เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลงนามความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเครื่องตรวจวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียน ระหว่าง สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก และศูนย์ความเป็นเลิศนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมแถลงการดำเนินงานสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก รวมทั้งแนวโน้มและการเตรียมการของเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และการขับเคลื่อนสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยเพื่อรองรับสถานการณ์ล่วงหน้า ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดจันทบุรี
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กิจกรรมในวันนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จ หลังจากการจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย ที่ยกระดับจากเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียน รวมตัวกันเกิดเป็นสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยทุกภาค และเห็นสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ก้าวหน้าในการพัฒนาอย่างเป็นระบบ จากความร่วมมือของทุกส่วนและความเข้มแข็งของสมาพันธ์ฯ และ ทุเรียน ผลไม้สำคัญมีการพัฒนาที่คำนึงถึงคุณภาพและรักษามาตรฐาน รวมถึงการเพิ่มขยายตลาดออกไปทั้งในและต่างประเทศด้วยองค์กรของเกษตรกร ปัจจุบันทุเรียนขยายพื้นที่ปลูก กว่า 45 จังหวัด มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20 และปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15-20 ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันสภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบทั้งปริมาณและคุณภาพทุเรียนโดยตรง ความร่วมมือที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาวิจัยและพัฒนาเครื่องตรวจวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียน ศูนย์ความเป็นเลิศนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะผลิตเครื่องมือต้นแบบและทดสอบประสิทธิภาพ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก สวก. ผลิตเครื่องตรวจวัด นำร่องการใช้โดยสมาพันธ์ฯ ผลจากความร่วมมือจะทำให้มีเครื่องมือที่ทันสมัยและตอบโจทย์การใช้งานจริง เป็นความร่วมมือที่นำงานวิจัยสู่การปฏิบัติกับเกษตรกรอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้การขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดทุเรียนให้ได้คุณภาพดี เกษตรกรที่ผลิตทุเรียนจะปรับเปลี่ยนการผลิต ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต การวางแผนที่ดีจะลดความเสี่ยงการผลิตสินค้ามากเกินความต้องการ ตอบโจทย์การก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่
สำหรับเป้าหมายการขับเคลื่อนสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย ปี 2564 โดยเกษตรกรชาวสวนทุเรียน มีคณะกรรมการฯ เป็นแกนกลางการรวบรวมผลผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศภายใต้แบรนด์สมาพันธ์ฯ
และมาตรฐานเดียวกัน ทั้งการจัดทำฐานข้อมูลการผลิตทุเรียน ช่วงเวลาการติดดอก และการจำหน่ายในนามสมาพันธ์ฯ กำหนดราคาขั้นต่ำ การจำหน่ายทุเรียน มี QR code ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการควบคุมคุณภาพ รวมถึงแก้ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และมีเครื่องมือตรวจวัดความอ่อน-แก่ ในทุเรียน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียนที่เป็นมาตรฐานและมีความเสถียรภาพ