทีมงานดูมีความสุขมีความตั้งใจมากที่จะส่งมอบพืชผักปลอดภัยให้ผู้บริโภค
จากห้องที่ตัดแต่งผักเราก็เปิดประตูสู่โรงงานปลูกผักที่ดูสวยงามตื่นตาตื่นใจ เราเดินจากประตูตรงไปหยุดที่พื้นที่ตรงกลางเขาจะกันพื้นที่ว่างไว้ส่วนหนึ่งเพื่อให้สามารถนั่งฟังบรรยายหรือซักถามพูดคุยกันนั่นเอง ซึ่งก็เป็นขั้นตอนการจัดการฟาร์มเวลามีผู้คนมาเยี่ยมชม คือให้นั่งฟังก่อนว่าโรงงานผักแห่งนี้เกิดขึ้นมาเพื่อการใด
ที่น่าดีใจคือ เขาจะติดธงชาติไทยผืนใหญ่ไว้ด้านหน้าฝั่งซ้ายตรงที่นั่งฟังบรรยาย เหมือนเป็นการต้อนรับผู้มาเยือนที่มาจากประเทศไทย ซึ่งวันนี้นำทีมโดย คุณสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และผู้ร่วมทีมหลักก็คือสื่อมวลชนนั่นเอง
คุณนาโอโตะ ซาไก ประธานกรรมการบริษัท คูโบต้า ซัน-เวก จำกัด (Kubota Sun-Vege Farm Co. , Ltd.) เล่าให้ฟังว่า พื้นที่สวนจะแบ่งเป็นโรงเรือนขนาด 2,500 ตร.ม. ติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนเพื่อปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ 4 ชนิด ประกอบด้วย ปวยเล้ง กวางตุ้ง ผักกาดใบ และผักสลัด เป็นการปลูกตามมาตรฐานผักปลอดภัยของญี่ปุ่น ปริมาณการผลิตในปีที่ผ่านมาคือ 27 ตัน ตั้งเป้าว่าในปีนี้(2563)จะเพิ่มเป็น 50 ตัน ผลผลิตส่วนใหญ่จะมีทั้งส่งไปขายให้โรงอาหารของบริษัทฯ ตามซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงจำหน่ายให้พนักงานและผู้คนในชุมชน ซึ่งจะขายในราคาถูกกว่าที่ส่งไปจำหน่ายถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยเชียว
ในส่วนแรงงานรวมถึงเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโรงงานผักแห่งนี้ จะเป็นผู้คนในชุมชนกว่า 40 ชีวิต “เราต้องการอยู่ร่วมกับสังคม ภายใต้วิสัยทัศน์ For Earth, For Life” เน้นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่รอบฟาร์ม มีพนักงานอาวุโสคนหนึ่งอายุ 80 ปี แต่ยังทำงานอย่างขยันขันแข็ง นอกจากนี้อีก 15-16 คนยังเป็นผู้พิการ (ส่วนมากจะมีอาการออทิสติก-พิการทางสมอง) ที่ฝึกฝนและเรียนรู้การทำงานในโรงงานผักแห่งนี้ได้อย่างดี
หัวใจของการปลูกผักจะให้ความสำคัญทุกขั้นตอน โดยเฉพาะขั้นตอนการเพาะเมล็ดพันธุ์ผักที่ผู้จัดการฟาร์มได้พาพวกเราไปชมอย่างใกล้ชิด เขาจะแบ่งหน้าที่กันอย่างลงตัว เราได้เห็นพนักผู้หญิงอาวุโสกำลังหยอดเมล็ดผักลงบนแผ่นโฟม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ละเอียด ต้องใช้เวลาและมีสมาธิอันแน่วแน่ หลังหยอดเสร็จพนักงานผู้ชายก็พาแผ่นโฟมไปแช่น้ำด้วยวิธีการรีดอากาศออกจากโฟม ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาที่นำมาใช้ได้ผลดี
พอจบขั้นตอนนี้ก็ปล่อยให้ผู้ศึกษาดูงานอิสระ คือใครจะช่วยปลูกผักก็จะแบ่งพื้นที่ให้ปลูกส่วนหนึ่ง ใครจะเก็บภาพถ่ายหรืออยากได้อยากคุยเพิ่มเติมกับผู้จัดการฟาร์มก็เชิญตามสะดวก
ที่สำคัญที่สุดพอจบการเดินชมทุกคนก็จะมายืนอยู่ที่จุดเดิม เพราะว่าเขาขนผักสลัดที่ปลูกมาให้ชิมกันอย่างออกรสชาติ ..รสชาติที่ว่าคือผักกรอบอร่อยมากๆ นับว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ศึกษาดูงานทุกคน
อนึ่ง ในวันดังกล่าวนั้น “เกษตรก้าวไกล” ได้ LIVE สดให้ชมกับไปพอหอมหอมคอบ้างแล้ว (ใครที่ยังไม่ได้ชมก็คลิกไปที่ https://www.facebook.com/watch/?v=779171842596814) พร้อมใช้เวลาส่วนหนึ่งมาถ่ายเป็นคลิป ดังที่ทุกท่านจะได้ชมต่อไปนี้ https://youtu.be/G-NXYLyDZ5A ขอเรียนย้ำว่าผู้ถ่ายได้ใช้เวลาอันไม่มาก แต่ก็พยายามเก็บเกี่ยวสาระสำคัญของโรงงานปลูกผักมาให้ได้มากที่สุด
ทั้งหมดนี้ เพื่อต้องการให้ผู้สนใจปลูกผักคนไทยได้ดูกันเพลินๆ หรือดูเป็นแนวทางสร้างพลังใจที่จะเริ่มปลูกผักจะปลูกกินเองหรือปลูกขายในชุมชนก็ว่ากันไป และระบบการปลูกผักในโรงงานหรือโรงเรือนดูเหมือนว่าผู้คนสนใจกันมาก เพราะโลกของเรามีภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การหลบมาปลูกในโรงเรือนที่ควบคุมด้วยเทคโนโลยี “เกษตรอัจฉริยะ” หรือปลูกแบบ “เกษตรแม่นยำ” จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ส่วนการลงทุนจะสูงหรือไม่ จุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน ปลูกแล้วขายใคร ก็ขอให้ทุกท่านใคร่ครวญกันดูนะครับ