พช. เดินหน้ายุทธศาสตร์เงินทุนชุมชน จัดเสวนางานครบรอบ 47 ปี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เน้นยึดมั่นหลักคุณธรรม 5 ประการ สร้างเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นำคณะข้าราชการเข้าร่วมกิจกรรม “ครบรอบ 47 ปี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต สร้างเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง” พร้อมด้วย นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ศ.ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรม ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวเขมฤทัย อัศวนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ ธ.ไทยเครดิตฯ นายสุพจน์ อาวาส ผู้ทรงคุณวุฒิ นายบุญศรี จันทร์ชัย ประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง จ.ปราจีนบุรี นายสมคิด อเนกวศินชัย ประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านป่าแดง จ.ชลบุรี นายบรรจง พรมวิเศษ รองประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง จ.ปราจีนบุรี และพิธีกรดำเนินรายการ นางสาวกัญญ์ณาณัฏฐ์ ภาธรสืบนุกูล กรมประชาสัมพันธ์ และนางสาวจิตรานุช เกียรติอดิศร นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รวมถึงแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน
นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 47 ปี ของวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 ท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดกิจกรรม “ครบรอบ 47 ปี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต สร้างเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ด้านการส่งเสริมการออม รู้จักการประหยัด และใช้จ่ายอย่างเหมาะสม สะสมเป็นทุนและหลักประกันในการลงทุน อีกทั้งยังเป็นภูมิคุ้มกันในการดูแลคุณภาพชีวิต เป็นการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และ ต่อยอด หลักคิดในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนส่งเสริมความรู้และสร้างวินัยทางการเงิน การจัดทำบัญชีครัวเรือน รวมถึงเผยแพร่ผลผลิตและผลสำเร็จที่มาจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยยึดหลักคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคนในชุมชนให้มีการดำเนินชีวิต และเรียนรู้การทำงานร่วมกันในรูปแบบ“กระบวนการกลุ่ม” และใช้ “สัจจะออมทรัพย์” เป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยการออมของสมาชิก เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน ให้สมาชิกได้กู้ยืมเงิน ทำกิจกรรมต่างๆ สร้างงาน สร้างอาชีพแก่สมาชิก เช่น ปั้มน้ำมัน ทำโรงสี ร้านค้าชุมชน ทำให้สังคมเกิดการพัฒนา เป็นแกนกลางในการเกื้อกูลในระดับสังคม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมไปถึงช่วยกันแก้ไขปัญหาความยากจน หนี้สินนอกระบบได้ ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ เป็นกลุ่มของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จากเงินออมของประชาชน ด้วยการบริหารจัดการเงินร่วมกัน ทำให้งานเสวนาในครั้งนี้ สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จากการทำงานของกรมการพัฒนาชุมชนจากอดีตถึงปัจจุบัน เราก็ขับเคลื่อนช่วยเหลือปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกลุ่ม ก็ได้สร้างความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง มาร่วมการบริหารจัดการร่วมกัน ทำให้เราเห็นความสำคัญของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ที่ทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถลดความเหลี่ยมล้ำทางรายได้แก่สังคม
ในการนี้ ได้มีการจัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ 47 ปี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จากปัจจุบันสู่อนาคตลดความเหลื่ยมล้ำให้ประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ดังนี้ 1.นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน 2.นายสุพจน์ อาวาส คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 3.นายบุญศรี จันทร์ชัย ประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ้านขอนขว้าง จังหวัดปราจีนบุรี 4.นายสมคิด อเนกวศินชัย ประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ้านป่าแดง จังหวัดชลบุรี โดยมีนางสาวกัญญ์ณาณัฏฐ์ ภาธรสืบนุกูล เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากนั้นในช่วงบ่าย ได้มีเวทีถอดบทเรียน ในหัวข้อ ความสำเร็จของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ดังนี้ 1. ศ.ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน 2.นายศิวโรฒ จิตนิยม ประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดกาญจนบุรี 3.นางทัศนา เจริญผล ประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านวังสรรพรส จังหวัดจันทบุรี และนางสาวจิตรานุช เกียรติอดิศร นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดย ศ.ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มุ่งเน้นให้เกิดการออม เพื่อใช้ในการผลิตเท่านั้น เพราะเราต้องจำเป็นต้องมีเงินในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน จึงเกิดแนวคิดการรวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา จากการรวมกลุ่มของสมาชิก ซึ่งมีฐานะทางการเงินที่แตกต่างกัน ด้วยแนวทาง ใครมีเงินเท่าไหร่ก็สามารถเป็นสมาชิกได้ โดยการออมอย่างเดียวทำให้กลุ่มไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างทั่วถึง จึงสามารถทำกู้ได้ โดยให้ตัวเองและเพื่อนสมาชิกเป็นผู้ค้ำประกัน ด้วยดอกเบี้ยราคาที่ต่ำเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภายใต้คุณธรรม 5 ประการในการอยู่ร่วมกันของสมาชิก เพื่อการพัฒนาชุมชน โดยการสอนเขาให้หาเงิน เก็บเงิน และต่อยอดเงิน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของชุมชนให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังมีได้เดินเยี่ยมชม การจัดบูธนิทรรศการของสถาบันการเงิน ได้แก่ การสร้างวินัยทางการเงินโดยธนาคารออมสิน การส่งเสริมการออมกองทุนต้นไม้โดย ธนาคาร ธ.ก.ส. และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน โดยธนาคารไทยเครดิต รวมถึง การจัดบูธนิทรรศการของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ้านขอนขว้าง จังหวัดปราจีนบุรีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลหนองสาหร่ายจังหวัดกาญจนบุรี และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ้านป่าแดง จังหวัดชลบุรี อีกด้วย
ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 บุคคลผู้ริเริ่มคือ ศ.ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรก จำนวน 2 แห่ง คือ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517 ต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกำหนดให้วันที่ 6 – 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์การประหยัดและการออมงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นงานสำคัญที่กรมการพัฒนาชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนร่วมกันออมเงินและบริหารจัดการในรูปคณะกรรมการด้วยหลักธรรมาภิบาล เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน
ซึ่งในปัจจุบันมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน 19,646 กลุ่ม สมาชิก 2,975,567 คน มีเงินสัจจะสะสม 30,532,053,717.25 บาท สมาชิกกลุ่มฯ ได้รับประโยชน์ในการกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องอาศัย แหล่งทุนภายนอก จำนวน 1,580,348 คน จำนวนเงิน 23,360,738,679.92 บาท และมีผลประกอบการ 37 ล้าน นอกจากนี้ กลุ่มสามารถลงทุนต่อยอด เป็นกิจกรรมเครือข่ายหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการเพิ่มเงินทุนและสร้างกิจกรรมสนับสนุนการประกอบอาชีพของสมาชิก และได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และได้นำแบบผ้าลายขอพระราชทานตามพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาทอเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิก รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด 693 แห่ง โรงสีชุมชน 106 ยุ้งฉาง 91 แห่ง ปั๊มน้ำมัน 73 แห่ง ลานตากผลผลิต 4 แห่ง เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่เข้มแข็ง ยังเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนศูนย์จัดการกองทุนชุมชน ประสานงานและบูรณาการกองทุนต่าง ๆ ร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน นำไปสู่การลดหนี้และปลดหนี้ได้อย่างยั่งยืน