ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยกำจัดแมลงรุ่ง ความต้องการใช้พุ่งทุกปี กรมวิชาการเกษตรเดินหน้าถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยแบบง่าย เกษตรกรทำใช้เองได้ ผ่านอบรมแล้วกว่า 1 หมื่นราย พร้อมตั้งโรงผลิตชีวภัณฑ์ 70 โรงกระจายสู่ชุมชน ตอบโจทย์ลดการใช้สารเคมีได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ตั้งเป้าปีหน้าสร้างเกษตรกรต้นแบบ 400 รายผลิตชีวภัณฑ์ได้ใช้เป็นครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
นางนุชนารถ ตั้งจิตสมคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยเป็นชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชที่มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์เลือดอุ่น พืช และสภาพแวดล้อม ไม่มีสารเคมีตกค้างในผลิตผลเกษตร มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงศัตรูได้หลายชนิด ทั้งกลุ่มหนอนด้วง หนอนผีเสื้อ และแมลงศัตรูพืชอื่นๆ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนได้เป็นนวัตกรรมชีวภาพในรูปแบบเชื้อสดพร้อมใช้โดยเกษตรกรสามารถทำใช้เองได้ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวตอบโจทย์ภาคการเกษตรยุคเกษตรปลอดภัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กรมวิชาการเกษตร มีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยแบบทำใช้เอง ซึ่งได้มีการขับเคลื่อนผลงานวิจัยดังกล่าวสู่เกษตรกรโดยถ่ายทอดเทคโนโลยีจากส่วนกลางไปสู่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรในส่วนภูมิภาครวมจำนวน 36 ศูนย์ และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังได้ติดตั้งโรงผลิตไส้เดือนฝอยระดับชุมชนใช้ร่วมกัน จำนวน 70 โรงกระจายทุกภาคของประเทศ รวม 44 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรสามารถทำได้ใช้เป็น และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการผลิตไส้เดือนฝอยจำหน่ายและจ่ายแจกภายในชุมชน รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไส้เดือนฝอยให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยจัดอบรมให้กับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่รวม 10,661 ราย ได้รับความรู้เรื่องชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงตามนโยบายลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต และสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรพึ่งพาตนเอง
ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยกำจัดแมลงศัตรูพืชได้รับการยอมรับจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก และมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย” เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี/นวัตกรรมไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงอย่างครบวงจรให้กับเกษตรกรผลิตใช้เองและเป็นข้อมูลให้กับภาคเอกชนหรือวิสาหกิจชุมชนประกอบการตัดสินใจลงทุนผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายในราคาที่เกษตรกรเข้าถึงได้ เพื่อให้มีการใช้แพร่หลายเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง ช่วยลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงโดยเฉพาะลดสารพิษตกค้างในผลิตผลเกษตร
ทั้งนี้ในปี 2564-2565 กรมวิชาการเกษตร มีแผนที่จะเร่งพัฒนาเครื่องมือเพาะขยายไส้เดือนฝอยรูปแบบใหม่ที่มีขนาดเล็ก ราคาถูก เหมาะกับเกษตรกรรายย่อยปลูกผักไม่เกิน 5 ไร่ เพื่อทำใช้เองได้ และพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงที่ได้จำนวนไส้เดือนฝอยสูงขึ้นกว่ารูปแบบเดิม ช่วยให้ต้นทุนการผลิตใช้เองต่ำลง เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงนวัตกรรมการผลิตไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงได้อย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค พร้อมสร้างเกษตรกรต้นแบบ 400 ราย ครอบคลุมทั่วประเทศให้เป็นผู้ขยายผลต่อเนื่องภายใต้โครงการ “พัฒนาการผลิตไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงรูปแบบใหม่เพื่อเกษตรกรรายย่อยทำใช้เอง”
“ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยเป็นชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด และเป็นสายพันธุ์ไทยทนร้อนที่มีศักยภาพในการเพาะขยายได้ง่ายในอาหารเทียม ต้นทุนต่ำ เกษตรกรสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตได้โดยง่ายนำไปทำใช้เองได้ ช่วยลดและทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด ทำให้ลดรายจ่ายการซื้อสารกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งยังเป็นสารชีวภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐในการลดละเลิกสารเคมีให้สามารถผลิตพืชปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกรสามารถลด-เลิกการใช้สารฆ่าแมลงได้ 50-100%” ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา กล่าว