นางติณณา คัญใหญ่ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง การบูรณาการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลเอกภาพรอบที่ 1 ปี 2564 ซึ่ง สศก. โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) และศูนย์สารสนเทศการเกษตร (ศสส.) ร่วมมือกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก พิจารณาวิเคราะห์ผลพยากรณ์ไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 ของสินค้า 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง และตราด เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการ วางแผนบริหารจัดการผลไม้ตั้งแต่ต้นฤดู
สำหรับผลพยากรณ์ปี 2564 ครั้งที่ 1 (ข้อมูล ณ 27 พฤศจิกายน 2563) พบว่า เนื้อที่ยืนต้น ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 743,352 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 715,946 ไร่ (เพิ่มขึ้น 27,406 ไร่ หรือร้อยละ 3.83) โดยเนื้อที่ยืนต้นทุเรียนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9.82 ส่วนลองกอง เงาะ และมังคุด ลดลงร้อยละ 11.06 , 2.96 และ 0.24 ตามลำดับ เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนทดแทนมากขึ้น เนื้อที่ให้ผล ทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 640,151 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 633,641 ไร่ (เพิ่มขึ้น 6,510 ไร่ หรือร้อยละ 1.03) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.59 ส่วนลองกอง เงาะ และมังคุด ลดลงทั้งหมดร้อยละ 10.62, 3.88 และ 0.55 ตามลำดับ เนื่องจากเกษตรกรตัดโค่นออกเพื่อปลูกทุเรียนทดแทน และในสวนผสมเกษตรกรจะสางต้นผลไม้ทั้ง 3 ชนิดออกเพื่อปลูกทุเรียนแซมและสางออกเพื่อให้ต้นทุเรียนมีทรงพุ่มรับแสงแดดสามารถสังเคราะห์แสงได้เต็มที่
ผลผลิตรวม ทั้ง 4 สินค้า คาดว่าจะมีประมาณ 1,066,330 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 995,501 ตัน (เพิ่มขึ้น 70,829 ตัน หรือร้อยละ 7.11) โดยผลผลิตจะออกมากช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งคาดว่าผลผลิตรวมของทั้ง 3 สินค้าจะเพิ่มขึ้น โดยทุเรียนจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 11.42 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยราคาทุเรียนดีต่อเนื่องมา 6-7 ปี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นทุเรียนดี รวมถึงทุเรียนที่ปลูกใหม่ในปี 2559 เริ่มให้ผลเป็นปีแรก รองลงมาได้แก่ มังคุด และลองกอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.05 และ 0.52 ตามลำดับ ส่วนเงาะ ผลผลิตรวมลดลงร้อยละ 0.34 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นเงาะที่ให้ผลผลิตแล้วทิ้ง เพราะราคาที่ลดลง ไม่จูงใจ ปัญหาแรงงานในการเก็บเกี่ยวเงาะที่หายาก และค่าแรงงานเก็บเกี่ยวสูง ด้านผลผลิตต่อไร่ ทั้ง 4 ชนิด คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำจะมีเพียงพอเลี้ยงต้น ผลผลิตจนได้อายุการเก็บเกี่ยว และอายุต้นที่ให้ผลผลิตได้มาก ประกอบกับราคาจูงใจโดยเฉพาะทุเรียนทำให้เกษตรกรเอาใจใส่ดูแลรักษามากขึ้น
ขณะนี้ ทุเรียน ออกดอกแล้วประมาณร้อยละ 33.46 ผลผลิตที่ติดในช่วงแรกเป็นทุเรียนพันธุ์เบาและทุเรียนที่ใช้สารกระตุ้นการออกดอก โดยจะเป็นพันธุ์กระดุมและหมอนทอง ซึ่งบางส่วนจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป ส่วนผลผลิตจะออกมากช่วงกลางเมษายนถึงกลางพฤษภาคม 2564 เงาะ ออกดอกแล้วเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.60 ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะเตรียมใบและเริ่มตั้งช่อดอก สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบแรกได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายน 2564 มังคุด ขณะนี้ยังไม่ออกดอกแต่มีระยะเริ่มเป็นปากนกแก้วบ้างแล้ว โดยมังคุดส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะเตรียมใบ เกษตรกรเริ่มบังคับต้น ใบที่สมบูรณ์โดยหยุดการให้น้ำเพื่อให้ต้นมังคุดขาดน้ำจะช่วยเร่งกระตุ้นการออกดอกได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2564 โดยผลผลิตจะออกกระจุกตัวสูงสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ลองกอง ขณะนี้ยังคาดการณ์การออกดอกไม่ชัดเจน เนื่องจากฝนยังตกอย่างสม่ำเสมอในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมา ต้นลองกองยังไม่ขาดน้ำ ทำให้ต้น ใบยังไม่สลด ลองกองสามารถออกดอกได้ตลอดหากต้นสมบูรณ์และขาดน้ำ แต่คาดจะเริ่มมองเห็นการติดดอกที่ชัดเจนขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2564 โดยจะสามารถเก็บเกี่ยวลองกองรุ่นแรกได้ในเดือนเมษายน และจะสิ้นสุดการเก็บเกียวในเดือนตุลาคม 2564 โดยจะออกกระจุกมากในช่วงปลายมิถุนายน ต่อเนื่องถึงต้นกรกฏาคม 2564
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้กำหนดแนวทางระยะปานกลางไว้ 3 ปี (ปี 2564 – 2566) คือ การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ เน้นจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ การบริหารจัดการเชิงปริมาณ ปรับสมดุลข้อมูลของอุปสงค์และอุปทาน โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ซึ่งมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งเน้นแผนบริหารจัดการเชิงรุกตามนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักด้านการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP ส่วนกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบด้านการตลาด การกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ให้มีความคล่องตัว การผลักดันการส่งออก การเปิดตลาดต่างประเทศ ส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตผ่านช่องทางสมัยใหม่ โดยเน้นการตลาดออนไลน์
อย่างไรก็ตาม สศท.6 จะติดตามรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิดครั้งที่ 2 ช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 และมีกำหนดลงพื้นที่ติดตามสำรวจข้อมูลสถานการณ์การออกดอก ติดผล และเก็บเกี่ยวผลผลิตจริงกับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลทั้ง 4 ชนิดนี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อใช้ข้อมูลวางแผนบริหารจัดการผลไม้ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคตะวันออกต่อไป สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลไม้ผลภาคตะวันออกเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี โทร. 0 3835 2435 หรืออีเมล zone6@oae.go.th