ปัญหาของเกษตรกรในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการเพาะปลูก แต่ปัญหาหลัก ๆ จะอยู่ที่ช่องทางการตลาด ต้องพึ่งพาการขายแบบช่องทางเดิม ๆ ที่มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อและไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มเล็งเห็นถึงการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น เพราะช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ซึ่งในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำการค้าขายแบบตลาดปกติหรือตลาดออฟไลน์ได้ เพราะทุกคนกังวลและเกรงว่าจะเกิดความเสี่ยงเมื่อต้องไปอยู่ในพื้นที่แออัด เป็นการสัมผัสกับเชื้อโควิด-19 จึงส่งผลให้การค้าขายสินค้าทางการเกษตรที่ผ่านมามีการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น เกษตรกรมีการพัฒนาสินค้าทางการเกษตรให้ได้มาตรฐาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดตามไปด้วย

พัฒนาสินค้าเกษตรสู่ออนไลน์ สร้างรายได้ที่มั่นคง
คุณสุพัฒน์ อ่อนคง

คุณสุพัฒน์ อ่อนคง หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี ให้ข้อมูลว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าไม่สามารถเดินมาหาตลาดออฟไลน์ได้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดร่วมกับจังหวัดราชบุรี จึงคิดจัดทำตลาดออนไลน์หรือแอปพลิเคชันภายใต้ชื่อ “เกษตรโมบายราชบุรี” เพื่อให้ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ได้ โดยพี่น้องเกษตรกรต้องเตรียมสินค้าให้ได้มาตรฐานพร้อมที่จะจัดส่งไปถึงมือผู้บริโภค

พัฒนาสินค้าเกษตรสู่ออนไลน์ สร้างรายได้ที่มั่นคง“กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีนโยบายตลาดนำการผลิต โดยสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด มีการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ และเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน GAP เมื่อมีการส่งเสริมอย่างมีคุณภาพแล้ว เกษตรกรก็มักจะมีคำถามว่า จะให้ไปขายที่ไหน ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอ จึงได้มีการริเริ่มตั้งตลาดเกษตรกร หรือ Farmer Market ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงและเรียนรู้ช่องทางการตลาดรวมถึงการนำสินค้ามาจำหน่ายด้วยตนเอง และเกษตรกรจะได้พบกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งที่นี่ก็มีตลาดเกษตรกรแบบกางเต็นท์ประจำหน้าสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสถานที่ราชการ และพัฒนาไปสู่ตลาดเกษตรกรถาวร ในรูปแบบศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ก่อสร้างอาคารขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของเกษตรกร ก็จะมีประมาณ 50 กว่าร้าน เรียกว่า เปิดตลาดออฟไลน์” คุณสุพัฒน์ กล่าว

พัฒนาสินค้าเกษตรสู่ออนไลน์ สร้างรายได้ที่มั่นคง

จากสินค้าตลาดออฟไลน์ สู่ตลาดออนไลน์เต็มรูปแบบ

ตลาดออฟไลน์ที่มีการนำผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพมาจำหน่ายนั้น คุณสุพัฒน์ บอกว่า เป็นตลาดเกษตรโมบายราชบุรี โดยนำชื่อมาจากตลาดออนไลน์ ซึ่งจังหวัดราชบุรีเรามีแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ”เกษตรโมบาย” ซึ่งเป็นตลาดที่มีสินค้าผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP นำสินค้ามาตรฐานต่าง ๆ มาให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อได้อย่างมั่นใจ พร้อมกันนี้เกษตรกรได้มีการปรับตัว ผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด คือ การตลาดนำการผลิตตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร

“พอเกษตรกรเริ่มจับทางการทำตลาดได้ว่า ลูกค้าหรือกลุ่มผู้บริโภคต้องการอะไร การผลิตสินค้าทางการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต่อมาเมื่อเกษตรกรมีสินค้าที่ได้มาตรฐาน เราในฐานะผู้ดูแล จึงส่งเสริมการทำตลาดให้กับพี่น้องเกษตรกรมากขึ้น เพื่อให้มีการขายหลายช่องทาง ไม่ได้เน้นขายแต่ตลาดออฟไลน์เพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำตลาดออนไลน์ส่งตรงไปถึงมือผู้บริโภค รวมทั้งสร้างเป็นสินค้าคุณภาพส่งขายยังตลาดโมเดิร์นเทรดอีกด้วย จึงทำให้เวลานี้ร้านค้าบางร้านที่มีสินค้าได้มาตรฐาน ก็จะมีปริมาณการสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สามารถขายสินค้าได้ เกิดรายได้หลายช่องทาง” คุณสุพัฒน์ กล่าว

วิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยบ้านหนองหลวง จ.ราชบุรี แหล่งรวบรวมสินค้าออนไลน์ครบวงจร          

คุณนิรัญชรา สุขไข่ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยบ้านหนองหลวง ตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดรราชบุรี ให้ข้อมูลว่า วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เริ่มจากการก่อตั้งมาครั้งแรกมีสมาชิกเพียง 7 คน เท่านั้น ต่อมามีการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม จนปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ที่ 33 คน เนื้อที่ทำการเกษตรอยู่ที่ 100 กว่าไร่ โดยทางกลุ่มได้ผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย เช่น ผัก ผลไม้ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคเป็นหลัก จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในการทำตลาด จึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น โดยปรับจากเดิมที่ทำแต่ตลาดออฟไลน์ มาสร้างแบรนด์สินค้าให้ได้มาตรฐานและเข้าสู่ระบบออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ

พัฒนาสินค้าเกษตรสู่ออนไลน์ สร้างรายได้ที่มั่นคง

“ที่ผ่านมาเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผลผลิตค่อนข้างมีปัญหา คือไม่มีที่ขาย เพราะตลาดปิด ไม่อยากออกไปในพื้นที่เสี่ยง ก็เลยมาปรึกษาหารือกันว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร จึงได้เดินไปหาสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร คุยถึงปัญหา จะให้ช่วยเหลือปัญหาตรงนี้ให้หน่อย ทางเกษตรจังหวัดจึงได้แนะนำและเข้ามาดูแล และได้มอบแอปพลิเคชันชื่อว่าเกษตรโมบาย ให้ทางกลุ่มได้มาใช้และเพิ่มช่องทางการตลาด ตั้งแต่นั้นมาเราก็เรียนรู้มากขึ้น และทำตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กันไป” คุณนิรัญชรา กล่าว

พัฒนาสินค้าเกษตรสู่ออนไลน์ สร้างรายได้ที่มั่นคง

เมื่อมีลูกค้าให้ความสนใจสินค้าทางการเกษตรและสินค้าแปรรูปของกลุ่มมากขึ้น คุณนิรัญชรา บอกว่า จึงได้มีการพัฒนาสินค้าทางการเกษตรอยู่เสมอ และนำสินค้าดีประจำท้องถิ่นมาพัฒนาให้มีคุณภาพ อย่างเช่น ผักสวนครัว ที่เด่นดังในย่านนี้คือ กะหล่ำดอก เนื่องจากกะหล่ำดอกที่นี่มีรสชาติดี หวาน กรอบ และก็ไม่เหนียว ที่สำคัญคือ เป็นอาชีพที่เกษตรกรที่นี่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อความต้องการของลูกค้ามีมากจึงได้พัฒนาการปลูกให้มีหัวใหญ่และได้มาตรฐาน จนประสบผลสำเร็จตามที่ตลาดต้องการ

พัฒนาสินค้าเกษตรสู่ออนไลน์ สร้างรายได้ที่มั่นคง“พอเราทำตลาดออนไลน์เป็น เราไม่ได้ขายแค่ในออนไลน์ แต่สามารถเชื่อมต่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้ ทำให้กลุ่มของเราขายสินค้าได้เยอะ และทุกปัญหาที่เราเจอ เรามีพี่เลี้ยงที่ดีในการดูแล นั่นก็คือกรมส่งเสริมการเกษตร มีปัญหาก็คุยกับทางสำนักงานเกษตรจังหวัดตลอดเวลา ช่วยให้ปัญหาของเราได้รับการแก้ไข้ สรุปมีปัญหาอะไรเราก็จะมีพี่เลี้ยงคอยดูแล ทำให้ปัญหาทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ ช่วยให้การ พัฒนาตนเองของกลุ่มทั้งเรื่องขายออนไลน์มีความทันยุคทันสมัยมากขึ้นตามไปด้วย” คุณนิรัญชรา กล่าว

พัฒนาสินค้าเกษตรสู่ออนไลน์ สร้างรายได้ที่มั่นคง

การพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพช่วยสร้างรายได้จากตลาดออนไลน์เพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง

คุณสุพัฒน์ ได้กล่าวถึงความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยบ้านหนองหลวงว่า การที่กลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้มีการส่งเสริมให้สมาชิกที่นี่ได้เข้ามาเรียนรู้และสามารถทำการตลาดผ่านทางช่องทางออนไลน์อยู่เป็นประจำ จึงทำให้กลุ่มมีการพัฒนาสินค้าทางการเกษตรที่ทันสมัยและตรงตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะปัจจุบันสามารถทำตลาดออนไลน์เชื่อมโยงไปสู่ตลาดออฟไลน์ได้มากขึ้น เช่น ส่งจำหน่ายสินค้าขึ้นห้างโมเดิร์นเทรดที่มีการสั่งสินค้าจากที่นี่ในปริมาณที่มากขึ้นตามไปด้วยพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ออนไลน์ สร้างรายได้ที่มั่นคง

“เมื่อพี่น้องเกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้มาตรฐาน และรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร จึงช่วยให้สินค้าตรงสเปกและขายได้ตลอดทั้งปี เพื่อรักษาศักยภาพในการผลิตให้มั่นคง เพื่อที่จะสามารถต่อรองกับคู่ค้าได้ ดังนั้น การพัฒนาเกษตรกร สินค้า การพัฒนาเรื่องมาตรฐาน และการทำตลาด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่เกษตรกรต้องรู้ ก็จะช่วยให้เกษตรกรไทยยืนได้ด้วยตัวเอง ขายให้เป็น เพื่อเป็นเกษตรกรมืออาชีพ” คุณสุพัฒน์ กล่าว

สำหรับเกษตรกรท่านใด สนใจในเรื่องของการทำตลาดออนไลน์ “เกษตรโมบาย” ต้องการเพิ่มช่องทางการตลาด สามารถติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอได้ทุกอำเภอ หรือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดรราชบุรี หมายเลขโทรศัพท์ (032) 315-023

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated