ซีพีเอฟร่วมเติมประสบการณ์ เยาวชนไทยวิถีใหม่ แหล่งเรียนรู้ ในโครงการ
ซีพีเอฟร่วมเติมประสบการณ์ เยาวชนไทยวิถีใหม่ แหล่งเรียนรู้ ในโครงการ"เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน"

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้าส่งเสริมโภชนาการที่ดีสู่เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ เติมประสบการณ์เรียนรู้นอกห้องเรียน ในโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ปูพื้นฐานให้เด็กและเยาวชนไทยสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต

สถานการณ์โควิด 19 รอบใหม่ ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการเรียนของนักเรียนในหลายพื้นที่ต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ แต่อีกหลายโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เด็กๆ ยังเดินทางมาเรียนและทำกิจกรรมต่างๆตามปกติ ซึ่งนอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการในห้องเรียนแล้ว การเรียนรู้จากประสบการณ์นอกห้องเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เด็กๆ นำไปใช้เป็นอาชีพได้ในอนาคต เช่น โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่สนับสนุนโดยซีพีเอฟและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ส่งเสริมให้เด็กๆ มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ลงมือปฏิบัติจริง

ซีพีเอฟร่วมเติมประสบการณ์ เยาวชนไทยวิถีใหม่ แหล่งเรียนรู้ ในโครงการ"เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน"

ด.ญ.พิยดา เยอะหนื่อ หรือน้องหมีพู อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านดู่(สหราษฎร์พัฒนาคาร) จังหวัดเชียงราย เด็กหญิงชาวอาข่า ที่มีความมุ่งมั่นเรียนให้จบชั้นปริญญา และอยากเห็นเพื่อนๆเด็กบนดอยเหมือนเธอ ได้มีโอกาสเรียนจนจบปริญญา หมีพูเล่าว่า เธอมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลให้อาหารไก่และเก็บผลผลิตไข่ไก่ ในโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และอยากนำไปถ่ายทอดให้เด็กๆบนดอย เพื่อที่เด็กๆบนดอยจะได้มีอาชีพติดตัว เพื่อช่วยเหลือครอบครัวตนเองได้

เช่นเดียวกับ ด.ญ.ยุง จุงสาม นร.ชั้น ม. 1 โรงเรียนบ้านดู่(สหราษฎร์พัฒนาคาร) ชาวไทใหญ่ ที่บอกว่า เธอมีโอกาสได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน หากเรียนจบระดับมัธยมศึกษาไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ก็จะนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพในอนาคต

นายประสงค์ สิทธิวงค์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านดู่(สหราษฎร์พัฒนาคาร) เล่าว่า ได้เข้ารับการอบรมเลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ปี 2551 สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปขยายเครือข่ายให้กับชุมชนและโรงเรียนต่างๆ รวมถึงนำความรู้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับประเทศมาแล้วหลายครั้ง ในส่วนของโรงเรียนเอง มีการจัดฐานการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของโรงเรียนและชุมชน ถือได้ว่าโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นโครงการที่ดีมาก นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว ยังสามารถนำผลผลิตไข่ไก่สนับสนุนโครงการอาหารกลางวันได้อย่างยั่งยืน

ซีพีเอฟร่วมเติมประสบการณ์ เยาวชนไทยวิถีใหม่ แหล่งเรียนรู้ ในโครงการ"เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน"

นายอุเทน วนาประเสริฐยิ่ง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านแม่ระเมิง จังหวัดตาก โรงเรียนอยู่ในถิ่นทุรกันดาร อยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยาง 70 กิโลเมตร ไม่มีไฟฟ้าใช้ ใช้โซลาร์เซลล์และเครื่องปั่นใจ ใช้ประปาภูเขา มีจำนวนนักเรียน 957 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6

อุเทน สมัครใจช่วยคุณครูอยู่ดูแลไก่ไข่อยู่ที่โรงเรียน ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด 19 เพราะบ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนเกือบ 10 กิโลเมตร เล่าว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ตั้งแต่ปี 2559 ปีนี้โรงเรียนเราเลี้ยงไก่ไข่เป็นรุ่นที่ 4 แล้ว และขยายจำนวนจาก 250 ตัว เป็น 400 ตัว โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักเรียน ที่ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ การดูแลไก่อย่างถูกวิธี สามารถนำความรู้จากการเลี้ยงไก่ไปประกอบอาชีพได้ รวมไปถึงการวางแผนบริหารจัดการผลผลิตจากไข่ไก่ เช่น ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด 19 ผลผลิตไข่ไก่ของโรงเรียนมีผลผลิตเหลือจำนวนมาก จากที่เก็บผลผลิตไข่ไก่ได้วันละ 300 ฟอง เพราะไม่ต้องส่งเข้าโครงการอาหารกลางวัน คุณครูก็จะแจ้งทางไลน์ให้ผู้ปกครองทราบ หรือแจ้งผ่านทางชุมชน สามารถซื้อไข่ไก่จากทางโรงเรียนได้ในราคาแผง 30 ฟองอยู่ที่ 90 บาท อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์โควิด 19 เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทางผมและเพื่อนๆจะใช้วิธีออกไปส่งไข่ไก่ให้กับผู้ที่ต้องการซื้อถึงที่บ้าน

ซีพีเอฟร่วมเติมประสบการณ์ เยาวชนไทยวิถีใหม่ แหล่งเรียนรู้ ในโครงการ"เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน"
ด้าน นายสุบรรณ์ แหล่ป้อง รักษาการผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านทุ่งมน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โรงเรียนฯ รับมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนจากซีพีเอฟ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ปัจจุบัน ทางโรงเรียนฯได้นำเทคโนโลยีมาต่อยอดโครงการนี้ในเรื่องของการบันทึกข้อมูล ทั้งยังใช้เทคโนโลยีเพื่อการรายงานข้อมูลของโรงเรียนผ่านแอปพลิเคชัน Google Form เช่น จำนวนไก่ อาหารสัตว์ ผลผลิตไข่ไก่ ไก่ปลด รายงานการเลี้ยง และรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่ เป็นต้น นอกจากเด็กๆจะมีประสบการณ์การเลี้ยงไก่ไข่แล้ว ยังทำให้ได้เรียนรู้การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงด้วย ขณะเดียวกันผลผลิตจากไข่ไก่ที่เหลือจากการส่งเข้าโครงการอาหารกลางวัน โรงเรียนนำไปจำหน่ายให้ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนได้บริโภคไข่ไก่ที่สด สะอาด ในราคาย่อมเยา โดยในช่วงเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่รับมอบโครงการฯ โรงเรียนมีรายได้จากผลผลิตไข่ไก่เกือบ 2 หมื่น ซึ่งจะใช้เป็นทุนในการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ซีพีเอฟร่วมเติมประสบการณ์ เยาวชนไทยวิถีใหม่ แหล่งเรียนรู้ ในโครงการ"เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน"โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นความร่วมมือของซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับพันธมิตร อาทิ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (เจซีซี) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศเข้าถึงการบริโภคไข่ไก่อย่างเพียงพอ เพื่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสติปัญญาอย่างสมวัย  ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยที่สามารถนำประสบการณ์การเรียนรู้เลี้ยงไก่ไข่ไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ระบาดในรอบแรก เมื่อช่วงต้นปี 2563 และการระบาดรอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ผลผลิตไข่ไก่ของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ยังเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยของชุมชนอีกด้วย
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated