จังหวัดอ่างทองเปรียบเสมือนเมืองหลวงของนกกระทา เพราะว่าเป็นจังหวัดที่มีฟาร์มเลี้ยงนกกระทาที่ใหญ่ที่สุด และหนึ่งในนั้นก็คือ “วีระพงศ์เจริญฟาร์ม” ที่ไม่ได้แค่ใหญ่อย่างเดียว แต่ยังถือว่าเป็นฟาร์มที่ทันสมัยที่เลี้ยงนกกระทาในระบบโรงเรือนปิด(Evap) แบบเดียวกับการเลี้ยงไก่ และเมื่อฟังแนวคิดการพัฒนาของผู้บริหารพบว่าจะไม่หยุดแค่นั้น
“ภายในเวลา 2 ปี เราจะขยายระบบการเลี้ยงเป็นแบบออโต คือใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมสั่งการเพื่อทดแทนแรงงานคนที่มีปัญหาในธุรกิจนี้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเก็บไข่นก การให้อาหารนก การเก็บขี้นก ฯลฯ เราคาดว่าภายใน 2 ปี ระบบตรงนี้จะสำเร็จ ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต และจะทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศเวียดนามหรือประเทศอื่นใดในโลกนี้ได้” คุณระวีพงศ์ วีระพงศ์ ประธานผู้บริหารบริษัท วีระพงศ์เจริญฟาร์ม จำกัด กล่าว
คุณวีระพงศ์ ย้อนอดีตให้ฟังว่ากิจการฟาร์มเลี้ยงนกกระทาก่อตั้งฟาร์มมาร่วม 3 ทศวรรษ โดยเริ่มต้นจากคุณพ่อของตนเอง ที่เริ่มต้นจากทำนกกระทาชำแหละในระบบครอบครับและขยายมาเลี้ยงนกกระทาแบบบ้านๆ และมาสู่รุ่นตน และรุ่นลูกที่ได้พัฒนาระบบการเลี้ยงแบบโรงเรือนปิด 20 โรงเรือน แบ่งเป็นโรงเรือนนกไข่ 14 โรงเรือน อีก 6 โรงเรือน เป็นโรงเรือนนกเนื้อ และกำลังขยายโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ
“ผมโชคดีมากที่มีลูกชายคนนี้ (คุณชิชญาส์ วีระพงศ์) เข้ามาสืบทอดรับช่วงพัฒนาต่อ เขาเรียนจบสาขาสัตวศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ถือว่าเข้ามาทันยุคการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลและจะพัฒนาเรื่องการตลาดการแปรรูปเป็นด้านหลัก โดยมีเป้าหมายที่จะส่งออกไปหลายประเทศ จากเดิมตลาดต่างประเทศของเราจะอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ แต่อนาคตเราจะขยายไปสู่ประเทศต่างๆมากขึ้น” คุณระวีพงศ์ กล่าวต่อหน้าลูกชายที่นั่งอยู่ข้างๆ
คุณชิชญาส์ วีระพงศ์ ผู้เป็นทายาทสืบทอดในเรื่องการขยายตลาดให้กว้างไกลกล่าวว่า เมื่อทางฟาร์มได้ขยายส่วนของการเลี้ยงนกกระทาไข่ในระบบโรงเรือนปิดทำให้คุณภาพการไข่ของนกระทาดีขึ้นกว่าเดิมมาก และตลาดก็ไปได้ดี ยกเว้นช่วงเทศกาลกินเจ เข้าพรรษา หรือโรงเรียนปิดเทอม จะทำให้มีผลต่อการบริโภคบ้าง ทางฟาร์มจะมีระบบห้องเย็นเก็บไข่นกกระทาและได้พัฒนาโรงงานแปรรูปรองรับไข่ล้นหรือไข่ที่ยังไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไข่นกกระทาต้มสุกที่สามารถเก็บไว้ได้นาน บวกกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เน้นกินง่าย และสะดวก ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดี แต่พอช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็มีผลกระทบอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าปิดตัว ซึ่งผลิตภัณฑ์ไข่นกกระทาที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักมีกำลังการผลิตเดือนละประมาณ 30 ล้านฟอง ในระยะหลังเน้นการจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ถึง 80% อาทิ แม็คโคร โลตัส Big C Central ฯลฯ รวมทั้งไข่ต้มสุกที่ภัตตาคารซิสเลอร์ และนอกจากนี้ตลาดต่างๆประเทศก็มีผลกระทบบ้างแต่โดยรวมถือว่ายังไปได้ เนื่องจากมีโรงงานแปรรูปและห้องเย็นเก็บไข่นกกระทาทำให้สามารถยืดระยะเวลาเก็บไข่ได้นานขึ้น
“ในอนาคตนอกจากการบริการที่ดี ฟาร์มและโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP, HACCP , Halal (ฮาลาล) แล้ว เราจะเข้าสู่ระบบมาตรฐานของประเทศที่เราส่งออก เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ เพราะเราเชื่อมั่นว่าด้วยระบบการผลิตสินค้าและการควบคุมคุณภาพสินค้าที่ใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิตจะทำให้เราสามารถขยายตลาดไปได้อีกมาก” คุณชิชญาส์ ทายาทวีระพงศ์เจริญฟาร์ม กล่าว
นอกจากจะขยายตลาดส่งออกในส่วนของผลิตภัณฑ์ไข่นกกระทาแล้ว ซึ่งจะพัฒนาโรงงานบรรจุไข่นกกระทาแบบกระป๋องเพื่อการส่งออกขึ้นมารองรับแล้ว จะขยายไปสู่ธุรกิจโรงเชือดหรือโรงชำแหละ เพื่อรองรับนกกระทาเนื้อจากฟาร์มและลูกเล้า ขณะนี้กำลังรอมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมาตลาดส่วนนี้ยังไม่กว้างนัก คือจะวางจำหน่ายตามตลาดชุมชนและมีผู้รับซื้อไปทำตลาดเพื่อแปรรูปเนื้อนกกระทาในรูปแบบต่างๆ แต่เมื่อระบบโรงชำแหละต่างๆลงตัว คาดว่าจะขยายสู่ตลาดระดับบนได้
อีกธุรกิจหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ โรงงานปุ๋ยขี้นกกระทา และชิ้นส่วนนกกระทา เช่น ขนนกกระทา กำลังศึกษาว่าจะมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าอย่างไรได้บ้าง
สำหรับเงินทุนหมุนเวียนที่ทำให้ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงนกกระทา “วีระพงศ์เจริญฟาร์ม” ยืนหยัดอยู่ได้ คือ การได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มาตั้งแต่เริ่มต้นจนวันนี้ ซึ่งในวันที่ “เกษตรก้าวไกล” และเพื่อนสื่อมวลชนลงไปเยี่ยมชมก็ได้พบกับผู้บริหารธนาคาร ธ.ก.ส.สำนักงานอ่างทอง บอกว่าพร้อมให้การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอย่างเต็มที่ไม่เฉพาะวีระพงศ์เจริญฟาร์มแต่ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรทุกราย ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจเดินไปได้และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป