เรื่องโดย : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล
“จาก “โครงการครึ่งไร่คลายจน” ของสำนักงาน ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ได้เข้ามาสนับสนุนให้ไร่แสงสกุลรุ่งของเรา นับเป็นการสร้างประโยชน์ให้อย่างมาก เป็นการช่วยเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ จากการปลูกพืชที่มากชนิดขึ้น ทำให้เรามีรายได้เพิ่มทั้งแบบรายวัน รายเดือน และรายปี”
คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ หรือ “แสบ” ต้นแบบเกษตรกรทันสมัย (Young Smart Farmer) เจ้าของ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ไร่แสงสกุลรุ่ง ตั้งอยู่เลขที่ 111 หมู่ที่ 7 ตำบลกลอนโด อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี โทร. 09 1753 6491 ย้ำถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น ภายใต้แผนการพัฒนาของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ที่วันนี้เป็นมากกว่าธนาคาร ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดขึ้นบนพื้นที่ 10 ไร่ของครอบครัว
“แนวคิดของธกส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ในการดำเนินโครงการครึ่งไร่คลายจนนั้นเกิดขึ้น เพราะ มีความต้องการที่จะหาแนวทางทำอย่างไรให้เกษตรกรได้ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ต้องใช้พื้นที่เป็น 10 ไร่ หรือ 100 ไร่ แต่ใช้พื้นที่แค่ 200 ตารางวา ก็สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้”
“พื้นที่ 200 ตารางวา สามารถจัดสรรแบ่งการใช้ประโยชน์ ได้ทั้ง เป็นที่อยู่อาศัย ทำเกษตรเช่น ปลูกผักอินทรีย์ ปลูกไม้ผลอินทรีย์ ขุดบ่อน้ำเพื่อไว้ใช้ในพื้นที่ และใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ โดยในด้านตลาดรองรับผลผลิตนั้น จะสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อนำผลผลิตที่ได้ของสมาชิกแต่คนมารวมกันก่อนส่งจำหน่ายในตลาดต่าง ๆ” คุณมณฑาทิพย์ รักษากุล พนักงานพัฒนาธุรกิจ ธ.ก.ส. สาขาด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เล่าถึงที่มา และสิ่งที่ ธ.ก.ส. มุ่งดำเนินการ เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย
สำหรับที่ไร่แสงสกุลรุ่ง ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา เพราะเป็นการดัดแปลงลักษณะการดำเนินการ ที่เดิมจะเน้นให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ปรับพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือ เป็นพื้นที่ใหม่ เพื่อดำเนินการตามโครงการครึ่งไร่คลายจน แต่ด้วยพื้นที่ 10 ไร่ของไร่แห่งนี้ได้มีการปลูกพืชหลากชนิดในลักษณะเกษตรผสมผสานภายใต้ระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น กล้วย มะพร้าวน้ำหอม มะกอกน้ำ ที่นา และบ่อเลี้ยงปลา
“จากจุดนี้เราจึงปรับในเรื่องการเพิ่มกิจกรรมการเกษตร โดยส่งเสริมให้ทำในลักษณะของหลุมพอเพียง คือ เอาพื้นที่เดิมที่มีต้นไม้อยู่เดิมมาฟื้นฟูพัฒนา เพื่อให้ได้ผลผลิตดีขึ้น ด้วยการปลูกพืชอื่นที่เกื้อกูลกันเพิ่มเข้าไป เช่น เช่นพืชผักสวนครัว การปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ เพิ่มเข้าไป” คุณมณฑาทิพย์ กล่าว
หลุมพอเพียง สร้างรายได้แบบเพียงพอ..
แล้ว ครึ่งไร่จะคลายจนได้อย่างไร ? คำถามนี้มีคำอธิบายจากกมลวรรณว่า สำหรับหลุมพอเพียงที่ทางธ.ก.ส.เข้ามาสนับสนุนนั้น ช่วยทำให้เราสามารถเพิ่มชนิดของพืชได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมนั้นที่ไร่ของเรามีต้นกล้วยน้ำว้า หรือกล้วยหักมุก หลุมละ 1 ต้น แต่เมื่อธ.ก.ส.นำเรื่องของหลุมพอเพียงเข้ามา ทำให้สามารถปลูกต้นไม้หลายๆชนิดเพิ่มในที่เดียวกัน เช่น ไม้สัก และไม้พยุง ซึ่งเป็นผลผลิตในอนาคต เป็นรายได้หลังเกษียณ ดังนั้นในหลุมพอเพียงเราจึงมีทั้ง กล้วย ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ และพืชผักสวนครัว อย่าง กระเพรา โหระพา มะกรูด เป็นต้น
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ได้ให้คำจำกัดความของหลุมพอเพียงว่า การปลูกหลายอย่างในหลุมเดียวกัน ใช้พื้นที่ในการปลูกปลูก 1x1 ตารางเมตร ปลูกไม้ 4 – 5 ประเภท 5 – 10 กว่าชนิดพืชในหลุมเดียวกัน เพื่อลดภาระการปลูก การรดน้ำ การดูแลรักษา ให้ทุกอย่างเกื้อกูลกัน ถือเป็นรูปแบบพอที่เกษตรกรจะมีพื้นที่ มีเวลา มีกำลังพอทำได้ และที่สำคัญคือ การดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อันจะมาซึ่งความมั่นคง และยั่งยืน เกิดการขยายผล จาก 1 หลุม เป็น 1 ไร่ หรือเป็น 10 ไร่ได้ในโอกาสต่อไป
“จากเดิมนั้นผลผลิตของเราทั้งไร่จะเป็นไปตามฤดูกาล แต่ใช้วิธีการหลุมพอเพียงกับที่ธ.ก.ส.ส่งเสริม จะทำให้เรามีรายได้ทั้ง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี เพราะฉะนั้นความยั่งยืนของเกษตรกรก็จะมีเพิ่มมาก ขึ้น และจะมากยิ่งขึ้น หากเกษตรกรนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูป เพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น จะช่วยทำให้มีรายได้เพียงพออย่างแน่นอน ”
“สำคัญที่สุดของการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ต้องปลูกเองได้ แปรรูปเองได้ และ ขายเองได้” นั่นคืออีกหนึ่งประโยคที่เกษตรกรเจ้าของไร่แสงสกุลรุ่ง ฝากไว้เป็นข้อคิด
เลี้ยงผำ 1 บ่อ ได้ผลผลิต 2-3 กก.ๆละ 100-150 บาท
ผำ เป็นอีกหนึ่งในผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ภายใต้โครงการครึ่งไร่คลายจน ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับไร่แสงสกุลรุ่นได้เป็นอย่างดีในวันนี้ โดยน้องแสบได้ใช้พื้นที่ว่างข้างบ้านที่อยู่ใต้หลังคา ขนาดประมาณ 10 ตารางเมตร เป็นสถานที่เพาะเลี้ยง
สำหรับจุดเริ่มต้นนั้น น้องแสบ เล่าให้ฟังว่า ด้วยความโชคดีที่ได้วางเป้าหมายอาชีพ ด้วยการยึดแนวทางเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2542 จึงทำได้ได้สภาพแวดล้อมที่ดี เรียกว่า ปลอดภัยจากสารพิษทั้งปวง
“ผำนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาที่ไร่ของเราแต่ดั้งเดิม เพิ่งมาเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่านี่คืออะไร แต่พอดีว่า มีคนในอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน และเป็นคนมาจากทางภาคอีสาน ได้มาเห็น และบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในบ่อน้ำของเรา นั่น คือ ผำ”
น้องแสบ บอกว่า จากข้อมูลที่ได้รับมาจากสำนักงานประมงจังหวัดกาญจนบุรี ชี้ว่า ผำ หรือที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นว่า ไข่แหน ไข่น้ำ ไข่ขำ เป็นพืชมีดอกที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งทางภาคอีสานนิยมนำไปประกอบอาหารกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น แกง หรือ ผัด บางที่ก็ใส่เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติให้มีความหอม มัน อร่อย มากยิ่งขึ้น
ผำ จัดเป็นพืชน้ำที่มีลักษณะเป็นสีเขียวขนาดเล็กคล้ายไข่ปลา กระจายคลุมเหนือผิวน้ำเป็นแพขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง เช่น บึง และหนองน้ำธรรมชาติทั่วไป แต่ที่น่าสนใจยิ่ง คือ จากรายงานผลวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของไข่น้ำ พบว่า ใน 100 กรัมน้ำหนักแห้ง ผำให้พลังงานต่อร่างกาย 8 กิโลแคลอรี เส้นใย 0.3 กรัม แคลเซียม59 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม และยังมีวิตามินเอ บี1 บี 2 และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด เช่น ลิวซีนวาลีน ฟีนิวอลานีน ฯลฯ เป็นต้น
“สำหรับในภาคกลางนั้น จะพบเห็นผำเกิดขึ้นตามธรรมชาติเองได้น้อย ดังนั้นจึงเป็นความโชคดีของไร่แสงสกุลรุ่งที่ผำได้มาเกิดขึ้นในแหล่งน้ำของเรา ต่อมาจึงได้ทดลองช้อนไปจำหน่าย ที่ตลาดประรัฐของธ.ก.ส. กาญจนบุรี ลูกค้าที่มาเห็นต่างถามว่า คืออะไร แล้วกินได้จริง ๆหรือ เป็นอันตรายกับคนกินไหม”
แต่ในวันนี้ ผำของไร่แสงสกุลรุ่ง ไม่ถูกถามเช่นนั้นแล้ว !!
แต่จะถูกถามว่า วันนี้มีผำมาขายไหม ?
“ทั้งนี้ เพราะวันนี้ได้เราได้ปรับรูปแบบวิธีการเพาะเลี้ยงจากในแหล่งน้ำธรรมชาติมาสู่การเลี้ยงในวงบ่อซีเมนต์ มีการควบคุมในเรื่องของความสะอาด และสุขอนามัยต่าง ๆทุกขั้นตอน จึงทำให้ได้ผำที่สะอาดและสด จำหน่ายให้กับลูกค้าได้มากขึ้น” น้องแสบ กล่าว
สำหรับวิธีการเลี้ยง น้องแสบบอกว่า หลังจากที่เตรียมวงบ่อซีเมนต์เรียบร้อย จะใส่น้ำสะอาด ซึ่งยิ่งผ่านระบบเครื่องกรองน้ำได้ยิ่งดี โดยในวงซีเมนต์ 1 บ่อ จะใส่น้ำประมาณ 3 ใน 4 ส่วน หลังจากนั้นจะนำผำมาปล่อยลงเลี้ยงในอัตรา 500 กรัม หรือครึ่งกิโลกรัม ต่อ 1 บ่อ
“ส่วนการสร้างอาหารให้ผำที่เลี้ยง จะใช้น้ำหมักปลา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ปุ๋ยปลา เติมลงไปในบ่อเลี้ยงประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ โดยใส่พร้อมกับผำที่นำมาปล่อยลงเลี้ยง เพราะผำเขาคือ ต้นพืชต้นหนึ่งที่ต้องการปุ๋ยที่สำคัญเหมือนกับต้นไม้อื่น นั่นคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรตัสเซียม หรือ N P K ”
“อีกจุดที่สำคัญ นั่นคือ เรื่องของแสงแดด การเลี้ยงผำต้องเลี้ยงสถานที่มีแดดรำไรเท่านั้น อย่าให้อยู่ในสถานที่ที่มีแดดจัด เพราะจะทำให้ผำไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี”
น้องแสบ อธิบายถึงวิธีการเลี้ยงผำต่อไปว่า หลังจากเลี้ยงครบ 7 วัน แล้วจะทำการเปลี่ยนน้ำที่ใช้เลี้ยงใหม่ โดยช้อนผำที่มีอยู่ทั้งหมดขึ้นมา แล้วปล่อยน้ำออกให้หมด จากนั้นจะเติมน้ำใส่ลงไปในอัตราเท่าเดิม พร้อมเติมปุ๋ยน้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะ และผำที่ช้อนขึ้นมา โดยทำการเลี้ยงต่อไปอีก 7 วัน จะสามารถเก็บผำจำหน่ายได้ โดยน้ำหนักผำที่ได้จากการเลี้ยงต่อ 1 บ่อนั้นอยู่ที่ประมาณ 2 – 3 กิโลกรัม
โดยก่อนที่จะจำหน่ายให้กับลูกค้านั้นต้องมีการนำผำที่ตักจากบ่อเลี้ยงนี้ไปทำความสะอาดด้วยการล้างน้ำอีก 4 ครั้ง จึงจะสามารถส่งให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อได้
“สรุปว่าในการเลี้ยงผำ 1 รุ่นใน 1 บ่อ จะใช้เวลาการเลี้ยงทั้งหมด 14 วันหรือ 2 สัปดาห์ ก็จะได้ผำมาจำหน่ายให้กับลูกค้า โดยราคาที่จำหน่ายจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-150 บาท ซึ่งบ้างคนอาจถามว่าทำไมถึงจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าที่อื่น ซึ่งปกติอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-40 บาท สาเหตุเพราะด้วยกระบวนการเลี้ยง และความสะอาดที่ลูกค้ามั่นใจได้เลย” น้องแสบ กล่าว
สำหรับการจำหน่ายผลผลิตผำที่ไร่แสงสกุลรุ่งแห่งนี้ ได้สร้างช่องทางจำหน่ายในหลายๆ รูปแบบ ทั้งการนำมาแปรรูปเป็นอาหาร เช่น ไข่เจียวผำ ขนมจีนน้ำยาผำ เป็นต้น จัดเป็นเมนูสำหรับมื้อกลางให้กับเพื่อนเกษตรกรที่เดินทางมาศึกษาดูงานที่สวนในมื้อกลางวัน โดยสนนราคานั้นขึ้นอยู่กับการสั่งจอง
ขณะที่อีกช่องทางคือ การนำไปจำหน่ายตามตลาดนัดต่าง ๆ ที่ส่วนราชการจัดขึ้นในลักษณะของผำสด รวมถึงการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์โดยใช้เฟสบุ๊คของไร่แสงสกุลรุ่งเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีการตอบรับเป็นอย่างดี
ขณะที่อีกช่องทางสร้างรายได้คือ การนำมาแปรรูปเป็นสบู่ผำ ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ด้วยมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงผิว ทำหลายคนที่มีโอกาสได้นำไปใช้ต่างติดใจ และได้กลายเป็นลูกค้าขาประจำสั่งซื้อกันมาอย่างต่อเนื่อง
นี่คือ อีกหนึ่งความสำเร็จของเกษตรกรต้นแบบภายใต้โครงการครึ่งไร่คลายจนของธ.ก.ส.กิจการสาขาภาคตะวันตก ที่วันนี้พร้อมให้คนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำรูปแบบไปปรับใช้กับการประกอบอาชีพของตนเอง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป