กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเครื่องตรวจความอ่อน-แก่ ของทุเรียนโดยการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้มีผู้แทนจาก 4 หน่วยงานประกอบด้วย นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ผศ.ดร โชติพงษ์ กาญจนประโชติ ศูนย์ความเป็นเลิศนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ และนายธีรภัทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก โดยมี นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ นายเรือง ศรีนาราง รองนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก เป็นพยานในการลงนามฯ
นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ในการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาเครื่องตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียนทั้งเป็นเครื่องต้นแบบและเป็นเครื่องที่นำไปใช้ได้จริงในสวนทุเรียนของเกษตรกร เพื่อลดปัญหาการเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนระยะเวลาที่เหมาะสม โดยจะร่วมกันวิจัยและพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการวิจัยและร่วมกันสนับสนุน ผลักดัน ให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะต่อไป
“ทั้ง 4 ฝ่ายจะได้พิจารณาเห็นสมควร หรือเห็นชอบร่วมกันในอนาคต โดยมหาวิทยาลัย จะพิจารณาคัดเลือกวิธีการ/เครื่องมือต้นแบบในการจัดทำเครื่องมือตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียนพร้อมดำเนินจัดทำเป็นเครื่องต้นแบบและทดลองทดสอบในพื้นที่ภาคตะวันออกจนให้มีความเสถียรภาพสูงสุด พร้อมขยายผลและขอสนับสนุนงบประมาณในการผลิตเครื่องตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน สำหรับนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป ส่วน สสก. 3 ระยอง จะประสานความร่วมมือพร้อมให้การสนับสนุนในการวิจัยและพัฒนาเครื่องตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียนจนบรรลุผลสำเร็จ และให้คำปรึกษาตลอดถึงคำแนะนำเชิงวิชาการสำหรับเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำเครื่องตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน และ สวพ.6 จะเป็นผู้ให้ข้อมูลและความรู้ทางวิชาการในการประกอบการทำเครื่องตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียนอย่างถูกต้อง พร้อมประสานงานและให้คำแนะนำเพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จ และร่วมทดลองและทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน ขณะที่ สทอ. (สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก) ทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำเครื่องต้นแบบพร้อมร่วมทดลองและทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน” นายดำรงฤทธิ์ กล่าว
ด้าน นายธีรภัทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย กล่าวว่า ในปี 2564 สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก จะเป็นแกนกลางการรวบรวมผลผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ ภายใต้แบรนด์สมาพันธ์ฯ และมาตรฐานเดียวกัน คือ ทุเรียนดี ราคาเป็นธรรม นำตลาด ที่ไม่แก่ ไม่ขาย ในราคาขั้นต่ำ 75 บาท/กิโลกรัม ทุเรียนอ่อน จะไม่มีในแบรนด์สมาพันธ์ฯ พร้อมควบคุมคุณภาพ ภายใต้คณะทำงานตรวจสอบคุณภาพ หรือ QC ของสมาพันธ์ฯ และการรับรองมาตรฐาน การตรวจย้อนกลับ ด้วยการผลักดันให้สมาชิกผ่านระบบการรับรองมาฐาน GAP และมี QR code
“ขอยืนยันว่า จะพยายามขับเคลื่อนให้สมาชิกสมาพันธ์ฯ ที่ปัจจุบันนี้มีมากกว่า 700 ราย ก้าวเดินต่อไปด้วยความมั่นคงยั่งยืน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกเอง ต่อเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ต่อเกษตรชาวสวนทุเรียนไทย และต่อการพัฒนาทุเรียนไทยทั้งระบบอยู่ในมาตราฐานเดียวกัน“ นายธีรภัทร กล่าว