เรื่อง/ภาพ : จตุพล เกษตรก้าวไกล
ทีมงาน “เกษตรก้าวไกล” เดินทางไปที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ตามโครงการ “ลุยเกษตรสุดเขตไทย” มีโอกาสได้ไปเยือน “สันติฟาร์ม” เป็นฟาร์มโคนมมาตรฐาน มีเครื่องรีดที่ทันสมัย ของ คุณสง่า คงขันตะ หรือที่ชาวบ้านเรียก “หมอหง่า” เพราะเรียนจบด้านสัตวบาล โดยการนำของ คุณโกวิทย์ สุดสวาท ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สาขาด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
คุณสง่า กล่าวถึงความเป็นมาของสันติฟาร์มว่า เลี้ยงโคนมมานานนับ 10 ปี เริ่มต้นนั้นเลี้ยงเพียงไม่กี่ตัวและต่อมาก็ขยายมาตามลำดับ แบบค่อยเป็นค่อยไป จนปัจจุบันมีวัวในฟาร์มจำนวน 180 ตัว และเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงควบคู่กับการทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสม ทั้งปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
หัวใจการเลี้ยงโคนม “ต้องให้วัวอยู่ดีกินดี”
- ให้อยู่ในโรงเรือนที่ดี พื้นต้องเป็นคอนกรีต ทำความสะอาดง่าย มีมาตรฐาน วัวจะไม่จมขี้โคลน วัวมีความสุขในการนอน ขี้วัวไม่มีผลต่อสุขภาพวัว เราทำความสะอาดอาทิตย์ละครั้ง ขี้ก็นำไปใส่บ่อหมักแก๊สเพื่อผลิตแก๊สใช้ในครัวเรือน ส่วนที่เหลือนำไปกองไว้ขายในฤดูแล้ง ราคากระสอบละ 15 บาท
- หลังคาโรงเรือนต้องมีมาตรฐาน มีเพื่อกันแดดกันฝน จะเป็นกระเบื้องหรือสังกะสีก็ได้ ไม่ให้วัวตากแดดตากฝน จะทำให้วัวไม่สบายได้
- หลักการให้อาหาร แต่ละรุ่นแต่ละชุดเราให้อาหารไม่เหมือนกัน อย่างวัวเล็กเราจะให้โปรตีน 14 เปอร์เซ็นต์ เพื่อขยายโครงสร้าง ขยายเต้านม เมื่อกระเปาะนมใหญ่ ก็จะให้น้ำนมดี ได้ลูกออกมาดีมีคุณภาพ
“เคล็ดลับการจะให้วัวเต้านมใหญ่ เราจะคัดสายพันธุ์ที่ดี และนำมาผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้ที่มีการรับรอง ตัวหนึ่งรีดต่อวันต่อแม่จะอยู่ 15 กิโลกรัม แต่ถ้าสูงสุดก็ต้อง 20 กิโลกรัม แต่อาจมีผลเสียต่อสุขภาพของแม่วัว แค่ 15 กิโลกรัมก็พอเพียงแล้ว”
คุณสง่า กล่าวต่อไปว่า หัวใจความสำเร็จการเลี้ยงวัวอีกอย่างหนึ่ง คือ วัวต้องกินดี หญ้าต้องมีมาตรฐาน เราใช้หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 นำมาให้วัวกิน เป็นการลดต้นทุนได้แน่นอน ที่ฟาร์มของตนมีวัว 180 ตัว ปลูกแปลงหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 จำนวน 40 ไร่ ที่ดินส่วนใหญ่จะเป็นแปลงหญ้า ปลูก 40 ไร่ ยังไม่พอ วัวเล็กต้องนำฟางมาให้กินเสริมอีกด้วย
สำหรับวิธีการจัดการในแปลงหญ้า คุณสง่ากล่าวว่า หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ใช้ขี้วัวของเราไปใส่หญ้าเนเปียร์ ไม่ต้องไปซื้อปุ๋ย เราปลูกครั้งเดียว 10 ปี ไม่เคยรื้อแปลงหญ้า ตัดแล้วก็ใช้น้ำขี้วัวปล่อยลงในแปลง ปรากฏว่าหญ้างาม เติบโตเร็ว เราไม่ใช้สารเคมี ใช้เพียงผานรถไถพวนดินก็งอกงามดี เราจะตัดให้วัวกินวันละ 2 รอบ นอกจากนี้ยังตุนฟางข้าวในหน้าแล้ง เป็นนาของเราเอง มาเก็บสำรองไว้ เพื่อให้วัวกินช่วงฝนตกชุก เราไปตัดหญ้าไม่ได้
ด้าน คุณโกวิทย์ สุดสวาท ผจก.ธ.ก.ส.สาขาด่านมะขามเตี้ย กล่าวเสริมว่า จากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับเกษตรกรเลี้ยงโคนมทำให้ทราบว่าฟางข้าวมีความจำเป็นต่อวัวในฟาร์ม เพื่อให้วัวเคี้ยวเอี้ยงให้ย่อยอาหาร เมื่อวัวกินอาหารข้นมากจะไม่มีช่องว่างในกระเพาะ ต้องมีฟางไปเติมเต็มในส่วนนี้
คุณสง่า กล่าวอีกว่า นอกจากมีแปลงหญ้าแล้ว เราต้องมีทุ่งหญ้าธรรมชาติ หรือที่เรียกว่าหัวร่อง ปล่อยให้วัวไปกินตามธรรมชาติ เราไม่ต้องฉีดยาฆ่าหญ้า เราดูตามสภาวะแวดล้อม เมื่อหญ้ารกก็ใช้วัวเป็นเครื่องตัดหญ้า เพราะวัวเป็นเครื่องตัดหญ้าที่ดีที่สุด
สำหรับอาหารที่ใช้ในฟาร์มนอกจากหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 แล้ว ก็จะมีหัวมันสำปะหลัง ฝักข้าวโพด ให้มื้อละ 3 กิโลกรัม
เทคนิคการลดต้นทุน เราต้องปลูกหญ้าเนเปียร์ กากมันเพียงแค่เป็นอาหารเสริม อาหารมีผลต่อการให้นมวัว เมื่อวัวกินอิ่มนอนหลับ จะให้น้ำนมสูง เหตุที่ไม่ผลิตอาหารข้นใช้เอง เพราะฟาร์มยังขาดที่เก็บวัตถุดิบ เราไม่สามารถสต็อกสินค้าหรือวัตถุดิบมากๆ ได้
ส่วนในการจัดการเรื่องโรควัว คุณสง่า กล่าวว่า ที่ฟาร์มจะทำวัคซีนทุก 4 เดือน เป็นวัคซีนเอฟ ป้องกันโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย ตรงนี้ใช้ความรู้จากลูกสาวและลูกเขย เพราะเขาจบด้านสัตว์ศาสตร์ เรานำความรู้ตรงนั้นมาใช้ในฟาร์ม ทั้งการทำวัคซีน ทำโปรแกรมป้องกันพยาธิ พื้นที่ข้างเคียงอาจมีการระบาด แต่ฟาร์มของตนไม่เคยมีโรคระบาด แค่ป่วยไม่สบาย 1-2 ตัว ในช่วงที่ฝนตกชุก เพราะเขานอนไม่สบาย อาจจะมีบ้างเต้านมอักเสบ
ด้านป้องกันแมลง เราฉีดยาฆ่ายุงในฟาร์ม เป็นตัวไซเปอร์ ไม่เป็นผลต่อสัตว์ จะฉีดอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง และเรายังมีไฟสีเหลืองเป็นไฟไล่ยุง ไล่แมลง ช่วยได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
สำหรับผลผลิตน้ำนมและการรีดนมวัว คุณสง่ากล่าวว่า “เรามีเครื่องรีดนมที่ทันสมัย เบื้องต้นต้องนำวัวมาล้างเต้านมให้สะอาด แล้วนำมาเช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ ก่อนรีดเราต้องร่อนนมให้ดูก่อน ว่ารีดออกมาเป็นแมสหรือไม่(โรคเต้านมอักเสบ-Mastitis) จะรีดเฉพาะเต้านมที่ไม่เป็นแมส หลักการรีดเรารีดแบบระบบปิด เป็นเทคโนโลยีไปป์ไลน์ไม่โดนอากาศ ถือว่าเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดในตอนนี้ ชุดที่รีดอยู่นี้ราคาประมาณ 5 แสนบาท มี 8 หัวรีด แต่ละวันรีดได้ประมาณ 580 กิโลกรัม มีวัว 53 แม่ ช่วงที่พีคสุดคือได้ประมาณ 800 กิโลกรัม หลังจากรีดแล้วนำไปลงถังย่อย เพื่อไปส่งสหกรณ์รับน้ำนมดิบ ราคากิโลกรัมละ 18.50 บาท ถือเป็นราคาที่น่าพอใจ”
คุณสง่า กล่าวต่อว่า เครื่องรีดนมไปป์ไลน์ทำให้น้ำนมที่ได้มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ปนเปื้อน เพิ่งซื้อมาใช้งานได้ประมาณ 1 เดือน ซึ่งการลงทุนในส่วนนี้ถ้าจะใช้เงินทุนส่วนตัวจะทำให้ไม่ทันการ จึงทำโครงการถึงผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาด่านมะขามเตี้ย เพียงไม่กี่วันก็จะมีเจ้าหน้าที่มาดูที่ฟาร์ม จากนั้นไม่ถึงเดือนก็อนุมัติสินเชื่อ จึงนำเงินไปซื้อเครื่องรีดในราคา 5 แสนบาท
คุณโกวิทย์ กล่าวเสริมอีกว่า ธ.ก.ส.ไม่ได้ดูข้อมูลอะไรมาก เราดูเพียงแค่ผลสำเร็จและแผนงานของเกษตรกร ถ้าเห็นว่าแผนงานเขามีความเป็นไปได้ เราก็จะอนุมัติ นอกจากพืชไร่ พืชสวนแล้ว ด้านปศุสัตว์เราก็ดูแล อย่างเช่นกรณีของสันติฟาร์ม
ในตอนท้าย คุณสง่าย้ำว่า “อาชีพการเลี้ยงวัวนมเป็นอาชีพพระราชทาน ถ้าไม่ได้โคนมก็คงส่งลูกเรียนไม่จบปริญญาตรี เพื่อนเกษตรกรสนใจจะศึกษาดูงานหรือสอบถามรายละเอียด ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 08 1924 2627” คุณสง่า กล่าวในที่สุด