หนุ่มวิศวะปูฐานที่บ้านเกิด สร้างฟาร์มแพะใหญ่สุดสตูล “จินดารัตน์ฟาร์ม” ได้ธ.ก.ส.หนุนสุดๆ
ที่เห็นนี้คือบันไดทางขึ้นคอกแพะ "จินดารัตน์ฟาร์ม" ใหญ่ไม่ใหญ่ดูบันไดก็แล้วกัน

เรื่องโดย : จตุพล เกษตรก้าวไกล

ทีมงานเกษตรก้าวไกล เดินหน้าปฏิบัติภารกิจตามโครงการ ลุยเกษตรสุดเขตไทย มีโอกาสล่องใต้ ไปที่อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ไปเยี่ยมชม “จินดารัตน์ฟาร์ม” โดยการนำของ คุณศักดา หมื่นสมาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.สำนักงานจังหวัดสตูล และ ทีมงานของธ.ก.ส.สาขาควนกาหลง ได้มาร่วมสมทบด้วย

คุณวีระศักดิ์ ดุกสุขแก้ว หรือ “เอ็ม” ลูกชายลุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งฟาร์ม
คุณวีระศักดิ์ ดุกสุขแก้ว หรือ “เอ็ม” ลูกชายลุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งฟาร์ม

สำหรับ “จินดารัตน์ฟาร์ม” เป็นฟาร์มแพะของคนหนุ่มรุ่นใหม่ ชื่อ “วีระศักดิ์ ดุกสุขแก้ว” หรือ “เอ็ม” อายุ 39 ปี เป็น YOUNG SMART FARMER ที่จบมาทางด้านวิศวะ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง (มจล.) แต่ด้วยหัวใจรักอาชีพการเกษตรและมองว่าควรจะมีอาชีพเสริมให้หลากหลายนอกเหนือจากการทำสวนยางพาราและสวนปาล์ม ที่บางครั้งราคาไม่แน่นอน เริ่มต้นจากการเลี้ยงโคก่อน จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเลี้ยงแพะ โดยมอบให้คุณพ่อคือ ลุงรัตน์ ดุกสุขแก้ว และ คุณแม่จินดา ดุกสุขแก้ว เลี้ยงดูเอาใจใส่เหมือนลูก

“พอวันหยุดลูกชายก็จะลงมาดูเป็นระยะๆ แต่วันนี้เขามาไม่ได้ เพราะต้องไปรับแพะที่สั่งนำเข้ามา” ลุงรัตน์ บอกกับเรา

ลุงรัตน์ ดุกสุกแก้ว
ลุงรัตน์ ดุกสุขแก้ว
ป้าจินดา ดุกสุกแก้ว
ป้าจินดา ดุกสุขแก้ว

สำหรับชื่อ “จินดารัตน์ฟาร์ม” เป็นชื่อพ่อผสมกับชื่อแม่ ที่ชื่อ คุณพ่อรัตน์ และคุณแม่จินดา ถือว่าเป็นชื่อที่มีความหมายมากๆและเป็นสิริมงคลให้ทำมาค้าขายดี

คุณศักดา หมื่นสมาน (คนขวา) ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.สำนักงานจังหวัดสตูล นำทีมเยี่ยมชม...
คุณศักดา หมื่นสมาน (คนขวา) ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.สำนักงานจังหวัดสตูล นำทีมเยี่ยมชม…

วันที่ทีมงานเราไปสัมภาษณ์ ลุงรัตน์ เราพบว่าคุณลุงรัตน์และคุณป้าจินดา เป็นคนอารมณ์ดีมาก ระหว่างถ่ายทำเราได้ยินแต่เสียงหัวเราะ ทั้งลุงรัตน์และป้าจินดามีความสุขกับงานที่ทำ มีความสุขกับการเลี้ยงแพะ ทางทีมงานธ.ก.ส.ก็อยู่กับเราถึงค่ำมืด ไม่เสร็จไม่ยอมกลับสำนักงาน พร้อมช่วยซักถามทุกประเด็นที่สงสัย บรรยากาศเสมือนพี่น้องออกไปทำงานร่วมกัน

พ่อพันธุ์บอร์ ตัวนี้ราคา 300,000 บาท มีคนจองแล้ว
พ่อพันธุ์บอร์ ตัวนี้ราคา 300,000 บาท

ลุงรัตน์ กล่าวอีกว่าน้องวีระศักดิ์ ลูกชายเป็นคนสั่งแพะมาจากอาฟริกา พันธุ์บอร์ เป็นหลัก และยังมีแพะนมพันธุ์ชามี่ รวมทั้งแกะนม พอสั่งมาแล้วก็จะกระจายตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าต้องการ เช่นลูกค้าสั่งมา 70-80 ตัว ก็จะสั่งเผื่อไว้ 100 ตัว ที่เหลือก็จะมาเลี้ยงที่ฟาร์ม แล้วก็มาขยายพันธุ์ที่ฟาร์ม ออกลูกออกหลานจนกลายเป็นฟาร์ม แพะบางแม่ออกลูกบางปี 4 ตัวก็มี เพราะว่า ประมาณ 6 เดือน จะให้ให้ลูก 1 ครั้ง แต่บางครั้งบางแม่ออกลูกแฝดครั้งละ 2 ตัวก็มี

ฟาร์มแพะแห่งที่ 2 ของจินดารัตน์ฟาร์ม รองรับแพะ 500 ตัว
ฟาร์มแพะแห่งที่ 2 ของจินดารัตน์ฟาร์ม รองรับแพะ 500 ตัว

ฟาร์มเลี้ยงแพะของจินดารัตน์นั้นจะมี 2 ฟาร์ม คือ ฟาร์มที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งปรับเปลี่ยนจากฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อมาเป็นฟาร์มเลี้ยงแพะ โดยมี 3-4 โรงเรือนที่อยู่ติดๆกัน รวมทั้งมีคอกเลี้ยงแกะนมอยู่ติดกันด้วย และอีกฟาร์มหนึ่งอยู่ในสวนปาล์ม เป็นฟาร์มที่ออกแบบคอกแพะขึ้นมาใหม่ใหญ่โตมาก ซึ่งคณะของเราได้เดินทางไปดูเพื่อให้เห็นกับตาว่าใหญ่จริงๆ

(ข่าวประกอบ–เปิดสูตรเลี้ยงแพะต้นทุนต่ำ “จินดารัตน์ฟาร์ม-สตูล” และการเข้าถึงเงินทุนของธ.ก.ส.ไม่ยากเลย! https://youtu.be/8t74uIyx8WI)

“คอกเลี้ยงแพะรองรับแพะได้ประมาณ 500 ตัว มีห้องหับเป็นสัดส่วน แยกแพะพันธุ์ต่างๆ แพะแม่ลูกอ่อน และแพะใกล้คลอด ขนาดโรงเรือนมีบนเนื้อที่ประมาณ 2 งาน โดยความคิดของเอ็ม ลูกชาย เขาบอกว่าถ้าทำอะไรต้องทำให้เต็มที่ ทำให้ใหญ่ๆ มีมาตรฐานไปเลย เพื่อรองรับพันธุ์แพะ เพื่อการดูแลที่ง่ายกว่า ใช้คนงานน้อย ใช้คนเลี้ยงแค่ 2 คน เท่านั้น” ลุงรัตน์ กล่าวกับเราด้วยความภูมิใจในตัวลูกชาย โดยที่ได้หยอดให้ฟังว่ามีลูก 5 คน สามารถส่งเสียลูกๆเรียนจบปริญญาทุกคน และภูมิใจที่ว่าตนเองนั้น เป็นคนอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่อำเภอควนกาหลง จากที่ราชการจัดสรรให้ที่ดินทำกิน เรียกว่าแทบไม่มีสมบัติอะไรติดตัวมา แต่ด้วยความขยันทำมาหากินกับป้าจินดาผู้ภรรยาที่เป็นคนพัทลุงและสู้มาด้วยกันจนมีวันนี้ฟาร์มแพะใหญ่สุดสตูล “จินดารัตน์ฟาร์ม”

ด้าน ป้าจินดา ภรรยาลุงรัตน์ ที่เคียงคู่กันไม่คลาดสายตา ทำงานมาด้วยกันตั้งแต่วัยสาว กล่าวว่า “ครั้งแรกลูกหันมาเลี้ยงวัว ครอบครัวก็ไม่เห็นด้วย เพราะเราเคยแต่ปลูกปาล์ม ปลูกยาง เราก็ต่อต้านลูกที่มาเลี้ยงวัว แต่เมื่อหันมาเลี้ยงแพะพ่อแม่ก็สบายใจ เมื่อก่อนเลี้ยงวัวใช้คนงานประมาณ 4-5 คน เมื่อหันมาเลี้ยงแพะลดต้นทุน และได้เงินเร็ว มีความสุขสบายกว่าการเลี้ยงวัว นอกจากนี้ยังขายขี้แพะทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวให้อยู่ได้อย่างสบายๆ ถ้าขี้แพะขายไม่ได้ เราก็นำไปใส่ในแปลงปาล์ม ทำให้ปาล์มออกลูกดีมาก”

กำลังจะให้อาหารข้น
กำลังจะให้อาหารข้น
ให้ใบปาล์มเป็นอาหารว่าง
ให้ใบปาล์มเป็นอาหารว่าง

ลุงรัตน์ เผยเคล็ดลับในการเลี้ยงแพะให้อ้วน แพะเจริญอาหารดี เพราะแพะกินอาหารข้น ที่ทางฟาร์มผสมเอง “เราผสมอาหารเองตกกิโลกรัมละ 4 บาท ส่วนผสมก็คือขี้เค้กของโรงงานน้ำมันปาล์ม มันสำปะหลังเส้น กากถั่วเหลือง เม็ดในปาล์ม นำมาผสมกับเครื่องปั่น สูตรผสม มันเส้นร้อยกิโลกรัมผสมกับขี้เค้ก 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอื่นๆ ก็เท่าๆกัน นำมาคลุกเคล้ากัน นอกจากนี้ยังมีทางปาล์ม(ใบปาล์ม)นำมาเป็นอาหารเสริม ทางปาล์มหาง่าย เราไปเก็บมาจากสวนที่เขาตัดทิ้ง ทุกสวนเขายินดีให้ จริงๆจะว่าเป็นอาหารหลักก็ได้ เพราะแพะที่ฟาร์มชอบรับประทานใบปาล์มาก วิธีการให้อาหารมื้อเช้าพอให้อาหารข้นเสร็จก็จะกินทางปาล์มต่อ ช่วงประมาณ 3 โมงเย็น ก็จะให้อาหารข้นอีกครั้งหนึ่ง รวมวันละ 2 ครั้ง และต่อด้วยกินทางปาล์ม ทำแบบนี้ทุกวัน เป็นการลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี”

ลูกแพะตัวนี้อายุ 1 เดือน 15 วัน ราคา 15,000 บาท เกษตรกรจากร้อยเอ็ดจองแล้ว
ลูกแพะตัวนี้อายุ 1 เดือน 15 วัน ราคา 15,000 บาท เกษตรกรจากร้อยเอ็ดจองแล้ว

สำหรับเรื่องตลาดแพะ ลุงรัตน์ เปิดเผยว่า ทางภาคเหนือและอีสานต้องการเยอะ มีความต้องการทั่วประเทศ วันก่อนก็ส่งไปศรีสะเกษ 10 กว่าตัว ขายตัวละ 50,000 บาท เป็นลูกแพะอายุประมาณ 1 เดือนครึ่ง วิธีการสร้างการรับรู้หรือการขายนั้นทางลูกชายจะ LIVE สด ขายผ่านทางเฟสบุ๊ค “จินดารัตน์ฟาร์ม JindaRat Farm” พอไลฟ์จบก็จะมีคนสั่งซื้อทันที

“การเลี้ยงแพะตลาดไม่ตัน รัฐบาลส่งเสริม ธ.ก.ส.ส่งเสริม และยังมีความต้องการของตลาดต่างประเทศอีกด้วย บ้านเราเขาซื้อไปทำพันธุ์ คนละ 2-3 ตัว เมืองนอกก็รับซื้อ สนใจติดต่อซื้อแพะโทรศัพท์มาได้ที่เบอร์ 08 4448 5550 เบอร์นายเอ็ม ลูกชายผม เจ้าของฟาร์มจินดารัตน์ตัวจริงครับ” ลุงรัตน์ กล่าวอย่างอารมณ์ดีฟาร์มแพะใหญ่สุดสตูล “จินดารัตน์ฟาร์ม”

สำหรับ โรคภัยไข้เจ็บของแพะ ลุงรัตน์ บอกว่าได้ไปอบรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนมาแล้ว เราเคยเลี้ยงวัวมาก่อน ยาแพะกับยาวัวไม่ต่างกันเลย เมื่ออากาศเปลี่ยนเราก็ไม่ปล่อยให้โดนฝน และจะมียาดีคือ น้ำบอระเพ็ดที่ผสมไปในอาหาร ใช้ได้ผลดีมาก

ส่วน การออกแบบคอก เราต้องยกคอกให้สูง แพะนอนพื้นไม่ได้ ไม่เหมือนแกะ เพราะแกะยังนอนพื้น การเลี้ยงแพะไม่ว่าจะเป็นภาคไหนๆ ก็ต้องยกพื้นให้สูง โรงเรือนที่เหมาะสมควรสูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร หรืออย่างน้อย 180 ซม. แบ่งพื้นที่ให้แพะอยู่เป็นล็อกๆ และจะต้องมีคอกให้แพะคลอดด้วย

กำลังโกยขี้แพะใส่กระสอบ รายได้แต่ละเดือนพอเลี้ยงคนงานได้สบายๆ
กำลังโกยขี้แพะใส่กระสอบ รายได้แต่ละเดือนพอเลี้ยงคนงานได้สบายๆ

สิ่งที่สร้างรายได้ให้กับจินดารัตน์ฟาร์ม นอกจากขายพันธุ์แพะเลือดร้อยและแพะลูกผสมแล้ว ยังขายมูลแพะ โดยการนำมาตากแห้งก่อนแล้วนำไปใส่ถุงปุ๋ยขาย ถุงละ 40-50 บาท เดือนหนึ่งๆมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท เทียบจากแพะเพียง 100 ตัว ในขณะที่แพะกินอาหารเดือนหนึ่งๆประมาณ 4,000-5,000 บาทเท่านั้นฟาร์มแพะใหญ่สุดสตูล “จินดารัตน์ฟาร์ม”

เบื้องหลังของอาชีพการเลี้ยงแพะที่ยืนหยัดมาได้จนทุกวันนี้ ลุงรัตน์บอกว่าได้ใช้เงินทุนหมุนเวียนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยใช้บริการสินเชื่อธ.ก.ส. มานาน 30 ปีแล้ว ธ.ก.ส.บริการดี เอาใจใส่ต่อลูกค้า มีอะไรก็โทรศัพท์หากัน “ลุงรัตน์ ดอกเบี้ยถูกเอาไหม ผมก็บอกว่าเอา ไม่ใช่บริการธ.ก.ส.แล้วจะใช้ใคร” (ลุงรัตน์พูดแบบอารมณ์ดีต่อหน้าทีมงานธ.ก.ส.) ฟาร์มแพะใหญ่สุดสตูล “จินดารัตน์ฟาร์ม”

คุณอนันต์ อาดำ หรือ บังนันต์ หัวหน้าหน่วยธ.ก.ส.สาขาควนกาหลง กล่าวว่า เข้ามาดูแลลุงรัตน์ ตั้งแต่เป็นฝ่ายสินเชื่อ ลุงรัตน์โทรศัพท์ไปติดต่อ ตอนนั้นทำสวนปาล์มและสวนยางเยอะ แต่จะเปลี่ยนมาทำปศุสัตว์ ทั้งเลี้ยงวัวและเลี้ยงแพะ ทางธ.ก.ส.ก็มาดูแล และอนุมัติสินเชื่อให้ตั้งแต่เริ่มต้นเลย

ทีมงาน ธ.ก.ส.และเกษตรก้าวไกล ชูมือเฮ...ยินดีในความสำเร็จของจินดารัตน์ฟาร์ม
ทีมงาน ธ.ก.ส.และเกษตรก้าวไกล ชูมือเฮ…ยินดีในความสำเร็จของจินดารัตน์ฟาร์ม

ด้าน คุณศักดา หมื่นสมาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.สำนักงานจังหวัดสตูล กล่าวว่า อาชีพหลักของเกษตรกรในพื้นที่ก็จะทำสวนยาง สวนปาล์ม และทำการประมงเป็นหลัก ต่อมามีการปรับเปลี่ยนอาชีพมาเลี้ยงปศุสัตว์ อย่างเช่น ลุงรัตน์ ทางธ.ก.ส.ก็ให้ความสำคัญ ในรูปแบบของ ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ หรือที่เป็นทายาทเกษตรกร ซึ่งธ.ก.ส.มีนโยบายชัดเจน อย่างเช่นสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด โดยที่ลูกลุงรัตนถือว่าได้กลับมาต่อยอดอาชีพพ่อแม่ในบ้านเกิด ซึ่งลูกชายลุงรัตน์ยังใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สั่งแพะมาจากต่างประเทศ ใช้วิธีการ LIVE สดขาย เราเห็นความสำคัญจึงสนับสนุนสินเชื่อ ซึ่งเกษตรกรไม่ว่ารายเล็ก รายใหญ่ สามารถเดินเข้ามาหาธ.ก.ส.ได้ เพราะเราเป็นมากกว่าธนาคาร เราจะเคียงคู่รู้ค่าเกษตรกร เชื่อมโยงกับเกษตรกรทุกสาขา ถ้าจะมาเยี่ยมที่จินดารัตน์ฟาร์ม ติดต่อลุงรัตน์หรือลูกไม่ได้ ให้ติดต่อมาที่ธ.ก.ส.ได้ เรายินดีที่จะประสานงานกับเกษตรกรให้ด้วย

“ธ.ก.ส.เป็นมากกว่าธนาคาร เราจะยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรตลอดไปครับ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.สำนักงานจังหวัดสตูล กล่าวในที่สุด

ภาพนี้ที่ด้านหน้าจินดารัตน์ฟาร์ม แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นมีคอกเลี้ยงแพะที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดสตูลหรือภาคใต้ก็ว่าได้ เพราะว่าสามารถสามารถรองรับแพะได้ถึง 500 ตัว
ภาพนี้ที่ด้านหน้าจินดารัตน์ฟาร์ม แห่งที่ 2 เป็นคอกเลี้ยงแพะที่ใหญ่สุดของจังหวัดสตูล เพราะว่าสามารถสามารถรองรับแพะได้ถึง 500 ตัว

(ข่าวประกอบ–จะเข้าถึงบริการของ ธ.ก.ส.ได้อย่างไร? เกษตรกรเลี้ยงแพะใหญ่สุดสตูลชี้ชัดๆ https://youtu.be/dxUtvHmZqXY)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated