เรื่อง/ภาพ : จตุพล เกษตรก้าวไกล
ลุงทุยหรือเถ้าแก่ทุย (คุณประสงค์ ภู่ทอง) เล่าถึงความเป็นมาของโค้งพันล้าน ให้กับทีมงานเกษตรก้าวไกลฟัง ในวันที่เราเดินทางไปเยือนถึงด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา พร้อมกับทีมงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)สาขาโชคชัย

เถ้าแก่ทุย เล่าว่า จริงๆ แล้วด่านเกวียนเน้นการปั้นดินเผามานานแล้ว ตั้งแต่บรรพบุรุษ เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่พามาทำตั้งแต่จำความได้ อยู่ในวงการเครื่องปั้นดินเผามานาน ส่วนมากเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนจะส่งออก 80 เปอร์เซ็นต์ ขายในประเทศเพียง 20 เปอร์เซ็นต์

“ผมทำเครื่องปั้นดินเผาเจ๊งมาแล้วถึง 3 รอบ แต่ก็สู้มาจนวันนี้ เริ่มจากพ่อผมมีรถอีแต๋น จึงไปเก็บฟืนมาขาย แต่ไม่มีใครซื้อ จึงมากองรวมก้นไว้ที่บ้าน มีคนมาชักชวนให้มาทำเครื่องปั้นดินเผา เริ่มจากเพื่อนๆ และลูกน้องเรียกไอ้ทุย เมื่อทำเครื่องปั้นดินเผา ผมก็เลี้ยงเหล้าลูกน้องทุกวัน อายุผมเพียง 22 ปี ลูกน้องจึงเริ่มเรียกเถ้าแก่ ทำให้หลงตัวเอง สั่งคนทำอย่างเดียว ตัวเองไม่มีประสบการณ์ ไม่เป็นงานเลย จึงเจ๊งรอบแรก ส่วนครั้งที่ 2 ข้าราชการ อ.ปักธงชัย เขามาชวนหุ้นกัน เราก็ร่วมหุ้น แต่เขาปล่อยให้ผมทำคนเดียว ส่วนหุ้นส่วนผม 4 คนพากันไปกินไปเที่ยวในโรงแรม ทิ้งให้ผมลำบากอยู่คนเดียว จึงเจ๊งเพราะหุ้นส่วน และเลิกกันก่อน ส่วนครั้งที่ 3 เจ๊งเพราะความโลภ เราเผาแผ่นหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ไม่ขอขมาหลวงพ่อคูณ ของที่เผามาจึงแตกเสียหายนับสิบเตา ลงทุนเตาละเป็นหมื่น ปู่ย่าตายายก็บอกว่า ไปเผาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ขออนุญาตจึงไม่ประสบความสำเร็จ” เถ้าแก่ทุย ย้อนอดีตให้ฟัง

เถ้าแก่ทุย เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า ผมมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ด้วยความที่เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ได้รับอานิสงส์จากธ.ก.ส. ที่ไปกู้เขามา เพราะกู้ธ.ก.ส.มาตั้งแต่ปี 2538 โดยไปคุยกับธ.ก.ส.และกสิกรไทยซื้อที่ดินเพิ่มอีก ซื้อมาในราคา 2.5 ล้านบาท จำนวน 4 ไร่ 3 งาน แต่มาปรับถมดินเองหมดเงินอีกนับล้านบาท
ประมาณปี 2549 เริ่มมีคนมาขอเช่า และมีการเซ้งต่อๆ กันไป ทำให้การค้าขายคึกคัก โดยเฉพาะปี 2551 มีการเซ้งต่อๆกันหลายราย ร่ำรวยไปหลายคน มีคนมาเช่าเต็ม ระยะหลังมีคนไม่จ่ายค่าเช่า เมื่อหมดสัญญาพากันเลิกไป แล้วจึงยึดมาทำโรงปั้นดินเผาอย่างทุกวันนี้
ผมมีลูก 3 คน ลูกสาวคนแรก มารับสืบทอดบริหารร่วมกับพ่อแม่ ลูกสาวจบใหม่ๆ มาก็ไปทำงานที่อเมซอนก่อน แต่ก็ลาออกมาสืบทอดเจตนารมณ์ของพ่อ คนที่สองเขาไปทำงานอยู่ที่กรมทรัพยากรน้ำ ส่วนคนสุดท้องกำลังเรียนหนังสืออยู่

ในส่วนของ คุณวีระชัย คำจันทร์ลา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาโชคชัย และ คุณประเสริฐศักดิ์ ไชยจารุวณิช พนักงานพัฒนาธุรกิจ 7 ธ.ก.ส. สาขาโชคชัย กล่าวว่า มาเจอลุงทุยตั้งแต่เริ่มต้น สนับสนุนสินเชื่อให้ซื้อที่ดิน จนมาสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ถ้าลุงทุยมีการขยายธุรกิจหรือขยายหน้าร้านใหม่ ก็ไปติดต่อธ.ก.ส.ได้ เพราะธนาคารเห็นศักยภาพของลุงทุย
เถ้าแก่ทุย กล่าวว่า ผมเป็นลูกค้าธ.ก.ส.มาตั้งแต่ปี 2538 คุยกันแบบเป็นกันเอง ดีกว่าทุกธนาคาร เป็นเสมือนญาติมิตร ธนาคารอื่นบางครั้งจ่ายช้าก็ยื่นโนติส แต่ธ.ก.ส.ผ่อนจ่ายได้ เรามีมากก็จ่ายมาก ส่วนใหญ่เราจ่ายตรงเวลา กลัวเขาจะเกลียด ผมมีธ.ก.ส.จึงมีอาณาจักรใหญ่ขนาดนี้

“น้องซิ่ว” (คุณปิ่นพินัทธ์ ภู่ทอง) ลูกสาวคนโต เล่าว่าโดนคุณพ่อหลอกใช้ตั้งแต่เด็ก วันเสาร์อาทิตย์ก็ต้องแบกกระถาง ช่วยพ่อช่วยแม่ แต่มาทำจริงๆจังๆ ช่วงที่พ่อมาทำโรงงานในปี 2559 มาช่วยกันบริหาร มาออกแบบผลิตภัณฑ์เอง ขายเองหน้าร้าน เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจดีมากๆ
“น้องซิ่ว” กล่าวว่าการออกแบบเราจะทำเครื่องปั้นดินเผาให้เข้ากับทุกบ้าน เน้นเรียบง่าย และเน้นที่สีให้แตกต่างจากเพื่อนบ้าน แบบเดิมๆ เขาจะนิยมการแกะลาย แต่เราชอบงานเรียบๆ ลงสีเอง ทำสีเอง พัฒนารูปแบบต่างๆ ขึ้นมา ร่วมกับพี่นักออกแบบเขาทำให้
ปัจจุบันโค้งพันล้านมีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบมาก คอนเซ็ปต์ของเราต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่งานไหนที่ลูกค้าสั่งทำก็ทำตามสั่ง
“น้องซิ่ว” กล่าวอีกว่า จุดเด่นของโค้งพันล้าน เรามีงานใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ และงานรีรัน เราจะไม่ตามกระแสข้างนอก เราจะตามใจตัวเอง พวกพี่ๆ ที่มาช่วยงาน เขามีตระกูลที่ทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่แล้ว จึงมีทักษะมาร่วมกันพัฒนางาน ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีตอนนี้คือโอ่งปลูกต้นไม้ในบ้านหรือปลูกบัว ทำออกมาทีไรก็ขายดิบขายดี จนทำไม่ทัน

“น้องซิ่ว” พูดถึงการพัฒนาสินค้าว่า เราจะพัฒนารูปแบบใหม่ๆ และงานรีรัน ไม่เน้นการแกะลายเหมือนคนอื่น ส่วนการตลาดเราจะเน้นลูกค้าเก่าๆ ที่เขายังสั่งงานเราอยู่ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ แม้แต่ช่วงโควิดยังมีสั่งมาเรื่อยๆ นอกจากนี้เรายังปลูกบัวเป็นการต่อยอดความคิดของพ่อมาใส่โอ่งขาย ปรากฏว่าขายดิบขายดี เราจะพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี แข็งแรง มาเพิ่มและต่อยอดผลิตภัณฑ์ จะสานต่องานของด่านเกวียน และจะพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ออกสู่ตลาด

ด้วยความสำนึกถึงบรรพบุรุษ และสำนึกรักบ้านเกิด ลุงทุย จึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของโค้งพันล้านมาทำเป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้ พร้อมกับปั้นรูปปั้นของบรรพบุรุษไว้ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของชาวด่านเกวียน ที่สร้างงานไว้ให้ชุมชน ไม่ต้องออกไปทำงานถึงกรุงเทพฯ เป็นรูปปั้นสวยงาม ใกล้เสร็จและเปิดให้ชมแล้วครับ