จากสถานการณ์ฝนตกชุกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดความชื้นสูง ปริมาณแสงแดดน้อยทำให้เกิดปัญหากับต้นยางพาราใบร่วงเป็นจำนวนมาก สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ได้มอบหมายกลุ่มอารักขาพืชเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยแจ้งเตือนการระบาดให้ทุกอำเภอประชาสัมพันธ์ให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน อาสาสมัครเกษตร และเกษตรกรชาวสาวนยางทั่วไปรับทราบและดำเนินการป้องกัน
วันที่ 28 ตุลาคม 2563 นายอนุชา ยาอีด เกษตรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกชุกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดความชื้นสูง ปริมาณแสงแดดน้อยทำให้เกิดปัญหากับต้นยางพาราใบร่วงเป็นจำนวนมาก ขณะนี้เป็นโรคใบร่วงยางพาราที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า ซึ่งเป็นโรคที่พบประจำในสภาพอากาศชื้นและฝนตกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และมักพบในยางพาราพันธุ์ RRIM 600 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่ต้านทานต่อโรคใบร่วงและเป็นพันธุ์เกษตรกรในจังหวัดกระบี่นิยมปลูก ซึ่งปัจจุบันนี้ จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ ปลูกยางพารา ประมาณ 7.1 แสนไร่ รวมทั้ง 8 อำเภอ มีการแพร่ระบาด ของโรค ทั่วทั้งจังหวัดกระบี่ อยู่ระหว่างตรวจสอบ จำนวนไร่ โดยลักษณะอาการของโรคนี้คือ ให้สังเกตก้านใบ จะปรากฏรอยแผลซ้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำตามความยาวของก้านใบแผลบริเวณที่เป็นทางเข้าของเชื้อมีหยดน้ำยางเล็กๆ เกาะติดอยู่เมื่อนำใบยางเป็นโรคมาสะบัดไปมาเบาๆ ใบย่อยจะหลุดทันทีซึ่งต่างจากใบยางที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ เมื่อนำมาสะบัดไปมาใบย่อยจะไม่ร่วงบางครั้งแผ่นใบอาจเป็นแผลสีน้ำตาลเข้มถึงดำมีลักษณะช้ำน้ำขนาดของแผลไม่แน่นอน
นอกจากนี้เชื้อสามารถเข้าทำลายฝักยางได้ทุกระยะทำให้ฝักเน่า ถ้าความชื้นในอากาศสูงจะพบเชื้อราสีขาว เจริญปกคลุมฝักฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำค้างอยู่บนต้น ไม่แตกและร่วงหล่นตามธรรมชาติกลายเป็นแหล่งเชื้อโรคในปีถัดมา และหากไม่มีการป้องกันเชื้อจะลุกลามลงหน้ายางกลายเป็นโรคเส้นดำได้ ส่วนการแพร่ระบาดของโรคนี้แพร่ระบาดโดยลมและฝน ความรุนแรงของการเกิดโรคขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและจำนวนวันฝนตก เชื้อนี้ต้องการน้ำเพื่อการขยายพันธุ์จึงระบาดได้ดีในสภาพอากาศเย็น ฝนตกชุก มีความชื้นสูงต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4 วัน โดยที่มีแสงแดดน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน
สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
1. กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยางพาราให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวนยาง
2. หากระบาดกับต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยสารเคมี เมทาแลกซิล (Metalaxyl) หรือ ฟอสเอทธิลอลูมินั่ม(Fosetyl-Al) อัตราส่วนตามฉลากแนะนำ พ่นพุ่มใบเมื่อเริ่มพบการระบาด ทุก 7 วัน
3. สำหรับยางที่เปิดกรีดแล้ว ใช้ฟอสเอททิลอลูมิเนียม (อาลิเอท) หรือเมตตาแลคซิล อย่างใดอย่างหนึ่ง ทาที่หน้ากรีดทุก 7 วัน 3 – 4 ครั้งในช่วงที่มีการระบาด
4. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 1 กก.ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 50 กก.และรำ 4-10 กก.ผสมให้เข้ากันใช้อัตราส่วน
3-6 กก./ต้น รอบโคนต้นกว้าง 15-20 ซม.หว่านปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นฝนและปลายฝน เพื่อป้องกันโรค
5. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมดินฝุ่นแดง 1 กิโลกรัม และน้ำ 1-2 ลิตร ผสมให้เข้ากันนำไปไปทาหน้ายางป้องกันโรคที่เกิดกับหน้ายางพารา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด กระบี่ 075-611649