ภาพ/ข่าว. : สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี
วันที่ 17 ก.พ. 64 เวลา 10.00 น. นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ประธานในพิธี พร้อมด้วย นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดกิจกรรม Kick off ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริ ของพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 โดยมี นายโรม โสนาค ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน กล่าวรายงาน มีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด/อำเภอ ผู้อำนวยการกลุ่มงานฯ พัฒนาการอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน บริษัทประชารัฐรักสามัคคีเพชรบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ “โคก หนอง นา โมเดล” และแขกผู้มีเกียรติ ตลอดจนภาคีเครือข่ายการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ จำนวนกว่า 100 คน ซึ่งกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย 1. กิจกรรม “ผู้นำต้องทำก่อน” โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นำทีมหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด/อำเภอ ปลูกผักในแปลงพื้นที่ CLM เพื่อเป็นตัวอย่าง 2. กิจกรรม “พืชผักบ้านฉัน ขยายพันธุ์บ้านเธอ” เพื่อแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์/ต้นกล้า ส่งเสริมให้มีการแบ่งปันและต่อยอดการปลูกผักสวนครัว ทั้งนี้ กิจกรรม Kick Off ในวันนี้ดำเนินการ ณ สวนเพชรเกาะอินทรีย์วิถีไทย : พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระดับตำบล (CLM) ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ชาวบ้านได้มีพืชผักสวนครัวที่ปลอดภัย อย่างน้อยครัวเรือนละ 10 ชนิด เพื่อเป็นแหล่งอาหารไว้บริโภค และแบ่งปันแก่ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ได้รณรงค์ให้พี่น้องประชาชน ได้ร่วมกันลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ในภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ชะลอตัวในขณะนี้ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นและเสริมสร้างแหล่งอาหารในแต่ละครัวเรือน รวมถึง สร้างความสามัคคีในชุมชน ขยายผลให้มีการปลูกอย่างต่อเนื่องจนเป็นวัฒนธรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
จังหวัดเพชรบุรี ได้รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในวงกว้าง เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในหลายภาคส่วน รวมถึงสวนเพชรเกาะอินทรีย์วิถีไทย ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระดับตำบล (CLM)