ปัจจุบันประชาชนหลากหลายอาชีพสนใจเรื่องของการทำเกษตรมากขึ้น ทำให้เกษตรกรที่เกิดขึ้นทั้งรายใหม่และรายเก่านั้น มีความใส่ใจในเรื่องของการควบคุมคุณภาพในการผลิตอยู่เสมอ เพราะการทำเกษตรไม่เพียงแต่ต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเพียงอย่างเดียว ความใส่ใจโรคและแมลงต่างๆ นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะผู้บริโภคเริ่มใส่ใจในผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น จึงมุ่งเน้นเลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยไม่มีสารพิษตกค้าง ส่งผลให้เกษตรกรหันมาใส่ใจในการทำเกษตรให้ปลอดภัยตามความต้องการของตลาด เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภค และผลดีที่ตามมาคือสุขภาพของเกษตรกรเอง

กรมส่งเสริมการเกษตร เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการทำเกษตรที่ปลอดภัย และเป็นหน่วยงานหลักที่ได้มีแผนรับมือในเรื่องของการให้องค์ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการใช้สารชีวภัณฑ์ และการกำจัด โรคแมลงศัตรูพืชต่างๆ ด้วยวิธีธรรมชาติ จึงได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช เพื่อเป็นอีกหนึ่งสถานที่ในการให้บริการเกษตรกรเข้ามาขอคำปรึกษาปัญหาด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้ความรู้เรื่องโรคพืชและแมลงศัตรูพืช และการสนับสนุนสารชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรได้นำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง โดยมีศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชหลัก 9 แห่ง ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ชัยนาท สุพรรณบุรี ชลบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ รับผิดชอบดูแลพื้นที่เขตจังหวัดใกล้เคียง ในการให้บริการเกษตรกรตามบทบาทภารกิจ ดังนี้ 1) ศึกษาทดสอบการใช้เทคโนโลยีควบคุมศัตรูพืชในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 2) ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีควบคุมศัตรูพืช การอนุรักษ์และผลิตขยายชีวินทรีย์ที่มีประโยชน์ รวมทั้งพืชที่มีคุณสมบัติควบคุมศัตรูพืช 3) ผลิตขยายชีวินทรีย์และสารธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช เพื่อใช้ในงานส่งเสริมการเกษตร 4) ให้บริการตรวจวิเคราะห์วินิจฉัยศัตรูพืช พยากรณ์เตือนการระบาดและป้องกันศัตรูพืช และ 5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ศูนย์ฯ อารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดคลินิกรับปรึกษาปัญหาโรค-แมลงศัตรูพืช

ศูนย์ส่งเสริมฯ อารักขาพืช จ.สุพรรณบุรี บริการประชาชนแบบครบวงวจร

คุณสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ข้อมูลว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีนโยบายที่จะเปิดแต่ละศูนย์ทางด้านอารักขาพืชให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ใช้บริการ ซึ่งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ในประเทศไทยมีด้วยกันทั้งหมดอยู่ 9 ศูนย์ ซึ่งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็น 1 ใน 9 ศูนย์หลัก ดูแลควบคุมอยู่ทั้งหมด 8 จังหวัดภาคตะวันตก ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยยังมีการให้บริการในเรื่องของคลินิกพืชแก่พี่น้องเกษตรกรอีกด้วย

คุณสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี
คุณสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี

โดยสมัยก่อนศูนย์แห่งนี้มีการให้บริการเกษตรกรเพียง 1 วัน ใน 1 สัปดาห์เท่านั้น เมื่อเกษตรกรเริ่มมีปัญหาในเรื่องของโรคพืชมากขึ้นจึงทำให้เกษตรกรมีความต้องการขอความช่วยเหลือจากศูนย์แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีนโยบายให้เปิดคลินิกพืชเป็นประจำทุกวันในวันและเวลาราชการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรในการให้คำปรึกษาปัญหาและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

“จากปัญหาและสถานการณ์ที่พี่น้องเกษตรกรเจอนั้น เราได้ตระหนักและใส่ใจว่าเรื่องของโรคและแมลงศัตรูพืช เกษตรกรจะรอมาพบเราเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาสัปดาห์ละ 1 วันไม่ได้แล้ว เราจึงได้เปิดทุกวัน ซึ่งในแต่ละวันได้มีการจัดเวรรับผิดชอบหรือที่เราเรียกว่า “หมอพืช” โดยในแต่ละวันเจ้าหน้าที่จะเข้ามาพบปะเกษตรกรที่ประสบปัญหาต่างๆ เพื่อคอยให้คำปรึกษาและแนะนำการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชของเกษตรกร เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที” คุณสมคิด กล่าว

เกษตรกรเข้ารับคำปรึกษา
เกษตรกรเข้ารับคำปรึกษา
โรค-แมลงศัตรูพืช “แก้ตรงจุด” ช่วยรับมือก่อนผลผลิตเสียหาย

สำหรับคลินิกพืชที่ทางศูนย์ตั้งขึ้นเพื่อให้คำปรึกษากับเกษตรกรนั้น คุณสมคิด เล่าว่า ในการให้คำปรึกษาเกษตรกรในแต่ละวันจะเน้นย้ำอยู่เสมอ โดยให้เกษตรกรนำตัวอย่างของโรคและแมลงศัตรูพืชที่พบหรือกำลังเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรในแปลง นำตัวอย่างติดตัวมายังคลินิกพืชทุกครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมอพืช” ได้ช่วยทำการวินิจฉัยหรือวิเคราะห์อาการแต่ละชนิด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะประเมินสถานการณ์ และเตรียมสารชีวภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนตัวห้ำตัวเบียน เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้กำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชในเบื้องต้น

แต่สำหรับแปลงเกษตรกรที่มีการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืชอย่างหนัก และไม่สามารถใช้สารชีวภัณฑ์ด้วยวิธีทางธรรมชาติในการป้องกันเบื้องต้นได้นั้น จะแนะนำการใช้สารเคมีที่ถูกวิธีให้กำจัดก่อน 1-3 ครั้ง และเมื่อปัญหาโรคและแมลงที่เกิดขึ้นลดระดับความรุนแรงลง จึงจะให้เกษตรกรมารับสารชีวภัณฑ์และตัวห้ำตัวเบียนไปใช้เพื่อป้องกันและกำจัดในขั้นตอนต่อไป

ศูนย์ฯ อารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดคลินิกรับปรึกษาปัญหาโรค-แมลงศัตรูพืช“ซึ่งการใช้บริการของเกษตรกรนั้น ในเบื้องต้นถ้ายังไม่ได้เดินทางมาใช้บริการที่ศูนย์ในทันที เกษตรกรจะเข้ารับคำปรึกษาจากสำนักงานเกษตรอำเภอของตนเองในพื้นที่ก่อน เมื่อมีการระบาดหนักและไม่สามารถรับมือได้ โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างมาก ทางศูนย์จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปในทันที เพื่อไปวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ โดยโรคและแมลงที่เกษตรกรพบส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องของโรคและแมลงที่เกิดขึ้นกับศัตรูข้าวเป็นหลัก รองลงมาก็จะเป็นไม้ผลและพืชไร่” คุณสมคิด กล่าว

ศูนย์ฯ อารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดคลินิกรับปรึกษาปัญหาโรค-แมลงศัตรูพืช

โดยสารชีวภัณฑ์ที่สนับสนุนให้กับเกษตรกรนั้น แต่ละชนิดมีประสิทธิภาพและป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น เชื้อไตรโคเดอร์มา ช่วยลดปัญหาโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เชื้อราบิวเวอเรีย ช่วยกำจัดแมลงปากดูดต่างๆ เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว และไร สารสกัดจากสะเดาช่วยกำจัดในเรื่องของหนอนศัตรูพืชต่างๆ เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่เข้ามาปรึกษายังคลินิกพืชแห่งนี้ จึงมั่นใจได้ว่าปัญหาที่ประสบภายในแปลงเกษตรของเกษตรกร จะได้รับการแก้ไขและมีสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนนำไปปรับใช้ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชได้อย่างตรงจุด

หลังเข้ารับการปรึกษาปัญหาเจ้าหน้าที่ เกษตรกรมีองค์ความรู้และภูมิคุ้มกัน

จากการติดตามผลเกษตรกรที่เข้ามารับคำปรึกษาภายในคลินิกพืชนั้น คุณสมคิด บอกว่า เกษตรกรมีองค์ความรู้และมีระบบการจัดการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชมากขึ้น โดยเมื่อเกิดปัญหาขึ้นภายในแปลงพืชที่ปลูก เกษตรกรจะมีภูมิคุ้มกันในเรื่องของการเลือกใช้ขั้นตอนการกำจัดอย่างตรงจุด โดยไม่ใช้การกำจัดที่พึ่งพาแต่สารเคมีแบบสมัยก่อนที่เป็นมา แต่จะลำดับความสำคัญของสาเหตุของโรคและแมลงศัตรูพืชที่พบว่าอยู่ในระดับไหน และควรเลือกใช้สารชีวภัณฑ์แบบไหนเพื่อควบคุมหรือป้องกันไม่ให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย

ศูนย์ฯ อารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดคลินิกรับปรึกษาปัญหาโรค-แมลงศัตรูพืช

โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดจากการรู้วิธีการป้องกันโรคพืชได้อย่างถูกวิธี ยังช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตได้ดีอีกด้วย เพราะองค์ความรู้ที่เกษตรกรมีทำให้สามารถลำดับสาเหตุได้ และมีการป้องกันด้วยวิธีธรรมชาติมากขึ้น เมื่อไม่มีการใช้สารเคมีที่มากเกินความจำเป็นจึงทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง สามารถจำหน่ายผลผลิตได้กำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

“จากที่เราเฝ้าติดตามมา เกษตรกรต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หลังจากเข้ามาปรึกษาคลินิกพืช การใช้สารเคมีลดลง บางรายแทบจะไม่กลับไปใช้สารเคมีเลย จึงทำให้มีผลกำไรมากขึ้น เมื่อมีเกษตรกรที่เป็นต้นแบบความสำเร็จ ต่อมาเขาก็รวมกลุ่มกันมากขึ้น เพื่อเรียนรู้การกำจัดโรคและแมลงศัตรูด้วยวิธีทางธรรมชาติ จากนั้นทางศูนย์กจะสนับสนุนสารชีวภัณฑ์ต่างๆ ตลอดไปจนถึงตัวห้ำตัวเบียน ในเบื้องต้นจากนั้นเกษตรกรเขาก็จะไปขยายใช้กันเองภายในกลุ่ม และสร้างเป็นเครือข่ายที่แข็งแรงต่อไป” คุณสมคิดกล่าว

ซึ่งจากสถิติเกษตรกรที่เข้าใช้บริการของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จากข้อมูลการลงทะเบียนที่จดบันทึกไว้เมื่อปี 2563 มีเกษตรกรเดินทางเข้ามาใช้บริการคลินิกพืชที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ประมาณ 1,000 รายต่อปี และทางศูนย์ฯได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์และตัวห้ำตัวเบียนให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างต่องเนื่องด้วยเช่นกัน

คลินิกพืช แหล่งรวมความรู้ เกษตรกรมั่นใจ มีประโยชน์ทุกด้าน

คุณธวัช ปั้นงาม เกษตรกรปลูกพืชผักสวนครัวจังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า สมัยก่อนที่ยังไม่ได้เข้ามารับคำปรึกษาจากคลินิกพืช จะเน้นการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยสารเคมีอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อตัดสินใจเข้ามาภายในศูนย์แห่งนี้โดยนำตัวอย่างของโรคและแมลงศัตรูพืชที่เจอภายในแปลงเข้ามาให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ จึงทำให้รู้ว่าอาการที่พบเห็นเกิดจากสาเหตุใด และควรใช้สารชีวภัณฑ์ชนิดไหนมาป้องกันและกำจัด จึงทำให้ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีอย่างเช่นสมัยก่อน และที่เห็นผลอย่างชัดเจน คือ ในเรื่องของสุขภาพของตัวเขาเองที่ไม่ต้องสัมผัสสารเคมีที่ใช้ จึงทำให้มีสุขภาพที่ดีและมีภูมิคุ้มกันในการทำเกษตรแบบมีระบบแบบโดยไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายและเปลืองต้นทุนการผลิต

คุณธวัช ปั้นงาม เกษตรกรปลูกพืชผักสวนครัวจังหวัดสุพรรณบุรี
คุณธวัช ปั้นงาม เกษตรกรปลูกพืชผักสวนครัวจังหวัดสุพรรณบุรี

“ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชแห่งนี้ ผมมั่นใจครับเมื่อผมเข้ามารับคำปรึกษา ทำให้ผมมีองค์ความรู้ และที่สำคัญเจ้าหน้าที่มีความชำนาญ ให้ข้อมูลความรู้แบบตรงสาเหตุ เมื่อผมนำสารชีวภัณฑ์กลับไปใช้แล้ว ก็เห็นผลอย่างที่เจ้าหน้าที่แนะนำมา เพราะเรามีขั้นตอนการใช้ที่เป็นระบบและถูกวิธี ทำให้ผมเริ่มหันมาใส่ใจที่จะใช้การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ด้วยชีววิธีมากขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค และตัวผมเองที่ไม่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย จึงนับว่าคลินิกพืชเป็นสถานที่ให้บริการที่เกิดประโยชน์กับเกษตรกร และแนะนำสาเหตุโรคพืชได้อย่างตรงจุด และยั่งยืนในการทำเกษตรต่อไป” คุณธวัช กล่าว

สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเข้ารับคำปรึกษาที่คลินิกพืช สามารถนำตัวอย่างปัญหาของโรคและแมลงศัตรูพืช เข้ามาขอคำชี้แนะได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 2 หมู่ที่ 12 ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์ (035) 440927

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated