วันที่ 21 ตุลาคม 2563 ตรงกับวันที่ระลึกคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตร ครบรอบ 53 ปี ในวันนี้มีพิธีการสำคัญเช่นทุกปี และแน่นอนว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่พลาดที่จะมาร่วมงงานนี้ พร้อมมอบนโยบายตามที่ “เกษตรก้าวไกล” ได้นำเสนอข่าว https://bit.ly/35gZ9Tq
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าติดตามก็คือ ในวันเดียวกันนี้ได้มีการเปิดประเด็น ทิศทางของกรมส่งเสริมการเกษตรปี 2564 ว่าจะขับเคลื่อนไปยังทิศใด หรือให้ความสำคัญในประเด็นใดบ้าง?
คงเป็นที่ทราบกันว่า หลายปีที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งที่จะปฏิรูปภาคเกษตรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติของโลก ทั้งรูปแบบการแข่งขันที่สูงขึ้น การเผชิญกับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปฏิวัติทางเทคโนโลยี การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบความต้องการอาหารทั่วโลก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ทุกอย่างที่กำลังขับเคลื่อนต้องเร่งและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ทุกอย่างยังคงขับเคลื่อน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดิม เพียงปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการ ภายใต้วิถีปกติใหม่
เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าการขับเคลื่อนงานในปี 2564 เป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก แต่นั่นไม่เท่ากับการสร้างทีมงานที่มีคุณภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลง ให้พร้อมก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่ ควบคู่กับการขับเคลื่อนโครงการฯ สำคัญ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวขององค์กร และบุคลากร รวมถึงงานส่งเสริมการเกษตร ที่ต้องก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีรายได้ที่มั่นคง” ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ สำคัญ ได้แก่ 1. การพัฒนาเกษตรกร พัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง 2. การขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยเครื่องมือส่งเสริมการเกษตร 3. การเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมการเกษตร นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วน และการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด
กล่าวโดยสรุป ประเด็นหลัก ที่จะขับเคลื่อนงาน ปี 2564 ได้แก่
- การส่งเสริมและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : เป็นนโยบายสำคัญที่กรมส่งเสริมการเกษตร ยึดถือและปฏิบัติ เพื่อที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามที่ได้พระราชทานแนวทาง รวมถึงขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่างๆ เพื่อขยายผลสู่เกษตรกรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
- การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรและปรับวิธีการทำงานสู่ new normal : พัฒนาองค์กร สู่ระบบราชการ 4.0 ยึดธรรมาภิบาล มุ่งพัฒนาสู่การเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน ยึดประชาชนเป็นส่วนกลาง ยกระดับศักยภาพและความสามารถบุคลากรตามแนวทางขับเคลื่อนองค์กรแห่งการเรียนรู้สมัยใหม่ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านดิจิทัล สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลเชิงพื้นที่ พัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตร รวมถึงฐานข้อมูลอื่นๆ พร้อมก้าวสู่การเป็น Digital DOAE
- ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ เกษตรผลิต พานิชย์ตลาด ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ยังคงสานต่อภารกิจใช้หลักตลาดนำการผลิต ขับเคลื่อนผ่านกลไก การขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ มีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานรองรับความต้องการของตลาด ยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งมีการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน รวมถึงการส่งเสริมพืชที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น พืชสมุนไพร, ไม้ดอกไม้ประดับ,ไผ่, หวาย, กาแฟ, พืชเคี้ยวมัน (มะคาเดเมีย,มะม่วงหิมพานต์), แมลงเศรษฐกิจ เป็นต้น การปรับระบบการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตร Agri – map ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง, สัปปะรด, ปาล์มน้ำมัน, มะพร้าว เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้พืชพันธุ์ดี และมีแหล่งผลิตพืชพันธุ์ดี รวมถึงการส่งเสริมการอารักพืช มีกลไกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนทำงานร่วมกับชุมชนอย่างเป็นระบบ สร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรจากการส่งเสริมการเกษตร มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าเกษตร
- ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร Smart Farmer Young Smart Farmer วิสาหกิจชุมชน รวมถึงองค์กรเกษตรกรอื่นๆ รวมถึง ยกระดับบทบาท อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) : การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตร รองรับการก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
- ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร : ส่งเสริมการเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการ นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิชาการ รวมถึงการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตร ให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ สร้างการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงาน รวมถึงมีการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสถานการณ์ในพื้นที่นั้นๆ
“สิ่งสำคัญที่สุด การขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ต้องทำงานคู่กับพี่น้องเกษตรกร ทั้งการให้บริการทางการเกษตรและช่วยเหลือเกษตรกร ในทุกมิติ แม้ว่าความท้าทายนี้จะดูยิ่งใหญ่ ถ้าพวกเราทำงานด้วยความรัก ความศรัทธา และความสามัคคี อนาคตภาคการเกษตรจะเปลี่ยนแปลง เกษตรวิถีใหม่ จะเกิดขึ้นอยู่ที่พวกเราทุกคน” อธิบดีบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวย้ำ และบอกอีกว่าในช่วงที่ผ่านมีข่าวว่าตนจะไปอยู่ที่นั่นที่นี่แต่วันนี้ยังอยู่ที่กรมส่งเสริมการเกษตรก็จะมุ่งทำงานอย่างเต็มที่และเข้มแข็งอย่างที่สุด