วันนี้ (10 ต.ค.63 ) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามการดำเนินโครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และบรรเทาอุทกภัยทะเลสาบสงขลา ว่า สนทช.ได้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 และขณะนี้ผลการศึกษาที่ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษากำลังใกล้เสร็จสิ้น ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะจัดให้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศ เพื่อผลเสนอผลการศึกษาของโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
“ทั้งนี้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้เกิดปัญหาทั้งน้ำท่วม ขาดแคลนน้ำ คุณภาพน้ำ การรุกตัวของน้ำเค็ม ตะกอนในทะเลสาบ เป็นประจำทุกปี ดังนั้นสนทช.จึงได้คัดเลือกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ดำเนินการเพื่อหวังผลในการหาทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง”
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินโครงการศึกษาที่เต้นข้อมูลรอบด้านทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนเพื่อปัญหาใน 5 ด้าน ได้แก่ หนึ่งปัญหาอุทกภัย สองปัญหาการขาดแคลนน้ำและการรุกตัวของน้ำเค็ม สาม ปัญหาคุณภาพน้ำ สี่ ปัญหาตะกอนในทะเลสาบ สิ่งแวดล้อม และ ห้า ปัญหาการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม
“โดยการดำเนินการจะจัดทำเป็นแผนหลัก 20 ปี รวมงบประมาณกว่า 69,395 ล้านบาท ประกอบด้วย ด้านน้ำท่วม 14 กลุ่มโครงการ ด้านขาดแคลนน้ำและรุกตัวของน้ำเค็ม 28 กลุ่มโครงการ ด้านคุณภาพน้ำ 9 กลุ่มโครงการ ด้านตะกอนในทะเลสาบสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ 20 กลุ่มโครงการ ด้านองค์กร การบริหารจัดการที่เน้นจัดทำในลักษณะของข้อเสนอแนะการปรับองค์กร การปรับปรุงกฏระเบียบเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น แก้ปัญหาด้านพื้นที่ทับซ้อน” ดร.สมเกียรติกล่าว
พร้อมกันนี้ เลขาธิการ สนทช. ได้เดินทางไปยังแหลมสนอ่อน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา เพื่อติดตามการการดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วยการขุดลอกร่องน้ำร่องนอก ร่องน้ำร่องกลาง และร่องน้ำร่องใน และ ของกรมเจ้าท่า ซึ่งมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับการศึกษาเกี่ยวกับตะกอนในทะเลสาบสงขลา ด้วยร่องน้ำดังกล่าวเป็นจุดมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะการเป็นร่องน้ำทางเดินเรือสินค้าขนาดกลาง และเรือประมง อีกทั้งยังเป็นร่องน้ำที่ใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำจากทะเลสาบสงขลาตอนล่างสู่อ่าวไทย จึงต้องมีการขุดลอกร่องน้ำอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้เรือสัญจรได้ปกติ และช่วยระบายน้ำในฤดูน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ