เรื่องโดย : เด็กเกษตรโว้ย
เมื่อเย็นวานนี้ (24 มกราคม 2564) “เกษตรก้าวไกล” ได้สัมภาษณ์สดผ่านระบบออนไลน์ ว่าที่ ร.ต.ธเนศ แซวหลี เจ้าของ Rainbow Rice บ้านซาง ผู้พลิกผืนนาของพ่อแม่มาปลูกข้าวในรูปแบบใหม่ นั่นก็คือการปลูกข้าวที่เรียกว่า ข้าวสรรพสี (Rainbow Rice) หรือข้าวหลากสี ซึ่งในแปลงนาของเขาตั้งอยู่ที่ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
“แรงบันดาลใจของผมเริ่มแรกมาจากสมัยทำงานอยู่ที่ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผมดูแลในส่วนการปลูกผักทั่วไปแล้วมีแนวความคิดว่าทำอย่างไรให้มันน่าสนใจ มีอะไรใหม่ๆ นอกจากจะปลูกผักให้เป็นสีสันได้แล้ว เนื่องจากเราก็ทราบดีแล้วว่าผักผลไม้ที่มีสีก็จะมีคุณประโยชน์มากมาย เช่น ผักผลไม้สีม่วงก็จะมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ยับยั้งเซลล์มะเร็ง พวกนี้เป็นสารโภชนาเภสัช ผมก็เลยจะมาปลูกข้าวดีไหม ข้าวส่วนมากที่คุ้นเคยก็จะเป็นใบสีเขียว จะมีก็ข้าวก่ำทางภาคเหนือที่มีสีแดงอมม่วงอยู่บ้าง แล้ววันหนึ่งผมก็ได้เจอเรื่อราวของข้าวสรรพสีของท่าน ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งได้ศึกษาก็พบว่าข้าวสรรพสีชอบภูมิอากาศที่มีความหนาวเย็น อาจารย์บอกว่าความหนาวเย็นของอากาศแบบภาคเหนือจะทำให้ข้าวสรรพสีมีสีสดนานกว่าภาคกลางและก็ได้ให้ความอนุเคราะห์เมล็ดพันธุ์ข้าวมาปลูกนะครับ”
วัตถุประสงค์ในการปลูกข้าวสรรพสี อย่างแรกเลยก็เพื่อปลูกไว้กิน ต่อมาเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชน และเพื่อนำข้าวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตางๆ “นี่คือที่มาที่ไปของการปลูกข้าวสรรพสีของผมครับ อ๋ออีกอย่างหนึ่งผมเห็นพ่อกับแม่ปลูกข้าวพันธุ์เดียวอยู่ตลอดปี ปีหนึ่งๆก็ปลูก 2 รอบ แล้วก็เห็นปัญหาหลายๆอย่าง เช่น ด้านราคาข้าวตกต่ำ ทำนากี่ปีก็ยังยากจน นี่เป็นโจทย์ที่ทำให้ต้องคิดว่าจะสร้างความแตกต่างได้อย่างไร จึงคิดว่าถ้าจะปลูกข้าวก็ต้องแก้ปัญหานี้ได้ด้วย สุดท้ายลงตัวที่การปลูกข้าวสรรพสีครับ”
“ตอนแรกขอคุณแม่มาปลูกก่อน 1 งาน ปลูกข้าวใบสีม่วงให้ดูก็เริ่มเห็นประโยชน์ พอเสร็จจากนั้นก็ขอ 2 งาน เพื่อมาปลูกเป็นข้าวสรรพสีอย่างที่เห็น ปัจจุบันพ่อแม่มาเห็นก็ชอบใจ หวงแหนที่นาและพันธุ์ข้าวมาเฝ้าเช้าเย็นจากเดิมที่ไม่เห็นด้วย และยังเอาของมาขายด้วยมีรายได้มีคนมาถ่ายรูปมาเที่ยว ซึ่งอนาคตผมจะพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนนะครับ” คุณเมต บอกกล่าวถึงจุดเริ่มต้นกว่าจะเห็นภาพอย่างวันนี้
ข้าวที่ปลูกมีทั้งหมด 7 สี 7 สายพันธุ์ ซึ่งจะมีสายพันธุ์ใดบ้าง ขอให้ชมจากคลิปสัมภาษณ์สดประกอบ จะบอกไว้อย่างละเอียด คลิกไปที่ https://youtu.be/GkWn1R2KrjA
(ในจำนวนนี้มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ที่เป็นงานวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนในปี พ.ศ. 2553 เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์พ่อ “ข้าวเจ้าหอมนิลพันธุ์กลายใบขาว” กับพันธุ์แม่ “ข้าวก่ำหอมนิล” ทำให้ได้ข้าวสรรพสีจำนวน 5 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ใบสีชมพูทับทิมต้นสูง ใบสีชมพูทับทิมต้นเตี้ย ใบสีชมพูแถบเขียวและขาวต้นสูง ใบสีชมพูแถบเขียวและขาวต้นเตี้ย และใบสีขาว)
ในการปลูกข้าวสรรพสี คุณเมตบอกว่าดูแลจัดการไม่ยาก โดยตนเองได้มาปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำนาแบบที่พ่อแม่เคยทำ ซึ่งพึ่งพาสารเคมีเป็นหลัก แต่ตนได้ทำนากึ่งอินทรีย์ ใช้สารพด.ชนิดต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน จะไม่เผาตอซัง แต่จะไถกลบเพื่อย่อยสลายทำเป็นปุ๋ย รวมไปถึงการใช้ปุ๋ย และการปราบแมลงศัตรูพืชก็พึ่งพาสารพด.กรมพัฒนาที่ดินทั้งหมด และจากการใช้วิธีทำนาแบบนี้สามารถลดต้นทุนการทำนาได้ถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการทำนาแบบดั้งเดิมของพ่อแม่
“สิ่งสำคัญที่สุด พ่อแม่ยิ้มออก จากเดิมที่ไม่เคยมีใครมาเที่ยวชมแปลงนาของเราเลย คือหลังจากที่นำภาพไปลงผ่านสื่อเฟสบุ๊คคนก็ถามมาตลอด ถามเรื่องท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก ต่อมาก็เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวจะขอซื้อ ซึ่งอยากให้ติดต่อศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวโดยตรง ตอนนี้ผมถือว่าทำสำเร็จ 60% แล้ว อีก 40% จะเป็นเรื่องของการพัฒนาต่อยอด เช่น นำใบข้าวหลากสีมาจักสานร่วมกับวัสดุอื่นๆ นำใบมาทำชาใบข้าว ฯลฯ ผมมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าจากการทำนาได้อีกเยอะ โดยเฉพาะเรื่องท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงครับ” คุณเมต กล่าวด้วยความมั่นใจ
ใครอยากไปเที่ยวแปลงนาข้าว 7 สี คลิกไปที่เฟสบุ๊ค “Rainbow Rice บ้านซาง” หรือโทร. 094 749 5757 หรือพิกัดเส้นทาง https://maps.app.goo.gl/dGLb7KuRN9uoFvoP8) แต่อย่าลืมคลิกชมคลิปตามลิงก์ข้างต้นเพื่อจะเป็นพื้นฐานในการไปชม จะได้สอบถามเพิ่มในประเด็นที่ท่านต้องการทราบ ทางเกษตรก้าวไกลแอบมีความหวังลึกๆว่า “ถ้าเกษตรกรอยู่รอดประเทศไทยอยู่ได้” และอย่าลืมเป็นอันขาดว่า “โลกยุคใหม่ชนบทคือความทันสมัย” ขอคนไทยทุกคนช่วยกันครับ