เรื่องโดย : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล
“การเกษตรของบ้านเรานั้น ถ้าเกษตรกรจะทำให้ประสบความสำเร็จ ต้องเน้นหลักการใช้ทฤษฎี และการปฏิบัติจริง ให้เดินควบคู่ไปด้วยกัน ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ กล้าพูดได้เลยไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจะมีปัจจัยอะไรหลายๆอย่างที่แตกต่าง การเกษตรจึงเป็นเรื่องที่เรียกว่าท้าท้ายเราตลอด 24 ชั่วโมง”
“อย่างผมเมื่อก่อนนี้ก็ไม่ได้เก่งอะไร แต่อาศัยว่า เจออาจารย์หลายๆท่านที่เก่งๆ อาจารย์ทุกท่านมาถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งผลงานการวิจัยต่าง ๆนั้น สามารถช่วยสวนของผมได้เยอะ ทำให้เรารู้ได้ว่า ทำอย่างไร เกิดอะไร”
บางช่วงบางตอนของคำบอกเล่าที่เกษตรกรต้นแบบลูกค้า ธ.ก.ส. อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี คุณสมชาย เจริญสุข บอกกล่าวถึงสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญของการก้าวมาสู่ความสำเร็จ จนได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลดีเด่นมากมาย โดยล่าสุดได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เข้ารับโล่รางวัลพระราชทาน เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP)
สวนชมพู่เจริญสุข มีพื้นที่ 15 ไร่ ตั้งอยู่ เลขที่ 36/1 ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ โทร. 06-3252-6678 เป็นสวนชมพู่ทับทิมจันทร์ส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศไทย ที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจกับเป้าหมายเดียวที่ต้องทำให้ได้ นั่นคือ การผลิตชมพู่ให้มีรสชาติอร่อย ผลผลิตมีคุณภาพ คงไว้ซึ่งมาตรฐาน ภายใต้แนวความคิดพัฒนาและแบ่งบันความรู้
จากชีวิตคนปลูกมะนาว สู่ชีวิตคนปลูกชมพูทับทิมจันทร์
“ผมทำมาหลายอาชีพ ตั้งแต่เป็นเกษตรกร ทำแล้วต้องเจอปัญหามากมาย โดยเฉพาะราคาผลผลิตตกต่ำ จึงตัดสินใจไปทำอาชีพอื่นบ้าง เช่น เป็นตัวแทนขายประกันชีวิตอยู่ 5 ปี เป็นพ่อค้าขายเสื้อผ้าอยู่ 2 ปี แต่ทำแล้ว ก็พบว่า ไม่มีความยั่งยืนเหมือนกับการประกอบอาชีพการเกษตรเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัว”
ก้าวแห่งเริ่มต้นใหม่ เมื่อช่วงเวลา พ.ศ. 2538 คุณสมชายเริ่มต้นด้วยการปลูกมะนาว และไม้ผลอย่างอื่นแซม
“ผมมาเริ่มทำมะนาวโดยไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกเลย คิดแต่ว่า ปลูกง่าย ตลาดต้องการน่าจะสร้างรายได้ให้อย่างดี แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ง่าย เจอทั้งผลผลิตออกมาไม่ดีไม่สวย แถมราคาตกต่ำเหลือเพียงลูกละ 30 สตางค์ แต่ในขณะที่ต้นทุนนั้นกลับสูงมาก ไม่ว่าค่าค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีต่าง ๆ เลิกครับเพราะไม่ประสบความสำเร็จ” คุณสมชาย กล่าว
แต่ด้วยใจยังรักในอาชีพเกษตรกรและไม่อยากเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น จึงพยายามมองหาพืชชนิดใหม่เข้ามาปลูกทดแทน
“จนมาได้ยินเรื่องของชมพู่ พันธุ์ทับทิมจันทร์ ที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังพอดี ผมเลยเข้าไปศึกษา พบว่า เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะโดดเด่นมาก คือผิวสีแดงสด ขนาดผล เนื้อแน่น รสชาดอร่อย ผิวค่อนข้างหนา และเก็บเกี่ยวได้ง่าย อีกทั้งช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีคนปลูก ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด จึงนำมาทดลองปลูก จำนวน 200 ต้น บนพื้นที่ 5 ไร่ แทนสวนมะนาวเดิมในระหว่างนั้นก็ได้ศึกษาและพัฒนาการผลิต และขยายมาเรื่อย ๆ จนเต็มพื้นที่ 15 ไร่” นั่นคือเรื่องราวการเริ่มต้นที่ทำให้เป็นที่มาของความสำเร็จของสวนเจริญสุขในวันนี้
ผลผลิตชมพูทับทิมจันทร์ของสวนเจริญสุขในวันนี้ ด้วยมีความโดดเด่นทั้งในด้านการผลิตและคุณภาพของผลผลิต จึงทำให้ได้รับการคัดเลือกเป็นสินค้าฟรีเมี่ยมของจังหวัดราชบุรี
ทั้งนี้ คุณสมชาย ทำสวนชมพู่โดยมีแนวคิดที่จะยกระดับผลผลิตของสวนตนเองให้สินค้าได้รับความเชื่อมั่นทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัย โดยเชื่อว่า “ผลผลิตพรีเมี่ยม ต้องมาจากการจัดการสวนที่เป็นระบบ” ดังนั้นในปี 2554 จึงได้สมัครขอการรับรองมาตรฐาน GAP กับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี กรมวิชาการเกษตร ซึ่งการได้รับรองมาตรฐาน GAP ทำให้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และเพิ่มโอกาสช่องทางการตลาดได้มากขึ้น สามารถจำหน่ายให้กับบริษัทส่งออกไปตลาดต่างประเทศทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
“เพราะเราใส่ใจในกระบวนการผลิตผลไม้ที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน GMP เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทานผลไม้ที่ปลอดภัย” นั้นคือเหตุผลสำเร็จที่มาจากใจของเกษตรกรผู้นี้ ต่อการตัดสินใจสมัครเข้ารับรองมาตรฐาน GAP
เคล็ดลับความสำเร็จแบบสมชาย เจริญสุข
“ทำเกษตร จำเป็นต้องศึกษาพืชให้ชัดก่อนทำ ต้องรู้ว่าพืชแต่ละชนิดต้องการอะไร มีนิสัยเป็นอย่างไร เพราะหากรู้ชัด เมื่อปัญหาเกิด การแก้ไขก็จะตรงจุด เพียงแค่นี้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีมากขึ้น”
หนึ่งในแนวคิดของการสร้างความสำเร็จในอาชีพเกษตรที่พี่สมชายได้บอกกล่าวให้ฟังระหว่างล่องเรือชมต้นชมพูที่ปลูกในลักษณะยกร่อง ภายใต้รูปแบบการผลิตใหม่ ที่ใช้เทคนิคการลดขนาดทรงพุ่มลง จาก 4 เมตร ให้เหลือ 2 เมตร ไม่เกิน 2.5 เมตร ตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อทำให้แดดส่องได้ทั่วถึง ทำงานได้ง่ายขึ้น การพ่นสารเคมีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้มีการตัดแต่งช่อ โดยการไว้ช่อประมาณ 200 ช่อต่อต้น เพราะเมื่อชมพู่มีผลผลิตมากเกินไป จะทำให้ผลหลุดร่วงและผลมีขนาดเล็กควบคุมคุณภาพได้ยากขึ้น
อีกหนึ่งความสำเร็จที่เกษตรกรผู้นี้ได้ถ่ายทอดให้ฟังคือ ดินที่ใช้ปลูก เนื่องจากชมพู่ที่สวนมีอายุมาก แต่ผลผลิตชมพู่ของสวนเจริญสุข ยังคงให้ผลผลิตและรักษาคุณภาพทีดีอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างเหมาะสม มีการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยคอก เช่น มูลค้างคาว การใช้สารปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งทำให้โครงสร้างดินให้ร่วนซุย ระบบรากทำงานได้ดี
ในส่วนของน้ำที่นำมาใช้ในสวน พี่สมชายบอกว่า น้ำที่ใช้มาจากน้ำซับ ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ปนเปื้อน สารเคมี จุลินทรีย์และโลหะหนัก
โดยวิธีการให้น้ำจะใช้เรือรดน้ำ หรือใช้วิธีตักรดในช่วงที่ต้นยังเล็ก การให้น้ำจะให้บริเวณโคนต้น สัปดาห์ละครั้ง หรือช่วงที่มีสภาพอากาศร้อน ถ้าอุณภูมิสูงก็จะปรับการให้น้ำเป็น 2 ช่วง
สำหรับน้ำเสียที่เกิดจากการใช้งาน เช่น น้ำทิ้งห้องสุขา น้ำทิ้งต่าง ๆ มีการจัดการที่เหมาะสมไม่ให้ปนเปื้อนลงสู่พื้นที่ปลูก พื้นที่โดยรอบและสิ่งแวดล้อม
ด้านการให้ปุ๋ย คุณสมชายเน้นว่า ในช่วงระยะบำรุงต้น ใส่ปุ๋ยคอกบริเวณรอบทรงต้น อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น ร่วมกับใช้ปุ๋ยสูตร 18-4-0 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ สลับกับการให้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต
สำหรับระยะกระตุ้นตาดอก ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยสูตร 0-0-60 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเพิ่มความหวาน รวมทั้งการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยมูลค้างคาว ในการบำรุงดินร่วมด้วยเพื่อช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น เเละให้ปุ๋ยอีกครั้งหลังจากมีการตัดแต่งกิ่ง
“ส่วนการป้องกันรักษาโรคแมลงนั้น ที่ใช้จะมี เช่นการใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา โดยจะฉีดพ่นไปพร้อมกับการให้ปุ๋ยทางใบ เช่นโรคแอนแทรกโนส ซึ่งพบปัญหาในช่วงการผลิตชมพู่นอกฤดู ป้องกันกำจัดโดยการใช้ สารเคมี แมนโคเซปร่วมกับการตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้โปร่ง
“ขณะที่กำจัดส่วนของพืชที่มีโรคและแมลงทำลาย โดยการการขนย้ายไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของโรคและแมลง สำหรับปัญหาแมลงวันผลไม้ ใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานตามระบบ IPM ของกรมวิชาการเกษตร”
ทั้งนี้ คุณสมชายบอกว่า ชมพู่ทับทิมจันทร์ จะเริ่มให้ผลผลิตหลังจากอายุประมาณ 2 ปี สำหรับสวนชมพู่เจริญสุข นั้นมีการกำหนดการผลิตชมพู่ออกสู่ตลาด จำนวน 2 รุ่น คือ
รุ่นที่ 1 เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม หรือเรียกว่า รุ่นนอกฤดู
รุ่นที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม หรือเรียกว่า รุ่นในฤดู
สำหรับผลผลิต รุ่นในฤดู โดยปรกติสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จนถึงเดือนเมษายน แต่สวนเจริญสุขเลือกที่จะไม่เก็บผลผลิตรุ่นเดือนเมษายนไว้ เนื่องจาก หนึ่ง เป็นผลผลิตชุดท้ายฤดู ซึ่งผลมีขนาดเล็ก และสีไม่สวย สอง เป็นช่วงที่มีแมลงวันผลไม้ระบาดหนัก และ สาม เพื่อพักและบำรุงต้น สำหรับเตรียมทำนอกฤดูที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีราคาสูง
“ผลผลิตที่ได้จำหน่ายทั้งตลาดต่างประเทศ โดยตลาดต่างประเทศจะส่งผลผลิตให้กับบริษัทส่งออก โดยมีรถของบริษัทมารับผลผลิตจากสวน ส่วนตลาดในประเทศ ส่งขายให้กับห้างสรรพสินค้า Tops supermarket และจำหน่ายออนไลน์” คุณสมชาย กล่าว
นี่คือ เกษตรกรต้นแบบของธ.ก.ส.
คุณสุรศักดิ์ พุทธไพบูลย์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาบางแพ จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า คุณสมชาย เป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ประสบความสำเร็จ มีความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพจนประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพทำสวนชมพูที่เน้นแนวทางของเกษตรปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการทานชมพูที่ปลอดภัย ไม่มีสารพิษ
อีกหนึ่งจุดเด่นของเกษตรกรผู้นี้ ที่ผู้จัดการธ.ก.ส.บอกว่าประทับใจคือ เทคนิคในการปลูกการจัดการดูแล โดยผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมสวนชมพูแห่งนี้จะได้เทคนิคการตัดแต่งต้นเพื่อให้ควบคุมความสูง ทำให้เก็บผลผลิตได้ง่าย และยังมีเทคนิคการจัดการดูแลอื่น ๆที่น่าสนใจอีกมากมาย
“เกษตรกรผู้นี้คือ ต้นแบบของการต่อสู้เรียนรู้จนก้าวมาสู่ความสำเร็จ สำหรับในส่วนของธ.ก.ส.นั้นเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีโอกาสร่วมสนับสนุน และช่วยเหลือ ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีด้วย” ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวในที่สุด